ผลงาน “การสร้างเครื่องตรวจสอบระดับเลือดในปอดเทียมระหว่างการทำระบบไหลเวียนโลหิตและระบบแลกเปลี่ยนแก๊สภายนอกร่างกายเพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดสมองอุดตันจากอากาศ(Level Alarm)” จากฝีมือนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัล popular vote ในประเภท Idea Seed จากการแข่งขันโครงการ “True Innovation Awards: The New Era”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูพงษ์ พงษ์เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยทั้งนิสิตและอาจารย์ ในการพัฒนาผลงานนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ รวมถึงการเผยแพร่ในเวทีต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยหลายชิ้น ได้รับรางวัลทั้งระดับชาติและนานาชาติซึ่งผลงาน “การสร้างเครื่องตรวจสอบระดับเลือดในปอดเทียมระหว่างการทำระบบไหลเวียนโลหิตและระบบแลกเปลี่ยนแก๊สภายนอกร่างกายเพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดสมองอุดตันจากอากาศ (Level Alarm) “ เป็นผลงานของ นายจิรนันท์ ปัญญาแก้ว นิสิตคณะสหเวชศาสตร์ นางสาวกชพรรณ ลิ้มโสภาธรรม และนางสาววันทิพย์ภา ผกาแดง นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ แย้มเม่น อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์ปฏิวัติ โชติมล อาจารย์ประจำคณะสหเวชศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
เครื่อง Level Alarm เป็นผลงานนวัตกรรมที่คิดขึ้นมาเพื่อใช้ในวงการแพทย์ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและราคาต่ำกว่า 10 เท่า จากที่ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าเครื่องดังกล่าวเครื่องละ 50,000 บาท แต่นวัตกรรมนี้ใช้งบประมาณการผลิตอยู่ที่เครื่องละ 5,000 บาท และสามารถใช้ได้กับเครื่องตรวจสอบระดับเลือดทุกชนิด และตัวเซนต์เซอร์ไม่ติดกับเลือดโดยตรงทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไม่ส่งสัญญาณรบกวนต่อเครื่องมือผ่าตัดอื่นๆ ซึ่งผลงานชิ้นนี้เคยได้รับรางวัลระดับเยี่ยมในการประกวดการเขียนข้อเสนอโครงการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อการพัฒนาการแพทย์และสุขภาพ เขตภาคเหนือ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติอีกด้วย
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม Assistant Director of Innovation Center จากบริษัท True Corporation ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “อยากจะชื่นชมทีมของน้องกลุ่มนี้คือวันแรกที่เข้ามาจนถึงวันนี้ พัฒนาการการขยายสิ่งที่เราสอนเขาสามารถทำได้ดี มุมมองที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างสามารถนำเสนอให้คนอื่นชื่นชอบและมีมุมทางธุรกิจที่น่าสนใจได้ เกิดจากตัวน้องๆ ที่รับสิ่งที่เราสอนและนำไปพัฒนาจนได้รับรางวัลนี้ ผมคิดว่าศักยภาพทางเทคนิคดีแต่ที่ดีกว่านั้นคือศักยภาพของคนซึ่งสามารถสร้างอะไรใหม่ๆ ต่อไปได้อีก”