ศึกษาทำระบบขนส่งเชื่อมสถานีรถไฟเร็วสูงพิษณุโลก

0004เวลา 09.00 น.วันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 ที่ห้องวังธารา โรงแรมอมรินทร์ลากูน อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายวัฒนะ  กันนะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายชัยวัฒน์  ทองคำคูน รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร ( สนข. ) ได้เปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ซึ่งเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนครั้งสุดท้าย เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาและการออกแบบโครงการสรุปเสนอรัฐบาล มีผู้ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจ สถานบันการศึกษา หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชนเข้าร่วมสัมมนาจำนวน 300 คน

0001

นายชัยวัฒน์  ทองคำคูน รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร ( สนข. ) เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาแนวเส้นทางโครงการกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 389 กิโลเมตร ใช้เขตทางรถไฟเดิมเป็นหลัก โดยเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา จะทำเป็นโครงการยกระดับประมาณ 61 กิโลเมตร มีอุโมงค์ 1 จุด ผ่านตัวเมืองลพบุรี นอกจากนั้น เป็นระดับพื้น วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีความเร็วเฉลี่ย 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตลอดแนวเส้นทางมี 7 สถานี ประกอบด้วย สถานีบางซื้อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก โดยได้ออกแบบอาคารสถานีให้มีความสวยงาม ทันสมัย ด้วยสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์ท้องถิ่น พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนตามมาตรฐานสากล และที่ตั้งสถานี สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนที่หลากหลาย รวมทั้งได้กำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนจำนวน 179 แห่ง คำนึงถึงความเหมาะสมและปลอดภัย ทั้งหมด 6 รูปแบบ ได้แก่ ถนนยกระดับทางข้ามรถไฟในแนวตรง ถนนลอดใต้ทางรถไฟ ถนนยกระดับรูปตัวยู ทางยกระดับทางรถไฟ อุโมงค์รถไฟ และทางลอดใต้สะพานรถไฟ และในอนาคต จะพัฒนาขยายแนวเส้นทางจากพิษณุโลกไปเชียงใหม่ ระยะทาง 283 กิโลเมตร รวมระยะทางจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 669 กิโลเมตร

0002

สำหรับผลการศึกษาทางด้านเศรษฐกิจของการพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก มีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 13.2 มูลค่าการลงทุน 212,893.31 ล้านบาท และช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ มีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจร้อยละ 12.56 มูลค่าการลงทุน 214,005.25 ล้านบาท ที่แนวทางการศึกษาเบื้องต้นคือผ่านศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เข้าลำปาง ไปถึงเชียงใหม่ รวมมูลค่าการลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายเหนือประมาณ 426,898.56 ล้านบาท โดยกำหนดค่าโดยสารเบื้องต้นเฉลี่ย 2 บาทต่อกิโลเมตร กรุงเทพฯ-พิษณุโลก เฉลี่ยที่ 639 บาท/เที่ยว ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 45 นาที

 

นายชัยวัฒน์  เผยต่อว่า ตามแผนการดำเนินงาน การพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก สามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2562 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถระบบโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดพิษณุโลก นำไปสู่ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง

0006

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลสะดุด ไม่ผ่านออกมาจะมีผลอย่างไร นายชัยวัฒน์ ตอบว่า สนข.ยังคงต้องดำเนินการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงต่อไป และสรุปว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างไร หากเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทสะดุด ก็สามารถใช้งบประมาณปกติของรัฐบาลได้ แต่การก่อสร้างก็จะล่าช้า และเสียโอกาส อาจจะใช้เวลาในการดำเนินการ 20 ปี เพราะในส่วนของเงินกู้ตัวนี้ รถไฟความเร็วสูง มีสัดส่วนการใช้งบประมาณถึง 40 % ขณะที่เทคโนโลยีของการก่อสร้างและรถไฟความเร็วสูงนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป และคงเปิดกว้างให้โอกาสกับบริษัทหลายประเทศได้แข่งขันกันอย่างเต็มที่ ทั้งจากญี่ปุ่น จีน เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน ซึ่งยังไม่ได้เลือก ต้องนำผลเสนอรัฐบาลก่อน

0007

สำหรับสถานีรถไฟพิษณุโลกนั้น ได้ข้อสรุปแล้วใช้สถานีรถไฟพิษณุโลกแห่งเดิม ได้ออกแบบเป็น 2 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นชั้นเอนกประสงค์พื้นที่ใช้บริการของผู้โดยสาร ชั้นที่สองเป็นสถานีจอดรถไฟสายปกติ ที่จะทำเป็นรางคู่ และชั้น 3 จะเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง การออกแบบอาคารสถานี ได้ผสมผสานความทันสมัยกับเอกลักษณ์ท้องถิ่น สถานีพิษณุโลกนำแนวคิดแม่น้ำสองสายมาออกแบบตัวอาคารสถานี ขณะที่สถานีรถไฟพิษณุโลกแห่งเดิม ที่เป็นอาคารเก่า รวมถึงหัวรถจักรไอน้ำนั้น จะรักษาสภาพไว้

0005

นายชัยวัฒน์ เผยต่อว่า ในปีงบประมาณ 2557 สนข.ได้ตั้งงบประมาณ 49 ล้านบาท เพื่อศึกษาระบบขนส่งมวลชนต่อเนื่อง เชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง กับการคมนาคมขนส่ง เพื่อบริการผู้ใช้บริการให้มากที่สุด โดยจะศึกษา 2 สถานี คือสถานีพิษณุโลก และสถานีนครราชสีมา เป็นจังหวัดใหญ่ในภูมิภาค ประชากรสูง  เนื่องจากตัวอาคารสถานี สถานที่จอดรถคงมีไม่มาก และจะต้องทำระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อการคมนาคมให้เชื่อมโยงกับเส้นทางคมนาคมจุดต่าง ๆ อาจจะเป็นไปได้ทั้งรถไฟลอยฟ้า หรือรถไฟใต้ดิน เป็นระบบพิเศษสำหรับรถไฟความเร็วสูง หากระบบการเชื่อมโยงดี ประชาชนก็จะใช้บริการรถไฟความเร็วสูงมาก ใช้เวลาศึกษา 1 ปี เริ่มศึกษาได้กลางปี 2557

แสดงความคิดเห็น