เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงแรม อมรินทร์ลากูน จ.พิษณุโลก นายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ “อาหารปลอดภัย” เพื่อระดมแนวความคิดทุกภาพส่วนทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ ข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักศึกษา องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน NGO สื่อมวลชน เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า ผู้ผลิตจำหน่ายอาหาร และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกว่า 300 คน ทั้งนี้มีนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขานุการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเดินทางมาให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการดูแลสุขภาพ และการเลือกอาหารให้ปลอดภัย
นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขานุการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โดยภาพรวมของประเทศเรื่องอาหารมีความไม่ปลอดภัยสูง ต้องมองสาเหตุเกิดจากระบบการผลิตตั้งแต่การผลิตต้นน้ำ การแปรรูปกลางน้ำ การจัดการปลายน้ำ โดยเฉพาะขั้นตอนการผลิต เราผลิตเพื่อการค้าให้ได้มาก ๆ มีการใช้สารเคมี ยากำจัดศัตรูพืชมาก สารเคมีจึงมีการตกค้างในแผ่นดิน ตกค้างในเกษตรกร และตกค้างในวัสดุ ทั้งในอาหารประเภทพืชและสัตว์จำนวนมาก แปรรูปตลาดก็สุ่มเสี่ยง วิถีชีวิตเปลี่ยนเราบริโภคอาหารปรุงสำเร็จมากขึ้น ประเทศไทยด้านอาหารของเราสุดยอด อุดมสมบูรณ์มากแต่ความปลอดภัยมาการตรวจสอบควบคุม อย่างที่ทางสมัชชา จ.พิษณุโลก ตรวจสอบก็พบสารเคมีตกค้างจำนวนมาก โดนเฉพาะสารก่อมะเร็ง ปัญหาอาหารไม่ปลอดภัย ไม่เป็นเฉพาะปัญหาทางสาธารณสุข แต่เป็นปัญหาที่ทุกๆ ฝ่ายต้องช่วยกัน ในการกำหนดทิศทาง เรามีการยกร่างนโยบาย และเปิดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา พอได้แนวทางข้อสรุป แต่ละหน่วยงานแต่ละส่วนจะรีบดำเนินการ การแก้ไขปัญหาผ่านทางสมัชชาสุขภาพ จะทำให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบมากขึ้น
นายแพทย์บุญเติม ตันสุรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ชาวพิษณุโลกพิษณุโลกเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นอับดับแรก จากการศึกษาพบว่าความเสี่ยงส่วนใหญ่มาจากอาหาร เนื่องจากการผลิตที่ใช้สารเคมี การปรุงที่มีสิ่งปนเปื้อนที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยข้อมูลสาธารณสุข จ.พิษณุโลกปี 2556 พบว่า พบสารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ มากกว่าร้อยละ 30 การจำหน่ายอาหารในตลาดสดพบสารปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารร้อยละ 12.40 ตลาดนัดพบปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารร้อยละ 15.5 ที่มือแม่ค้าพ่อค้าร้อยละ 33.3 ขณะที่ในห้างสรรพสินค้าที่ดูสะอาดตา กลับพบสารปนเปื้อน โคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารร้อยละ 51.92 ที่มือร้อยละ 60.4 ที่ภาชนะร้อยละ 52 และผลจากการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดเกษตรกร จ.พิษณุโลก พบอยู่ในระดับเสี่ยงอันตราย ร้อยละ 44.76 จากสถิติประเด็นดังกล่าวจึงเป็นแรงจูงใจที่ทางสมัชชาสุขภาพพิษณุโลก จะได้ร่วมกันร่างนโยบาย เพื่อหาฉันทามตินโยบายสาธารณะอาหารปลอดภัย ก่อนนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อผลักดันหน่วยงานราชการ องค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันปฏิบัติให้เกิดผลด้านอาหารปลอดภัยของจังหวัดพิษรุโลกต่อไป