เอดส์ยังน่าห่วงการใช้ถุงยางอนามัยยังต่ำ

579319_550852408336996_1739827441_n  เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่าโรคเอดส์เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเอชไอวี  ช่องทางหลักการติดต่อถ่ายทอดเชื้อนี้มากที่สุดกว่าร้อยละ 84 คือ ทางการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีเชื้อในร่างกายกับบุคคลทั่วไป ทั้งระหว่างชายกับหญิง ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ทั้งโดยทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และการใช้ปากกับอวัยวะเพศคู่นอนที่มีเชื้อเอชไอวี  ขณะนี้โรคเอดส์ยังไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงยาต้านไวรัสที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อในร่างกาย และลดการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสเท่านั้น และต้องกินยารักษาไปตลอดชีวิต

จุดอ่อนหรือจุดเปราะบางที่ผ่านมา คือ ประชาชนยังคงมีพฤติกรรมสุขภาพทางเพศเสี่ยงสูงโดยเฉพาะในกลุ่มคู่ผลเลือดต่างในคู่สามีและภรรยา  ส่งผลให้อัตราการการเกิดโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ลดลงได้ตามเป้าหมายที่กำหนด  การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ในเรื่องโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังไม่มีความสม่ำเสมอและทั่วถึง  มักกระทำในช่วงวัณรงค์เท่านั้นส่งผลให้ไม่เกิดความตระหนักที่มากเพียงพอในสังคม  ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การเปลี่ยนคู่นอนและไม่รู้สถานะของการติดเชื้อเพราะยังไม่ได้ตรวจเลือด  เยาวชนมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นอายุเฉลี่ยการมีเพศสัมพันธ์ลดลง อัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำ เมื่อมีเพศสัมพันธ์  ส่วนการเข้าถึงถุงยางอนามัยยังไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปผู้ใหญ่เองมองว่าการส่งเสริมการเข้าถุงยางอนามัยเป็นดาบสองคม ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดและสมควรต้องได้รับการปรับทัศนะคตินี้  ขาดแผนยุทธศาสตร์เอดส์ในระดับภูมิภาคและระดับจังหวัดที่เชื่อมโยง และมีส่วนร่วมผูกพันในการปฏิบัติกับองค์กรทุกภาคส่วน

ในช่วงปี 2555-2559 ประเทศไทยจึงมุ่งสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ โดยดำเนินการใน 3 ประเด็น คือ ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการตายเนื่องมาจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ   ดังนั้นหน่วยงานได้จัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับเรื่องเอชไอวีและเอดส์ โดยการสำรวจทางระบบออนไลน์และสำรวจจากกลุ่มเป้าหมายในการจัดรณรงค์โรคเอดส์ ช่วงวันที่ 1 – 30พฤศจิกายน 2556 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 200 ราย พบว่า

1.ด้านพฤติกรรม  ดูออกว่าคนที่มีเซ็กส์ด้วยเคยมีเซ็กส์กับคนอื่นมาก่อนร้อยละ 52 , มั่นใจว่าคู่ของตนใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเซ็กส์กับคนอื่นร้อยละ 31, มั่นใจว่าจะมีเซ็กส์กับคนๆ เดียวร้อยละ 62, เคยมีเซ็กส์แบบสอดใส่กับคนอื่นที่ไม่ใช่แฟนหรือคนรักโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยร้อยละ 29, ปฏิเสธการมีเซ็กส์เสี่ยงแบบไม่ป้องกันได้ตลอดทุกครั้งร้อยละ 54, มีถุงยางอนามัยเมื่อต้องการใช้ทุกสถานการณ์ร้อยละ 47, เคยใช้เข็มฉีดสารเสพติดร่วมกับผู้อื่นร้อยละ 9, และเคยไปตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 56

2. ด้านการรักษา  ทราบข้อมูลว่าปัจจุบันมียาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาของคนไทยร้อยละ73,  ทราบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ที่กินยาต้านไวรัสรักษาอย่างครบถ้วนต่อเนื่อง จะช่วยชลอการเสียชีวิตได้ร้อยละ 83, ทราบว่าผู้ป่วยที่กินยาต้านไวรัสรักษาอยู่จะช่วยป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปสู่ผู้อื่นได้ร้อยละ 39

3.ด้านการรังเกียจและตีตรา  พบว่าหากติดเชื้อเอชไอวีจะยอมบอกคนในครอบครัวร้อยละ 77, ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ตนรู้จักคือ คนในครอบครัว เพื่อนสนิท รวมกันร้อยละ 9, เป็นคนรู้จักถึงร้อยละ 49, ถ้าทราบว่าคนที่รู้จักติดเชื้อเอชไอวีจะเดินหนีหรืออยู่ห่างๆร้อยละ 14,  รู้สึกรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 2 รังเกียจผู้ป่วยเอดส์ร้อยละ 4  และถ้ามีบริการตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีฟรีจะไปตรวจทันทีร้อยละ 75

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ภาคธุรกิจและภาคประชาชนในส่วนภูมิภาค ควรได้ตระหนักถึงความจำเป็นต้องขจัดปัญหาเอชไอวีและเอดส์ โดยอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์นี้มุ่ง “พลิกสถานการณ์” การตอบสนองและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งรัดการต่อสู้กับปัญหาเอชไอวีและเอดส์บรรลุผลให้เป็นศูนย์ สู่ 3 ต. คือ ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา

 

แสดงความคิดเห็น