ความงามในจิตใจที่อาจไม่ได้เริ่มจากการมองเห็นของ โยชิมิ โฮริอุจิ สาวพิการตาบอดชาวญี่ปุ่นวัย 30 ปี ชาว อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ที่มุ่งมั่นใช้หนังสือของคนตาดีสร้างปาฎิหาริย์ที่เธอเองเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าหนังสือสร้างโลกใบใหม่ให้เด็ก ๆ ได้ โดยเฉพาะเด็กที่ขาดโอกาสเป็นคนชายขอบที่ครั้งหนึ่งเธอเองก็รู้สึกอย่างนั้น ในฐานะผู้พิการ ที่ต้องเป็นภาระของคนตาดีทั้งหลาย ต้องพาเธอผ่านการใช้ชีวิตระหว่างวัน ด้วยแรงบันดาลใจจากการได้รับน้ำใจจากผู้คนทำให้โยชิมิก้าวข้ามข้อจำกัดทั้งปวงทั้งจากการเป็นคนตาบอด การช่วยเหลือตัวเองอย่างมาก แม้การเดินทางไปรับหนังสือ นำหนังสือไปให้เด็กด้อยโอกาส หาทุน สร้างทีมงาน สร้างเครือข่ายเรียนรู้ที่จะปรับตัวทุกรูปแบบ กว่า 10 ปีแห่งการทำงาน ภายใต้ชื่อ โครงการคาราวานหนอนหนังสือ Always Reading Caravan เป็นบทพิสูจน์เล็ก ๆ ของหญิงตาบอดคนนี้ที่มาสร้างตำนานห้องสมุดเคลื่อนที่เพื่อเด็กด้อยโอกาส
แนวทางของการทำงานของโครงการคาวานหนอนหนังสือไม่เคยจำกัดที่ตัวเองแต่มีเงื่อนไขสำคัญคือต้องเป็นหมู่บ้านห่างไกลความเจริญไม่มีห้องสมุด หน้าที่คาราวานคือต้องนำหนังสือเข้าไปให้ถึงที่ พร้อมกับทีมกิจกรรมทั้งในโรงเรียนและบ้านเด็กพิการแบบถึงลูกถึงคนเต็มเปี่ยมไปด้วยรูปแบบที่ถูกคิดและออกแบบทั้งหนังสือและสื่อ ที่ไม่เคยเน้นกลุ่มเป้าหมายให้มากเกินกำลังแต่ต้องสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้หนังสือของเธอไปทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบตามที่ต่าง ๆ ตั้งแต่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าปากเกร็ด ศูนย์อพยพในกรุงเทพฯ มุ่งสู่ห้องสมุดชุมชนในจังหวัดสุพรรณบุรี ก้าวไกลไปถึงบนดอยในอำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ เข้าไปจนถึงบ้านของคนพิการในชุมชน ห้องสมุดรังไหมที่อยู่ของหนอนหนังสือที่โยชิมิตั้งชื่อ จึงเกิดขึ้นและทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องจนมีแนวร่วมทั้งในและต่างประเทศส่งเสริมให้การสนับสนุนทั้งทุนทรัพย์และหนังสือบริจาค โยชิมิรวบรวมข้อมูลข่าวสารเชื่อมโยงจัดการทุกอย่างและเชื่อเสมอว่าผู้บริจาคและคนทำงานร่วมกับเธอคือทีมที่มีความรู้สึกอย่างเดียวกัน มีเป้าหมายเพื่อให้หนังสือเป็นมากกว่าแค่กระดาษ ที่นอนรอคนมาหยิบอ่านการทำงานที่ต่อเนื่องส่งผลให้เธอเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชุมชนและระดับเครือข่ายคนตาบอดในระดับสากล โยชิมิเริ่มดำเนินการต่อยอดโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อคนตาบอดโดยเป็นผู้ประสานงานหลักให้คนตาบอดในพม่าได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้การใช้เครื่องมือทางด้าน ไอทีสำหรับคนตาบอดในประเทศที่มีความชำนาญ
จากเด็กสาวญี่ปุ่นตาบอดตัวเล็ก ๆที่ผูกพันกับหนังสือมีพ่อแม่อ่านให้ฟังจนเข้าสู่ชั้นมัธยมปลายได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยมาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ธรรมศาสตร์ มีโอกาสเดินทางไปทั่วประเทศไปเจอคนมากมายโดยเฉพาะคนด้อยโอกาสต่าง ๆ เธอก็มองว่าประเทศไทยราคาหนังสือแพงห้องสมุดไม่ทั่วถึง การได้เดินทางเห็นเด็กสมองพิการนอนนิ่งดูทีวีในจังหวัดหนึ่งก่อเกิดแรงมุมานะให้เธอคิดต่อว่า ถ้าเขาได้มีกิจกรรมอื่นนอกจากนอนดูทีวีเขาอาจดีขึ้น คู่สามีภรรยาตาบอดทั้งภาคเหนือของประเทศที่มาแสดงดนตรีให้เธอฟัง จนย้ำให้โยชิมิมั่นใจว่าเราทำอะไรได้ถ้าลงมือ เธอจึงคิดการเข้ามาเติมเต็มในฐานะคนที่สามารถทำได้และกลับมาประเทศไทยและลงมือดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
“ สิ่งที่ได้รับจากการทำงานเพื่อสังคมคือ… ความสุข การที่เราสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนคนหนึ่งให้ดีขึ้นได้ คือกำลังใจที่ดีที่จะทำให้เราดำเนินชีวิตต่อไป ในอีกด้านหนึ่งเรารู้สึกว่าการทำงานด้านนี้ มันสร้างความภูมิใจให้แก่เรา ซึ่งคนทั่วไปมักบอกว่า ‘แม้ว่าเขาเป็นคนตาบอด แต่เขาก็ยังช่วยผู้อื่นได้” แต่สำหรับเรามักจะบอกตัวเองว่า ‘เพราะว่าเราเป็นคนตาบอด เราจึงมีโอกาสที่จะทำงานเพื่อสังคม”
เป็นคำพูดของโยชิมิถือ เป็นเรื่องน่าสนใจที่หญิงตาบอดคนหนึ่งลุกขึ้นมาสร้างชาติเงียบ ๆ ผ่านภารกิจห้องสมุดเคลื่อนที่ยาวนานนับปีเธอทำไปแบบค่อยๆก้าวไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยบนความเชื่อที่เหนือความคิดใครหลายคน และที่สำคัญสิ่งที่ผมพบคือหนังสือสร้างความสุขให้เด็ก ๆ ได้จริง และมันค่อย ๆซึมเข้าไปทีละน้อยการอ่านและการส่งเสริมการอ่านเป็นเรื่องที่พูดกันไม่จบสิ้น เป็นกำลังใจให้เธอด้วยครับสำหรับ คาราวานหนอนหนังสือของโยชิมิผู้หญิงที่มอบของที่เธอไม่เคยได้เห็นแต่แต่สัมผัสได้ด้วยใจ
/////
“สุธีร์ เรืองโรจน์”