วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ที่หอประชุมศรีวชิรโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อ.เมืองจ.พิษณุโลก เวทีรับฟังความเห็นภาคประชาชนบริหารจัดการน้ำ ที่กำหนดการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนจังหวัดพิษณุโลก โดยกำหนดการวันนี้ จะมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธีเปิดเวที แต่บรรยากาศในช่วงเช้าปรากฏว่า กลุ่มต่อต้านการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองชมพู ที่เป็นชาวบ้านในบ้านชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ประมาณ 200 คนได้ฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาปักหลักบริเวณด้านหน้าหอประชุมศรีวชิรโชติตั้งแต่เวลาประมาณ 07.00 น. นำรถและเครื่องเสียงมาปักหลักประท้วงต้อต้านอ่างเก็บน้ำคลองชมพู
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้คลุมกำลังบริเวณทางขึ้นหอประชุม และอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่มาลงทะเบียนขึ้นไปเท่านั้น โดยกลุ่มชุมนุมต่อต้านสร้างอ่างเก็บน้ำคลองชมพู พยายามจะขอนำชาวบ้านทั้งหมดเข้าไปร่วมรับฟังในเวที แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงกั้นมากันบริเวณไว้ และมีการปะทะกันเล็กน้อยระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาวบ้านที่สนับสนุนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองชมพู เดินถือป้ายสนับสนุนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและสนับสนุนการทำแผนบริหารจัดการน้ำมาใกล้ ๆ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กันระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านไว้ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใด ๆ
ขณะที่การเปิดเวทีรับฟังความเห็นในวันนี้ ที่กำหนดจะเปิดในช่วงเวลา 09.00 น.ต้องเลื่อนออกไป นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ยังไม่เดินทางมาเปิดเวที โดยกลุ่มประชาชนที่มารับฟังความเห็นได้เริ่มทะลอยเข้าหอประชุมศรีวชิรโชติ ท่ามกลางการตรวจรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และมานั่งรอในหอประชุมร่วมชั่วโมง กระทั่งเวลา 10.30 น. จึงเริ่มเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ขึ้นเวที แนะนำแผนบริหารจัดการน้ำของจังหวัดพิษณุโลกที่วางไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ โมดูลเอ 1 อ่างเก็บน้ำคลองชมพู โมดูลเอ 2 พื้นที่ปิดล้อมเทศบาลนครพิษณุโลกและเทศบาลตำบลพรหมพิราม และโมดูลเอ 3 พื้นที่แก้มลิงใน 5 อำเภอ โดยมีนายวัฒนะ กันนะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นั่งรับฟังพร้อมกับประชาชนประมาณ 1,000 กว่าคน ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เดินทางมาเปิดงานตามกำหนดการ
นายโม คำคูน ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำชมพู พร้อมแกนนำชาวบ้านได้ผลัดกันปราศรัย ต่อต้านเวทีรับฟังความเห็นในวันนี้ โดยระบุว่า ชาวบ้านตำบลชมพูไม่ต้องการให้สร้างอ่างเก็บน้ำคลองชมพู หลังจากมีการศึกษาตั้งแต่ปี 2522 จะกระทบธรรมชาติ วิถีชีวิต และที่ทำกินของชาวบ้านอย่างมาก และไม่เคยมาฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านอ่างเก็บน้ำคลองชมพู ยังคงปักหลักอย่างเหนียวแน่นในตลอดภาคเช้า มีการเป่านกหวีดเป็นระยะ ๆ แกนนำได้ผลัดกันขึ้นพูดต่อต้านการสร้างอ่างเก็บน้ำภายในตำบลชมพู ขณะที่บนหอประชุมศรีวชิรโชติ ก็ได้ดำเนินการฉายวีดิทัศน์ แนะนำโครงการ และตัวแทนภาคประชาชนที่ลงทะเบียนได้ขึ้นพูดแสดงความคิดเห็นรายละ 5 นาที และชี้แจงถึงการแบ่งกลุ่มย่อยในภาคบ่าย
เวลาประมาณ 11.15 น. นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้เดินทางมาพบกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าหอประชุมศรีวชิรโชติ ระบุว่าพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนที่ต่อต้านการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองชมพู โดยตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู ได้อ่านแถลงการณ์คัดค้านโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังชมพู และตัวแทนเครือข่ายประชาชน 7 จังหวัด ได้อ่านจมหมายเปิดผนึก คัดต่านแผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน และไม่ยอมรับการรับฟังความคิดเห็นการจัดการทรัพยากรน้ำของภาคเหนือตอนล่าง พร้อมกับมอบจดหมายเปิดและแถลงการณ์คัดค้านให้นายระพี ผ่องบุพกิจ ผวจ.พิษณุโลก และนายศรายุทธ ยืนยง ตัวแทนกบอ. ที่ระบุว่า จะนำจดหมายเปิดผนึกและแถลงการณ์คัดค้านส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี การชุมนุมต่อต้านเวทีบริหารจัดการน้ำกลุ่มผู้ชุมนุมได้สลายตัวไปในเวลาประมาณ 12.00 น.
นายโม คำคูน ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู กล่าวว่า เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพูเห็นว่า การดำเนินการรับฟังความเห็นในครั้งนี้ขาดความชอมธรรม และมิได้ให้ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีสัดส่วนน้อยมาก การดำเนินการผลักดันโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังชมพูในจังหวัดพิษณุโลก รัฐบาล และกรมชลประทานคาดหวังถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศแต่เพียงด้านเดียว ไม่สอดคล้องกับผลกระทบใยระยะยาวต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่ทำกิน อีกทั้งจากการศึกษาประเมินทรัพยากรในพื้นที่ของเครือข่ายอนุรักษ์ ประเมินว่า จะต้องสูญเสียต้นไม้ใหญ่ 890,869 ต้น และลูกไม้ 1,2000,698 ต้น ที่จะต้องจมอยู่ใต้ท้องน้ำ
เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพูมีจุดยืนและข้อเสนอ ขอให้ยุติและยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียจากการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และแก้ไขอุทกภัยของประเทศไทยทุกโครงการ จนกว่ารัฐบาลและกรมชลประทานจะทำให้ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คัดค้านมติครม.ที่ว่าด้วยเรื่องโครงการจัดการน้ำทั้งหมดวงเงิน 350,000 ล้านบาททั่วประเทศ และยกเลิกถอดถอนคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรมด้วยการแต่งตั้งทั้งหมด
ขณะที่การประชุมในภาคบ่าย ได้แบ่งประชุมตามกลุ่มย่อยตามห้องประชุมคณะต่าง ๆ ในม.ราชภัฏพิบูลสงคราม ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักต่อต้านเวทีรับฟังความเห็นน้ำได้สลายตัวจากม.ราชภัฏพิบูลสงคราม และเดินทางออกกลับภูมิลำเนาไปโดยไม่มีเหตุรุนแรง