วันที่ 26 มีนาคม 2557 ที่สถานีรถไฟพิษณุโลก วันนี้ชาวรถไฟพิษณุโลก ร่วมทำบุญเลี้ยงเพลพระและทอดผ้าป่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 117 วันสถาปนากิจการรถไฟไทย เป็นวันที่ชาวรถไฟภาคภูมิใจ วันนี้ในอดีต 26 มีนาคม พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 ทรงเสร็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการใช้รถไฟช่วงแรกระหว่างสถานีรถไฟกรุงเทพฯถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นวันสถาปนากิจการรถไฟไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ย้อนไปเมื่อพ.ศ.2433 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้สร้างทางรถไฟสายแรกในสยามขึ้น โดยเริ่มจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯไปจนถึงเมืองนครราชสีมา เป็นสายแรก ทั้งยังทรงโปรดให้จัดตั้งกรมรถไฟขึ้นในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน
สำหรับสถานีรถไฟพิษณุโลก เราชาวพิษณุโลกได้รู้จักและใช้บริการรถไฟมานานร่วม 100 ปีแล้วเช่นกัน สถานีรถไฟในอดีตจนถึงปัจจุบันที่อยู่กลางเมืองพิษณุโลก ยังคงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราคุ้นเคยกับอาคารสถานีรถไฟพิษณุโลก ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น สวยงาม เราคุ้นเคยกับหัวรถจักรไอน้ำที่ตั้งตระหง่านมานาน หลายคนใช้บริการรถไฟฟรีเดินทางมาทำงานและขายของทุกวัน และอนาคตเราก็ยังคาดหวังถึงการพัฒนารถไฟไทย จะสะดวก รวดเร็ว ยิ่ง ๆ ขึ้น
พ.ศ.2556 เริ่มศึกษา การสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ผลสรุปตามแผนจะมีการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก โดยเลือกที่ตั้งของสถานีรถไฟพิษณุโลกในปัจจุบัน ที่สถานีรถไฟความเร็วสูง พ.ศ.2557 เริ่มศึกษาระยะที่ 2 ต่อเนื่อง พิษณุโลก-เชียงใหม่ และปีเดียวกัน การลงทุนก่อสร้างก็สะดุด แผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลตกไป อนาคตไม่ทราบแน่ชัด รถไฟความเร็วสูงจะมาถึงพิษณุโลกเมื่อไหร่ อย่างไร แต่ก็คาดการณ์ว่า การสร้างรถไฟรางคู่ น่าจะเริ่มดำเนินการมาก่อน เมื่อมีรางคู่ การเดินทางและการขนส่งโดยรถไฟก็จะสะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา มากกว่าเดิม
ปัจจุบัน สถานีรถไฟพิษณุโลก ยังคงมีความผูกพันกับชาวพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง หลายคนเคยใช้บริการ หลายคนมาค้าขายโดยรอบ เราคุ้นเคยกับหัวรถจักรไอน้ำรุ่นเก่า เรายังพบเห็นแท้งน้ำประปาสีดำทะมึนยืนตระหง่านอยู่ วันนี้โอกาสวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟไทย มีเกล็ดประวัติความเป็นมาของสถานีรถไฟพิษณุโลกเท่าที่สืบค้นได้มาฝาก ขอบคุณข้อมูลจากนายฉลวย วิจารัตน์ นายสถานีรถไฟพิษณุโลกคนปัจจุบัน
สถานีรถไฟพิษณุโลก Phitsanulok Railway Station ความสำคัญของเส้นทางรถไฟสายเหนือ และการกำหนดเส้นทางให้ผ่านพื้นที่ในบริเวณมณฑลพิษณุโลกเมื่อ 100 ปีก่อน เนื่องจากรัฐบาลสยาม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 ขณะนั้นกำลังประสบปัญหาทางการเมือง และเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการขยายอิทธิพลของจักรวรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศสในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง โดยอังกฤษและฝรั่งเศสมีความต้องการที่จะแสวงหาเส้นทางคมนาคมไปสู่มณฑลยูนนานในภาคใต้ของจีน โดยเฉพาะอังกฤษ มีโครงการที่จะสร้างทางรถไฟเชื่อต่อระหว่างอินเดียกับจีนตอนใต้ โดยผ่านพม่าและบริเวณภาคเหนือตอนล่างของราชอาณาจักรสยาม ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสยาม ส่งนายแฮร์มัน เกิ๊ธ เจ้ากรมรถไฟ เดินทางไปสำรวจเส้นทางรถไฟสายเหนือด้วยตนเอง และเลือกสร้างเส้นทางรถไฟสายที่ 4 ตัดเส้นทางรถไฟสายเหนือจากปากน้ำโพ ผ่านพิษณุโลก อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน ถึงเชียงใหม่ รวมระยะทาง 450 กิโลเมตร ที่ผ่านมณฑลพิษณุโลก โดยหวังผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจจากรถไฟ
วันที่ 24 มกราคม 2450 ได้เปิดการเดินรถไฟที่สถานีพิษณุโลก ด้วยรัถจักรไอน้ำ ระหว่างกรุงเทพฯถึงพิษณุโลก เพื่อขนส่งผู้โดยสายและข้าวไปขายที่กรุงเทพฯ และมีการตั้งโรงสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารตามเส้นทางรถไฟผ่านจำนวนมาก
พ.ศ.2460 มีการสร้างรถไฟสายเหนือผ่านพิษณุโลกไปยังเมืองพิชัย ถึงจังหวัดลำปาง
พ.ศ.2462 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำหัวรถจักรไอน้ำรุ่น E Class หมายเลข 181 มาใช้งาน ปัจจุบัน หัวรถจักรไอน้ำ ตั้งแสดงอยู่หน้าสถานีรถไฟพิษณุโลก จัดสร้างโดยบริษัท North British Locomotive Company ประเทศอังกฤษ เป็นหัวรถจักรประเภทTender Engine ซึ่งสร้างขึ้นตามแบบจำลองที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร
พ.ศ.2464 ได้เปิดเดินรถไฟด้วยรถจักรไอน้ำกรุงเทพฯ-พิษณุโลก และพิษณุโลกถึงเชียงใหม่
สถานีรถไฟพิษณุโลกหลังแรก ตั้งอยู่บริเวณถังดำ ( ถังประปาเติมน้ำรถจักรไอน้ำ ) ด้านใต้ของสถานีปัจจุบัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ( พ.ศ.2482-2488 ) ได้ถูกทหารญี่ปุ่น โจมตีด้วยการยิงปืนกลทางอากาศ และลูกระเบิดพังเสียหาย จนใช้การไม่ได้
พ.ศ.2488 จึงสร้างอาคารสถานีรถไฟพิษณุโลกหลังใหม่ ที่ปัจจุบันยังคงใช้งานอยู่ เป็นสถานีรถไฟระดับ 1 เนื่องจากมีปริมาณรายได้จาการโดยสาร จำนวนประชากรในชุมชน และเป็นสถานีสำคัญในการเดินรถไฟ
พ.ศ.2498 ได้เริ่มนำรถจักรดีเซลมาใช้แทน
พ.ศ.2500 คาดว่าน่าจะปลดประจำการรถจักรไอน้ำ
( ที่มา ประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก,2541,หน้า 141 และหน้า 151 ประวัติศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง สถาอารยธรรมโขง-สาละวิน หน้า 151 และ นายฉลวย วิจารัตน์ นายสถานิรถไฟพิษณุโลก 1 ตุลาคม 2555 ถึงปัจจุบัน )
มงคลเชาวราช 26 มีค.57