ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนิสิต อาจารย์และบุคลากรเป็นสำคัญ จึงจัดการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100 % ขึ้น เพื่อให้นิสิตและบุคลากรมหาวิทยาลัยเกิดความตระหนัก และเป็นการปลูกจิตสำนึกว่าทุกคนควรสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ และเป็นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
ทันตแพทย์ ดร.อนุพันธ์ สิทธิโชคชัยวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเพิ่มเติมว่า “หมวกนิรภัย” เป็นอุปกรณ์สำคัญในการลดความรุนแรงของการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะได้เป็นอย่างดี และจากการศึกษาข้อมูลทางสถิติพบว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุผู้ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยจะได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ มากกว่าผู้ที่สวมหมวกนิรภัย 2-3 เท่า ทั้งนี้การรณรงค์การสวมหมวกนิรภัย 100 % ภายในมหาวิทยาลัย ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ได้จัดมาตรการ “ตรวจ จูง จด ตัด” ขึ้น เพื่อกระตุ้นเตือนให้ นิสิต อาจารย์และบุคลากร มหาวิทยาลัยนเรศวร สวมหมวกนิรภัยก่อนการขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เพื่อลดอาการบาดเจ็บทางสมองเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยมาตรการ “ตรวจ จูง จด ตัด” ดำเนินการใน 4 ขั้นตอน คือ “ตรวจ” เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดำเนินการเรียกบุคคลผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ “จูง” เดินลงจูงรถจักรยานยนต์ที่ตนเองขับขี่ไปยังจุดที่กำหนด“จด” จดบันทึกรายชื่ออาจารย์/บุคลากร/นิสิตผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ลงในแบบฟอร์ม “ตัด” งานส่งเสริมและพัฒนานิสิต กองกิจการนิสิต ดำเนินการบันทึกรายชื่อ ผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ลงในระบบฐานข้อมูลผู้ไม่สวมหมวกนิรภัย มหาวิทยาลัยนเรศวร หากผู้กระทำผิดเป็นอาจารย์/บุคลากร โดยพบว่ากระทำผิดตั้งแต่ 3 ครั้ง เป็นต้นไป ให้แจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัด และหากผู้กระทำผิดเป็นนิสิต พบว่ากระทำผิดตั้งแต่ 3 ครั้ง เป็นต้นไป จะดำเนินการตัดคะแนนพฤติกรรม 5 คะแนน หากตัดครบ 40 คะแนนถือว่าผิดวินัยร้ายแรง เห็นควรแต่งตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย และมีโอกาสพักการศึกษาต่อไป
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรมรณรงค์การสวมหมวกนิรภัยต่อเนื่อง เพื่อลดอุบัติเหตุภายนอกมหาวิทยาลัยเช่นกัน โดยจัดทำประกาศมหาวิทยาลัย ห้ามผู้ขับขี่ หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย เข้า-ออก ภายในมหาวิทยาลัย โดยเด็ดขาด ผู้ที่ผ่าฝืน จะถือมีความผิดและจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และประกาศของมหาวิทยาลัยจนถึงที่สุด อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎเกณฑ์กวดขันในเรื่องการสวมหมวกนิรภัย บางคนมองว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยเข้มงวดในการสวมหมวกนิรภัย ก็เพื่อรณรงค์ให้นิสิตและบุคลากรมีจิตสำนึกถึงความปลอดภัยของตัวเอง แน่นอนว่าหากยังคงสวมหมวกนิรภัย เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการถูก จับกุม มากกว่าการสวมหมวกนิรภัย เพื่อต้องการป้องกันขณะที่ขับขี่ การสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุยอมมีให้เห็นกันอยู่เรื่อยอย่างแน่นอน “ตราบใดที่ท่านยังไม่สูญเสียสิ่งที่รักไป นั่นหมายถึงว่า มันยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เพราะบางครั้งเงินที่เสียไปกับการซื้อหมวกนิรภัยเพียงไม่กี่บาท อาจคุ้มค่ากว่าการที่ต้องเสียไปกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการสูญเสีย”
แสดงความคิดเห็น