เวลา 09.00 น. วันที่ 29 ตุลาคม 2556 ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิษณุโลก ศาลากลางพิษณุโลก นายชาญ ศรีสุนันท์ อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 150 ม.7 บ้านแก่งคันนา ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เดินทางมาพบนาย นายรณชณก คลังสมบัติ หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิษณุโลก เพื่อร้องเรียนกรณีที่ดินสปก.ของนายเล็ก ศรีสุนันท์ อายุ 78 ปี อยู่บ้านเลขที่ 53 ม.7 ต.คันโช้ง บิดาของนายชาญ ที่ได้รับสปก.เมื่อปี 2541 มีเนื้อที่ 20 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา แต่ที่ดินครั้งหลังสุดที่สลักด้านหลัง กลับเหลือที่ดินแค่ 4 ตารางวา หรือ 0-0-4 ไร่
นายชาญ ได้นำใบสปก.แปลงเลขที่ 5 ให้ศูนย์ดำรงธรรมตรวจสอบ ระบุผู้ครอบครองคือนายเล็ก ศรีสุนันท์ อายุ65 ปี ( ปัจจุบันอายุ 78 ปี ) บ้านเลขที่ 53 ม. 7 ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เนื้อที่ 20 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ออกให้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2541 ขณะที่ด้านหลัง มีการสลักหลังเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2557 ในการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ได้แบ่งหักเป็นพื้นที่นอกเขตปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ 20 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวา ทำให้ที่ดินสปก.ของนายเล็กคงเหลือ 0 ไร่ 0 งาน 4 ตารางวา เท่านั้น
นายชาญ ได้ชี้แจงต่อศูนย์ดำรงธรรมพิษณุโลกว่า ที่ดินแปลงนี้นายเล็ก พ่อของตนได้เข้ามาทำกินนานแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2529 และเมื่อปี 2541 ก็ได้ใบสปก.มา และพ่อก็เริ่มแก่ลง มอบที่ดินให้ตนทำกินต่อ ช่วงสมัยนายกทักษิณมีนโยบายส่งเสริมการปลูกยาง ตนก็นำเอกสารสปก.ใบนี้ เข้ารับการสนับสนุนกล้ายางในโครงการส่งเสริมปลูกยางพารา 1 ล้านไร่มา และปลูกในเนื้อที่ 10 ไร่ มาได้เกือบ 10 ปีแล้ว ปัจจุบัน ก็ได้กรีดยางพาราไปแล้ว 3 ปี เมื่อวานนี้ 28 ตุลาคม 2556 หลังจากตนยื่นเรื่องกับเกษตรอำเภอวัดโบสถ์ เพื่อขอรับสิทธิ์ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ และตรวจสอบเอกสารสปก.ได้บอกว่าตนหมดสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ปลูกยางพาราไม่ถึง 1 ไร่ ตนจึงสงสัยอย่างมาก ทำไมที่ดินที่สปก.เคยออกให้พ่อตนเมื่อปี 2541 เนื้อที่ 20 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา จึงมาเหลือแค่ 4 ตารางวา จะปลูกศาลพระภูมิยังไม่พอเลย และยังขาดโอกาสในการรับเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอีก
ขณะที่นายรณชณก ได้ตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น พบว่า ได้มีการกันพื้นที่ออกไปตั้งแต่ปี 2547 ได้แนะนำให้นายชาญไปพบปฏิรูปที่ดิน เพื่อขอรายละเอียดจากสปก.เองว่าดำเนินการขั้นตอนอย่างไร เมื่อกันพื้นที่สปก.ออกไป พื้นที่ด้านเอกสารทั้งป่าไม้และสปก.ก็จะต้องตรงกัน หากไปพบหน่วยงานต้นเรื่องแล้วคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถกลับมาร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิษณุโลกได้
ต่อมานายชาญได้เดินทางมาที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจ.พิษณุโลก พบกับนาย วิชาญ สมศรี ปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก เพื่อขอคำชี้แจงเรื่องจำนวนที่ดินที่หายไป และเหลือเพียงแค่ 4 ตารางวา นายวิชาญ ได้แจงว่า พื้นที่ต.คันโช้งอยู่ในโครงการปฏิรูปที่ดินเมื่อปี 2541 และได้มีการเดินสำรวจ และรังวัด พร้อมกับออกใบสปก.มอบให้ประชาชนในพื้นที่ไปแล้ว ต่อมา นโยบายสมัยนายสุวิทย์ คุณกิตติ กับให้ยึดถือแนวป่าไม้ จึงต้องมีการขีดเส้น แนวเขตของกรมป่าไม้ ซึ่งจะลากเป็นเส้นตรงยาว จึงทำให้ตัดตามแนวที่เคยเดินสำรวจแปลงทำกินของชาวบ้าน จึงต้องมีการดำเนินการออกสปก.ใหม่ ให้ตรงกับความเป็นจริง กรณีที่ดินของนายเล็ก บิดาของนายชาญ ที่เหลือ 4 ตารางวานั้น จะมีเอกสารใบสีขาวอีกใบหนึ่ง แนบไปกับใบสปก.ที่ถืออยู่ จะมีแนวรังวัดที่ดินที่ชัดเจน ได้แนะนำให้นายชาญ ไปหาเอกสารใบขาวมา ถ้าไม่เจอ ก็ให้ไปแจ้งความ เพื่อมายื่นขอที่ปฏิรูปที่ดินใหม่ได้ แต่ก็ต้องยึดตามแนวขีดของป่าไม้ คงมีเนื้อที่เหลือ 4 ตารางวา นอกจากนี้ ได้แนะนำให้นายชาญ ไปติดต่อที่ที่สำนักงานป่าไม้ เพื่อขอให้ป่าไม้รับรองการทำกิน นำใบรับรองไปยื่นขอใช้สิทธิ์รับเงินชดเชยช่วยเหลือยางพารา
นายวิชาญ สมศรี ปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า กรณีอย่างนี้เกิดขึ้นหลายที่ เช่น ที่ ม.9 ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน มีประชาชนในพื้นที่เคยสำรวจจะออกสิทธิ์สปก.ให้ 8 ราย แต่เมื่อยึดเส้นตามแนวของป่าไม้ ก็อยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดินไป แต่ประชาชนได้ปลูกยางมาแล้ว ก็มาทำเรื่องขอหนังสือรับรองการปลูกยางพาราจากปฏิรูปที่ดิน เพื่อขอใช้สิทธิ์ในการรับเงินช่วยเหลือยางพาราจากภาครัฐ
ขณะที่นายชาญ ศรีสุนันท์ หลังจากเดินทางมาร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมและปฏิรูปที่ดินจ.พิษณุโลกแล้ว ได้เดินทางกลับด้วยสีหน้าผิดหวังอย่างมาก เพราะถึงแม้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ตามกฎหมายแล้ว ที่ดินแปลงนี้ก็ยังคงมีเนื้อที่แค่ 4 ตารางวาเท่านั้น แต่ก็ได้เดินทางไปประสานกับสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 พิษณุโลก ได้รับคำแนะนำว่า ให้ชาวบ้านรวบรวมรายชื่อคนที่มีปัญหากรณีอย่างนี้ เพื่อนำเสนอต่อผู้ใหญ่ให้พิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่ ในการใช้สิทธิ์รับเงินช่วยเหลือด้านยางพารา