เวลาประมาณ 13.30 น.วันที่ 31 มกราคม 2557 กลุ่มเกษตรกรชาวนาจากหลายอำเภอของจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 100 คน มารวมตัวกันที่บริเวณทางขึ้นหน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลกเพื่อขอพบนายระพี ผ่องบุพกิจ ผวจ.พิษณุโลก ทวงถามการดำเนินการเร่งรัดจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวให้ชาวนา แต่ปรากฏว่า ผวจ.พิษณุโลก ไม่ได้อยู่ที่ศาลากลางจังหวัด และไม่มีตัวแทนมาพบกับชาวนา
กลุ่มชาวนาที่มารวมตัวกันวันนี้ เป็นกลุ่มชาวนาที่เดือดร้อนอย่างมาก และไม่มีแกนนำจัดตั้งชัดเจน เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มชาวนาตัวจริง ไม่มีนักการเมือง หรือ ผู้นำท้องถิ่น และเคยมาเรียกร้องกลางสี่แยกอินโดจีนเมื่อ 27-28 มกราคมที่ผ่านมา โดยบอกว่าวันนี้ มาตามคำที่ผวจ.พิษณุโลกนัดให้มาสอบถามความคืบหน้าของการจ่ายเงินรับจำนำข้าว หลายคนมีอารมณ์โกรธ ตะโกนด่า ที่ผวจ.พิษณุโลกไม่ได้มาพบ
ต่อมานพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก ได้มาพบกับกลุ่มชาวนา และได้อธิบายถึงเงินโครงการรับจำนำข้าวว่า ณ เวลานี้ รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายให้ชาวนาแล้ว เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ การกู้เงินจากธนาคารก็ทำไม่ได้ เหลือเพียงอย่างเดียวคือนำข้าวที่รับจำนำไปขาย แล้วนำเงินมาจ่ายให้กับชาวนา ทุกส่วนก็พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลขายข้าว นอกจากนี้ นพ.วรงค์ ยังได้ชวนชาวนาที่มาร่วมชุมนุมวันนี้ ให้นำรถอีแต๋น เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปเรียกร้องกับสภาทนายความ ไปเรียกร้องต่อธกส.และให้กำนันสุเทพช่วยอีกทาง แต่หลังจากประชุมกับตัวแทนกับชาวนาอำเภอต่าง ๆ ที่มาชุมนุมวันนี้ ได้ข้อสรุปว่า จะไม่เข้ากรุงเทพฯ เนื่องจากมวลชนมีจำนวนน้อย และชาวนาหลายคนติดภารกิจต้องดูแลนาข้าวรอบใหม่ และได้ข้อสรุปว่า วันนี้ จะนำรายชื่อของชาวนาที่มาชุมนุมวันนี้ ไปยื่นให้กับธกส.พิษณุโลก เพื่อให้เร่งรัดจ่ายเงินให้กับชาวนากลุ่มที่มาเรียกร้องในวันนี้ก่อน เนื่องจากมาแสดงตัวว่าเดือดร้อนอย่างมาก ถ้ามีเงินโอนเข้ามา ขอให้โอนเงินให้ชาวนากลุ่มนี้เป็นลำดับต้น ๆ ไม่ต้องรอตามลำดับคิว จากนั้น กลุ่มชาวนาได้เดินเท้าจากศาลากลางเพื่อไปยื่นข้อเรียกร้องกับธกส.พิษณุโลก ถนนประสงค์ประสาท เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง
นางศศิประภา กุคง อายุ 52 ปี หรือ เจ๊วรรณ ชาวนาจากต.ศรีภิรมย์ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ที่เคยเป็นตัวตั้งตัวตีนำชาวนาชุมนุมที่กลางสี่แยกอินโดจีนเมื่อ 3 วันก่อน เปิดเผยว่า วันนี้เรามาศาลากลาง เพราะผู้ว่าฯประกาศเองเมื่อวันที่ 23 มค.57 ว่าวันที่ 25-31 มค.57ผู้ใดยังไม่ได้เงิน ให้มาที่ศาลากลาง แล้วผู้ว่าฯ จะเป็นคนนำทีมทำอะไรก็ได้แล้วตามใจเกษตรกรที่มา แต่วันนี้เรามา ท่านผู้ว่าไม่อยู่ และไม่มีคนมาดูแลประชาชนเลย แล้วผู้ว่าฯของเราไปอยู่ที่ไหน ที่จะยืนเคียงข้างประชาชน ผู้ว่ายังมีความเป็นพ่อเมืองอยู่หรือไม่ ถ้าเห็นว่าชาวนาไม่มีคุณค่าจะดูแลได้ก็ออกไปจากจังหวัดพิษณุโลกเถอะ ขอให้เห็นแก่ชาวนา ชาวนาอดอยาก ลำบาก ที่เรามา ท่านผู้ว่าฯก็ไปกดขี่กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านว่าอย่าให้ประชาชนออกมา แต่คนไหนที่ออกมาได้เพราะเขาเดือดร้อนจริง ๆ หมดหนทาง กู้ธกส.ก็ไม่ได้ กู้ธนาคารก็ไม่ได้ ชาวนามาเรียกร้องแล้วพ่อเมืองหายหมด ผู้ใหญ่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน แม้แต่คนที่มาดูแลก็ไม่มี หาความเมตราจากหน่วยงานราชการยากมาก ชาวนามาแบบขอทาน
นางศศิประภา เผยต่อว่า ชาวนาอย่าไปคิดสั้น อย่าไปคิดสั้น ตราบใดที่เรามีลมหายใจ แม้แต่ขอทานกิน วันนี้หรือพรุ่งนี้ถ้าไม่มีอะไรดีขึ้น เราอาจจะรณรงค์ขอทานตามในเมืองนี่แหละ เรากำลังคุยกันอยู่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ครอบครัวเราเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 มกราคม ที่ห้องประชุมกองร้อยอาสารักษาดินแดน ภายในที่ว่าการอำเภอเมืองพิษณุโลก ร.อ.อุบล พุทธรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก ได้เชิญประธานสภาเกษตรกรอำเภอ และ แกนนำชาวนาจากทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก มาประชุมหารือเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเงินจำนำข้าว หลังจากชาวนานำข้าวเปลือก เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวกับทางรัฐบาลแต่ไม่ได้รับเงินตามกำหนดเวลา โดยทางรัฐบาลผลัดผ่อนการจ่ายเงินให้ชาวนาเรื่อยมาจนเวลาผ่านไปนาน 6-7 เดือนแล้ว อีกทั้งชาวนาหลายกลุ่มออกมาเรียกร้อง ปิดถนน ปิดศาลากลาง บางรายหาทางออกไม่ได้ฆ่าตัวตายซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่อยากให้เกิดขึ้น ทางแกนนำชาวนาจึงระดมแนวความคิดเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด
ร.อ.อุบล พุทธรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ทางสภาพเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก ได้รับทราบถึงปัญหากลุ่มชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าว ซึ่งในส่วนของจังหวัดพิษณุโลก เวลานี้ยังเหลือเกษตรกรที่ยื่นใบประทวนแล้วยังไม่ได้รับเงินจำนวน2,721 คน คิดเป็นจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้ชาวนาทั้งสิ้น 6,500 ล้านบาท เมื่อมองภาพรวมทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ ข้อมูลจากสภาพเกษตรกรจังหวัดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2557 ก็พบว่าทั้งภาคเหนือมีชาวนายังไม่ได้เงินจำนำข้าว 67,193 คน ยอดเงินรวมกว่า12,948 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกเป็นอันดับต้นๆที่ยอดเงินค้างมาก
ด้านนายชาตรี อำพูล แกนนำชาวนาอำเภอพรหมพิราม กล่าวว่า วันนี้ชาวนาอำเภอพรหมพิรามมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาชาวนายังมาได้เงินจำนำข้าว 2 แนวทาง แนวทางแรกได้มีการหารือกับทางนายอำเภอพรหมพิราม เกษตรอำเภอ พัฒนาชุมชน ว่าจะมีการตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนาที่ขาดรายได้ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ จะมีการหารือในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนแนวทางที่ 2 จะรวมตัวชาวนาเพื่อฟ้องรัฐบาล ในก็นี้ทางจ่ายเงินล่าช้าทำให้ชาวนามีหนี้สินเพิ่ม รัฐบาลต้องชดใช้ อาทิ ชาวนากู้เงินซื้อปุ๋ย 10,000 บาท ต้องจ่าย ดอกเบี้ย 3,000บาท ส่วนต่างจากดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบเป็นต้น
อย่างก็ตาม การประชุมหารือทำให้เกิดข้อสรุปปัญหา 6 ข้อคือ 1 .ชาวนาจะไม่ไปเลือกตั้ง โนโหวต 2.เข้ากรุงเทพฯชุมนุมเรียกร้อง 3. ปิดถนน 4.ปิดศาลากลางจังหวัด 5. พึ่งอำนาจศาลฟ้องร้องรัฐบาล และ 6.รอคอย ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ แก้ไขปัญหาหนี้สินและช่วยเหลือชาวนาที่ไม่มีเงิน ระหว่างรอเงินจำนำข้าวจากรัฐบาล ซึ่งหลังจากให้ที่ประชุมลงมติ พบว่ามีการลงมติ 2 ข้อ คือข้อ 5และข้อ 6 แต่ปรากฏว่าเสียงลงมติในข้อ 6 มากที่สุด 23 เสียง ที่ประชุมจึงทำหนังสือเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเพื่อเร่งรัดรัฐบาล และหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินและช่วยเหลือชาวนาต่อไป
แสดงความคิดเห็น