นายคมสัน วัฒนวนาพงษ์ ผู้จัดการอาวุโส สำนักงานสาขาพิษณุโลก บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ( บสย. ) เปิดเผยถึง การดำเนินงานที่ผ่านมาปี 2556 ตอกย้ำภาระกิจหลักในการค้ำประกันสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน ถึงแม้ว่า บสย.พิษณุโลก จะไม่ได้มีบทบาทในการปล่อยสินเชื่อโดยตรง แต่ บสย.พิษณุโลก มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และได้รับทราบข้อมูล ข่าวสารบริการของ บสย. รวมถึงเงื่อนไข โปรโมชั่น และผลิตภัณฑ์ของธนาคาร ในหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น การจัดกิจกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุนในหลายพื้นที่ ซึ่งหัวใจของงานคือการให้ความรู้ SMEs ด้านการค้ำประกันสินเชื่อ และเน้นให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลเพื่อค้นหา ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ โดยการเชื่อมโยงการทำงานกับสถาบันการเงิน เพื่อส่งต่อให้ธนาคารพิจารณา
ทั้งนี้จะดูจากคุณสมบัติของผู้ประกอบการ ว่าเหมาะสมกับสถาบันการเงินใด เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการSMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จริง นอกจากการจัดกิจกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้ว ยังจัดกิจกรรมประชุมกลุ่มย่อย / การออกพบปะ SMEs ถึงสถานประกอบการ และการสำรวจความต้องการสินเชื่อผ่านองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ หอการค้า , สภาอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา จนถึง 25 พ.ย. 56 บสย.พิษณุโลก มียอดค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง รวมทั้งสิ้น จำนวน 8,506 ราย รวมวงเงินค้ำ 24,120 ล้านบาท
นายคมสันต์ กล่าวว่า จากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้ตั้งแต่ ม.ค. – พ.ย. 56 บสย.พิษณุโลก เข้าถึงผู้ประกอบการได้กว่า 5,200 ราย โดยมีผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จำนวน 3,900 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าว บสย.พิษณุโลก ได้สนับสนุนการค้ำประกันสินเชื่อ ให้กับผู้ประกอบการจำนวน 1,927 ราย วงเงินค้ำประกันรวม 5,770 ล้านบาท ซึ่งการได้รับสินเชื่อเพิ่มช่วยคงสภาพการจ้างงานได้กว่า 15,500 ราย และก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น จำนวน 2,015 ราย เกิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 9,300 ล้านบาท
สำหรับจังหวัดที่มียอดค้ำประกันสูงสุด 4 อันดับ ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ 355 ราย วงเงินค้ำ 1,135 ล้านบาท ธุรกิจเกี่ยวเนื่องภาคการเกษตร คิดเป็น 30.44 % จังหวัดกำแพงเพชร 273 ราย วงเงินค้ำ 860 ล้านบาท เคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ คิดเป็น 14.22 % จังหวัดพิษณุโลก 291 ราย วงเงินค้ำ 857 ล้านบาทการผลิตสินค้าและการค้าอื่น ๆ คิดเป็น 10.09 % จังหวัดตาก 222 ราย วงเงินค้ำ 765 ล้านบาท อาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็น 8.06 %
แผนการดำเนินงานในปีหน้า 2557 บสย.พิษณุโลก มุ่งเน้นการเพิ่มยอดค้ำประกันสินเชื่อ ให้ได้เพิ่มขึ้นกว่าปี 2556 โดยเน้นทำตลาดเชิงรุก เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น และจัดกิจกรรมประชุมกลุ่มย่อย ไปยังผู้ประกอบในทุกจังหวัดที่ บสย.พิษณุโลกรับผิดชอบ เพื่อส่งต่อให้ธนาคารพิจารณารายที่มีศักยภาพ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จริง และเพิ่มยอดการค้ำประกัน อันจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
//////