ชีวิตชาวนาไทย

นางศิรปภา  กุคง ชาวนาอ.พรหมพิราม
นางศิรปภา กุคง ชาวนาอ.พรหมพิราม ที่นำชาวนามาทวงเงินจำนำข้าวสี่แยกอินโดจีนเมื่อมค.57

จังหวัดพิษณุโลกมีข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจตัวหลัก มีพื้นที่ปลูกข้าวตลอดปี ทั้งนาปรังและนาปีร่วม 1 ล้านไร่ หลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตชลประทานเรียกได้ว่าทำนากันทั้งปีปีละ 3 รอบเช่นอ.พรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ ที่อยู่ในเขตชลประทานนเรศวร ขณะที่บางพื้นที่แม้จะทำนาได้ปีละ 2 รอบ หน้าฝนน้ำท่วม อย่างอำเภอบางระกำ

aaa-2-500x281
พิษณุโลกมีข้าวเป็นเศรษฐกิจตัวหลักหลายพื้นที่ในเขตชลประทานทำนาได้ตลอดทั้งปี

 

ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม2556ถึงเดือนมกราคม2556 ชาวนาพิษณุโลกออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเงินจำนำข้าวจากรัฐบาลหลายต่อหลายครั้ง ทั้งนำโดยสภาการเกษตรจ.พิษณุโลก จากผู้นำชุมชนและพื้นที่ และกลุ่มชาวนามาเรียกร้องเอง ณ วันนี้ สถานการณ์ยังหนักหนาสาหัสเช่นเดิม เงินจากธกส.ค่อย ๆ ทะลอยมาจ่ายค่าจำนำข้าวเป็นคราว ๆ ไป เฉลี่ยนสัปดาห์ละ 100 กว่าล้านบาท กระจายไปตามสาขาต่าง ๆ ก็ได้สาขาละไม่กี่ราย และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีได้เมื่อไหร่ ยังคงมียอดคงค้างจ่ายชาวนาพิษณุโลกอีกหลายพันล้านบาทaa-4-500x335

 

พิษณุโลกฮอตนิวส์ ได้สัมภาษณ์เจ๊วรรณ หรือนางศิรประภา  กุคง ชาวนาตัวจริงเสียงจริง เป็นแกนนำที่นำพี่น้องชาวนามาชุมนุมที่สี่แยกอินโดจีนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาด้วยตัวชาวนาเอง ไม่ใช่ม็อบจัดตั้ง ไม่เกี่ยวกับการเมือง ถึงเรื่องราววงจรชีวิตชาวนา ได้มุมมองที่สะท้อนชีวิตความยากลำบากของชาวนาพิษณุโลกที่อยู่ในลักษณะเดียวกัน เงินไม่มีติดบ้าน เจ้าหนี้ทวงถาม  ต้นทุนการทำนาที่สูง และทางรอดในอนาคตของพวกเขาเหล่าชาวนาไทย

 

นางศิรประภา  กุคง ชาวนาอายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 178/1 ม. 10 ต.ศรีภิมรมย์ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เป็นตัวอย่างหนึ่งของครอบครัวชาวนา ที่ยึดการทำนาเป็นอาชีพหลักตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ และเป็นครอบครัวใหญ่ ที่พี่น้อง 6 ครอบครัว ต่างยึดอาชีพทำนาเหมือนกันหมดในพื้นที่รวม 400 ไร่ และกำลังประสบปัญหาอย่างหนักเหมือนชาวนาส่วนใหญ่ในจ.พิษณุโลก จากวงจรเงินโครงการรับจำนำข้าวสะดุด จ่ายล่าช้า ทั้งติด ทั้งกู้ กว่าเงินจำนำข้าวจะได้ กำไรที่คาดหวังว่าจะได้คงไปลงเป็นค่าดอกเบี้ยหมด

พื้นที่นาในอ.พรหมพิรามทำนาทั้งปี01
พื้นที่นาข้าวในเขตอ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จ ก็ไถและหว่านข้าวรอบใหม่ทันที

นางศิรประภาเผยว่า ครอบครัวตนมีอาชีพทำนา และทำนาตลอดทั้งปี ถ้าปีไหนน้ำดีหน่อยก็จะทำได้ 3 รอบ อายุข้าว 100-110 วัน ปีไหนน้ำแล้งก็จะทำได้แค่ 2 รอบ เพราะพวกตนอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยน้ำจากบ่อบาดาลและแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ถ้าพื้นที่ไหนอยู่ในเขตชลประทานก็จะทำกันอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าเกี่ยวเสร็จก็ไถและหว่านต่อทันที โดยฤดูนาปีที่ผ่านมา เก็บเกี่ยวไปในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2556 และเข้าร่วมจำนำข้าว จนปัจจุบันยังไม่ได้เงิน จากนั้นก็เริ่มทำนาปรังกันต่อทันที

 

ครอบครัวตนทำนารรวมกัน 6 ครอบครัว ในบรรดาพี่น้องช่วยกันทำนา และส่วนใหญ่เป็นนาที่เช่า รวมถึงชาวส่วนใหญ่ด้วย เช็คในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรก็จะรู้ว่า คนที่ยึดอาชีพชาวนาส่วนใหญ่จะเป็นนาเช่ากว่า 90 % ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง จึงตกอยู่ที่ค่าเช่านาไร่ละ 1,000 บาท หรือปีละ 3,000 บาท และปีนี้ต้องเสียค่าดอกเบี้ยให้กับชาวนาอีก 3 % เพราะเงินรับจำนำข้าวยังไม่ได้ ก็ต้องติดค่าเช่าไปก่อน  ถ้าทำนาดีดี คุมค่าใช้จ่าย ได้ผลผลิตสูงไร่ละ 1 ตัน ก็จะเหลือกำไรประมาณ 2,500 บาท แต่ชาวนาส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายสูง และได้ผลผลิตต่อไร่ไม่มาก ไร่ละ 70-80 ถัง ก็จะเฉลี่ยได้กำไรต่อไร่ต่อ 1 ฤดูการผลิตประมาณ 1,500 บาท

94266
การชุมนุมเรียกร้องทวงเงินรับจำนำข้าวที่สี่แยกอินโดจีน มค.57

ที่รัฐบาลกำหนดจำนำข้าว 15,000 บาทนั้น ชาวนาไม่ได้ถึงขนาดนั้นหรอก เป็นข้าว 15 % ขนาดข้าวที่ชาวนาตากแห้งเพื่อเก็บไว้ทำข้าวปลูกยังทำความชื้นได้แค่ 18 % และชาวนาส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวสดและนำข้าวไปเข้าโรงสีเพื่อเข้าร่วมโครงการจำนำข้าวเลย ข้าวนาปีรอบที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็จะได้ราคาอยู่ที่ตันละ 9,000-9,500 บาท ถ้าความชื้นต่ำหน่อยก็จะได้ตันละ 11,500 บาท ส่วนหน้าฝนไม่ต้องพูดถึง ยิ่งนาน้ำท่วมแล้วถ้าเกี่ยวสดได้ตันละ 3,000-3,500 บาท ขาดทุนเห็น ๆ ชาวนาแทบไม่ได้อะไร คนที่ได้คือโรงสี ที่กำหนดราคารับซื้อข้าวขายสดได้เอง และให้ราคาต่ำมาก

ชาวนาพิษณุโลกโชว์ใบแจ้งหนี้02
ชาวนาหลายครอบครัวได้รับจดหมายให้ไปชำระเงินกู้ธกส.เมื่อครบตามกำหนดแล้ว ขณะที่เงินจำนำข้าวยังไร้วี่แววว่าจะได้เมื่อไหร่

รอบปีที่ผ่านมายิ่งลำบากมาก เงินรับจำนำข้าวออกล่าช้า วงจรชีวิตชาวนามันสะดุดไปหมด ต้องเป็นหนี้ ต้องกู้ยืม ต้องเสียดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายทุกอย่างต้องติดเขาไว้หมด เงินค่าลดเกี่ยวข้าว เงินค่าปุ๋ย เงินค่าพันธุ์ข้าวปลูก ก็ต้องค้างไว้ ค่าใช้จ่ายในครอบครัวก็ต้องหากู้ยืมมา เสียดอกเบี้ยหมดทุกอย่าง ร้านค้าในตลาดก็ซบเซา อย่างร้านใหญ่ ๆ ในตลาดหนองตม อ.พรหมพิราม ก็ต้องกู้เงินมาหมุน ให้ชาวนาติดค่าปัจจัยการผลิต แต่ก็ต้องบวกดอกเบี้ยไป 3 % ร้านค้าในตลาดก็ซบเซา ชาวนาไม่มีเงินไปซื้อของ ใครไม่มีหลักทรัพย์ก็ต้องใช้วิธีกู้เพื่อน ญาติพี่น้องมาใช้ก่อน หลายคนธกส.ก็ส่งจดหมายมาทวงหนี้แล้ว วงเงินสินเชื่อเกษตรกร 50,000 บาทก็ใช้เต็ม หลายครอบครัวเงินจะใช้จ่ายในครอบครัวยังแทบไม่มีเลย กับข้าวแต่ละมื้อเนื้อหมูไม่ต้องพูดถึง ชาวนาแทบไม่ซื้อกิน ก็จะออกไปหาปลา เก็บผัก มาทำกับข้าวกิน

 

ชาวนาพิษณุโลกโชว์ใบแจ้งหนี้03
ชาวนาหลายครอบครัวได้รับจดหมายให้ไปชำระเงินกู้ธกส.เมื่อครบตามกำหนดแล้ว ขณะที่เงินจำนำข้าวยังไร้วี่แววว่าจะได้เมื่อไหร่

ทุกวันนี้ต้นทุนชาวนาก็สูงขึ้นมาก ต่อไร่ประมาณ 5,000-6,000 บาท ถ้า 1 ไร่ ในแต่ละรอบการผลิต ประมาณ 3 เดือนกว่า แล้วแต่ว่าจะใช้ข่าวพันธ์ไหน ( พันธุ์ 51 อายุเก็บเกี่ยว 90 วัน พันธุ์พิษณุโลก อายุเก็บเกี่ยว 110 วัน ) ต้องควบคุมต้นทุนจริง ๆ จึงจะพอเหลือกำไรบ้าง ใน 1 รอบการผลิต มีต้นทุนสูงมาก ได้แก่  1 ไร่ ใช้ข้าวปลูกไร่ละ 1 ลูก ราคา 580 บาท ค่าเช่านา 1,000 บาทต่อไร่ ค่ารถปั่น 240 บาทต่อไร่ ค่ารถย่ำ 220 บาทต่อไร่ ค่าหว่าน 50 บาทต่อไร่ ค่ายาคมุวัชพืช 380 บาทต่อไร่ ค่าปุ่ย 2 รอบ 980 บาทต่อไร่ ค่ายาปราบหนอน เพลี้ย 4 ครั้ง ถ้าควบคุมดี ๆ ใช้ถูกหน่อย 800 บาทต่อไร่ แต่ชาวนาทั่วไปจะใช้ 1,580 บาทต่อไร่ ค่ารถเกี่ยว 480 บาทต่อไร่ นี่ยังไม่นับรวมค่าแรงของตนเอง เรียกได้ว่าต้นทุนในแต่ละรอบเห็น ๆ อยู่แล้วว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ แต่เวลาขายจะถูกโรงสีกดราคารับซื้อต่ำมาก จำนำก็ไม่ได้ทั้งหมด

 

ถ้าเป็นอย่างนี้ชาวนาไม่รอดแน่ มีแต่หนี้และภาระที่เพิ่มขึ้น ควรแก้ไขยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวออกไป และทำโครงการให้โรงซื้อรับซื้อข้าวเป็นเงินสดจากชาวนา โดยมีหลักประกันรับซื้อข้าวขั้นต่ำตันละ 8,000 บาทขึ้นไป รัฐบาลประกาศราคากลางออกมา เพราะต้นทุนชาวนาขยับสูงมาก และจำนำข้าวก็มีปัญหา เงินไม่ได้เข้าชาวนาโดยตรงทั้งหมด ต้องผ่านหลายกลไกหลายขั้นตอน และตัวชาวนาเองก็ต้องปรับตัว ควบคุมการใช้ปัจจัยผลิตให้คุ้มค่า ไม่ใช้มากเกินความจำเป็นทั้งปุ๋ย ยา นางศิรประภา กล่าว

ณ วันนี้ 7 กุมภาพันธ์ 2557 สถานการณ์เงินจำนำข้าวก็ยังคงเหมือนเดิม ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่รัฐบาลจะหาเงินมาจ่ายค่าจำนำข้าวให้ชาวนาได้หมด แต่สำหรับตัวเจ๊วรรณแล้ว อย่างไรชาวนาก็ต้องทำนา และแม้จะยากลำบากเพียงใด ชาวนาอย่าไปคิดสั้น ตราบใดที่เรามีลมหายใจ ก็ต้องสู้กันต่อไป

 

………………………

 

แสดงความคิดเห็น