วันที่ 13 ธันวาคม 2556 ดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์ เลขาธิการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและพัฒนา (UNCTRD ) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปรับตัว SMEs ภูมิภาคสู่ AEC” ซึ่งจัดโดยหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก โดยเชิญนักธุรกิจและหอการค้าจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างเข้าร่วมรับฟังกว่า 500 คน โดยมี นางนุชจรินทร์ ศรีทองพนาบูลย์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดพิษณุโลกและนายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกให้การต้อนรับ ที่โรงแรมท็อปแลนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.พิษณุโลก
ดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์ กล่าวว่า ปี 2014 เศรษฐกิจโลกจะยังไม่เติบโตขึ้น หลังถดถอย ยุโรปอีกก็ติดลบมา 2 ปีแล้ว อเมริกาก็เพิ่งฟื้นไม่กี่เดือนนี้เอง ทำให้ทุกคนมองไปที่โลกเอเชีย เพราะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก ครึ่งหนึ่งมาจากเอเชีย หากประเทศจีนและกลุ่มอาเชียนไม่ฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกก็อาจซวนเซได้ การก่อตั้งอาเชียนหรือ GMS Economic Corridors ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงขึ้นมา ก็มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการค้า การลงทุน ในยุคนั้น ที่ภูมิภาคแห่งนี้มีสงครามปะปราย โดยใช้การพัฒนาเศรษฐกิจแทน สำหรับการเปิด AEC ปี 58 เร็วๆนี้ ประเทศไทยจะรับมือไหวไหม ! นี่คือปัญหา เพราะ ณ. วันนี้ การลงทุนโลกเองยังหดตัว ยังไม่มีประเทศไหน เศรษฐกิจดี
ประชาชาคมอาเชียนเปิด ก็คือ ประตูเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมถูกเปิดออก ประชากร 600 ล้านคนจะเชื่อมไปมา โดยไม่มีวีซ่า หากมองในแง่การลงทุน ถือว่า เป็นตลาดใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลาง หากไปเปรียบเทียบประเทศจีน 1,200 ล้านคน อาเซียนก็เป็นตลาดใหญ่ครึ่งหนึ่งของจีน
ดร.ศุภชัย เผยต่อว่า เศรษฐกิจไทยอีก 2 ปีข้างหน้าอัตราการขยายตัวอาจจะยังมีปัญหา จากหลาย ๆ สาเหตุ การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยบางสาขาเราเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน และส่วนหนึ่งเราเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจยุโรป หากทรุดตัวมาก เราก็ทรุดตามที่เขาทรุดไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ขณะนี้คือ ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาค สมมติเศรษฐกิจไทยโต 3 เปอร์เซ็นต์ แต่เศรษฐกิจภูมิภาคตามภาคต่าง ๆ ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลางอาจจะโตร้อยละ 6-7 มันเป็นไปได้ และกำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้
เพียงแต่เศรษฐกิจภูมิภาคจะเติบโตกว่า เศรษฐกิจในกรุงเทพมหานคร จริงๆแล้ว รัฐควรสนับสนุน การลงทุนในต่างจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ ภาษีต้องต่ำกว่า หรือติดลบ ลักษณะอุดหนุนการลงทุน รัฐควรพยายามส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบมีดุลภาพ ไม่ใช่เติบโตเฉพาะกทม.
จังหวัดพิษณุโลกได้ชื่อว่า สี่แยกอินโดจีน แต่ผม ไม่อยากเห็น พิษณุโลก เหมือนประเทศบราซิล ที่ทุกคนบอกว่า ประเทศบราซิล มีอนาคต มีทุกอย่าง ร่ำรวย แร่ต่างๆ พืชส่งออก ทั้งประชากรจำนวนมาก แต่วันนี้ ยังเป็นเพียงอนาคตอยู่ ยังไม่ได้ไปไหน เพราะไม่มีการพัฒนาไปพร้อมๆกัน ผมไม่อยากให้ภาคเหนือตอนล่างหรือพิษณุโลก เหมือนอย่างประเทศบราซิล ที่ติดอยู่กับโลกแห่งอนาคต ถ้าเราจะคุยว่า มีรถไฟความเร็วสูงมาแน่ ถามว่า มาหรือยัง แต่นักลงทุนไทยหยิบโครงการอนาคตมาใช้ก่อน (เก็งกำไรที่ดิน) ทั้งๆ ยังไม่ถึงเวลา สิ่งที่ควรต้องทำเวลานี้ คือ การบริหารเพื่อการพัฒนา อย่าพร่ำบอกว่า สี่แยกอินโดจีนดีแน่
สรุปว่า อย่าไปเก็งกำไร เอาอนาคตมาเล่น ต้องสร้างคน สร้างแรงงานมีฝีมือ หาวิธีเชื่อมธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นรูปธรรม อาจลงทุนทำธุรกิจร่วม และที่สำคัญต้องมียุทธศาสตร์ชัดเจน
ปัญหาของประเทศไทยวันนี้ ต้องมองเรื่องคนหรือทรัพยากรมนุษย์ ควรพัฒนาทุกคนให้มีฝีมือ ไม่ใช่เป็นเพียงแรงงานทั่วไป ยอมรับว่า ช่างในเมืองไทยขาดแคลน วิศวกรมีมากเกิน ควรต้องยกระดับช่างมีฝีมือ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านรอบๆไทย แรงงานก็ล้นเหลือเกินไป
หากทำนาย ธุรกิจผมยังเชื่อว่า ไทยจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมแพทย์ หรือ ศูนย์กลางการแพทย์ จะเติบโตต่อเนื่องในระยะอีก 20 ปี เพราะไม่มีประเทศใดๆ รอบๆข้าง ที่เดินทางมาไกล วันนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องสนับสนุนการค้าเศรษฐกิจชายแดน ออกกฏหมายขึ้นมา เพราะประเทศพม่า มีเขตเศรษฐกิจพิเศษจำนวน 24 แห่งแล้ว