เวลา 09.00 น.วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอล โรงแรมท็อปแลนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ( สนข. ) นายวัฒนะ กันนะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอความสำคัญ ขอบเขตการดำเนินงาน และรูปแบบแนวเส้นทางเลือก พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชน ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ( สนข. ) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สนข. เมื่อปี 2556 ดำเนินการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 คือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลกแล้วเสร็จแล้ว สถานะปัจจุบัน เป็นสายที่มีความพร้อมมากที่สุดที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ จากการศึกษารถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ขณะนี้ ได้ส่งผลการศึกษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาแล้ว และมีการปรับแก้บางจุด ถ้าหากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่าน สนข. ก็จะนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่ ดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกทันที แม้ว่าปัจจุบัน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลชุดนี้ ยังมีปัญหา ยังอยู่การตีความในขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่มีปัญหา แหล่งที่มาของเงินก่อสร้างก็จะมาจากพ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ แต่หากมีปัญหา สนข.ก็จะเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ โดยกระทรวงคมนาคม ขอใช้แหล่งเงินกู้จากกระทรวงการคลัง มาพิจารณาดำเนินการก่อสร้างเป็นโครงการ ๆ ไป
สำหรับการศึกษารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 2 เส้นทางจากสถานีพิษณุโลก ถึงสถานีเชียงใหม่นั้น สนข.จะใช้ระยะเวลาศึกษา 1 ปี และได้นำเสนอแนวทางเลือกไว้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย แนวทางเลือกที่ 1 เป็นแนวทางที่ใช้ทางรถไฟเดิมเป็นหลัก โดยปรับรัศมีโค้งบางส่วน เพื่อให้รถไฟสามารถทำความเร็วที่ต้องการได้ ระยะทางประมาณ 299 กิโลเมตร จากสถานีพิษณุโลก-สถานีเชียงใหม่ มี 5 สถานี ประกอบด้วย อุตรดิตถ์ เด่นชัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ซึ่งแนวทางเลือกนี้ผอ.สนข.ให้ข้อมูลว่า การก่อสร้างจะต้องใช้งบประมาณสูงจากงบที่วางไว้อีกประมาณ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากต้องทำอุโมงค์และสะพานผ่านเขตภูเขาสูงระยะทางร่วม 50 กิโลเมตร
แนวทางเลือกที่ 2 จากพิษณุโลก-เด่นชัย ใช้แนวทางรถไฟเดิม แต่เพิ่มเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเข้าสู่จังหวัดแพร่ โดยแยกออกที่อ.ห้วยไร่ จ.แพร่ และวกกลับเข้าเส้นทางรถไฟเดิม ที่ต.แม่ทะ จ.ลำปาง ระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร มี 5 สถานี ได้แก่ อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่
แนวทางเลือกที่ 3 เป็นแนวทางเลือกเส้นทางใหม่ ที่แยกไปจากสถานีพิษณุโลก มุ่งไปทางจ..สุโขทัย ผ่านอ.สวรรคโลก อ.ศรีสัชนาลัย และผ่านเข้าเมืองลำปาง ระยะทางประมาณ 293 กิโลเมตร มี 5 สถานี ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ทางเลือกนี้ จะต้องมีการเวนคืนที่ดินเพิ่ม ตลอดแนวระยะทางรถไฟความกว้างประมาณ 80 เมตร
ทั้งนี้ในทุกทางเลือก จากสถานีลำปาง จะวิ่งไปตามแนวรถไฟเดิมจนถึงบริเวณดอยขุนตาลมุ่งเข้าสู่สถานีลำพูน จะมีการตัดแนวเส้นทางใหม่ เพื่อให้รถไฟสามารถทำความเร็วได้ จากนั้นที่สถานีลำพูนจะใช้แนวรถไฟเดิมไปจนถึงเชียงใหม่
นายจุฬา เผยต่อว่า ยังไม่ได้ตั้งธงว่าจะพิจารณาทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง สนข.จะคัดเลือกแนวทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด จะเปรียบเทียบและให้คะแนนครอบคลุมปัจจัย 3 ด้าน ได้แก่ด้านวิศวกรรม ความสามารถในการเข้าถึงระบบรถไฟความเร็วสูง ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เช่น ค่าก่อสร้างและเวนคืน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพอากาศ ทรัพยากรป่าไม้ แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์
ส่วนกรณีที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลไทยจะเอาข้าวแลกรถไฟความเร็วสูงของจีนนั้น คิดว่า ยาก คงไม่จริงจัง เดิมที่รัฐบาลจีนนำเสนอเส้นทางภาคอีสานเพื่อเชื่อมต่อ แต่คิดว่ารัฐบาลไทยน่าจะกู้เงินมาทำเองมากกว่า เพราะสามารถเลือกเทคโนโลยีรถไฟที่มีตัวเลือกจากหลายประเทศ สรุปว่า แนวทางแลกเปลี่ยนข้าวเพื่อทำรถไฟในทางปฎิบัตินั้นยากมาก