วันที่ 24 ตุลาคม 2556 นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก เข้าร่วมประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอบางระกำ ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ จังหวัดพิษณุโลก มีนายวิบูลย์ ตั้งเกษมวิบูลย์ นายกเทศมนตรีตำบลบางระกำเมืองใหม่ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.บางระกำให้การต้อนรับ
ระเบียบวาระการประชุมมีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เสนอให้ที่ประชุมทราบและเพื่อพิจารณา คือเรื่องการจัดการขยะของชุมชน ในอำเภอบางระกำ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่รับผิดชอบนำไปกำจัด แต่ได้เกิดปัญหาการนำขยะไปกำจัดนอกเขตพื้นที่รับผิดชอบโดยกำจัดไม่ถูกวิธี ทั้งในบ่อของตนเองและบ่อของเอกชน อีกทั้งมลพิษทั้งเรื่องกลิ่น น้ำเสีย ขยะที่ร่วงหล่นรายทาง รวมทั้งมีการปิดบ่อขยะทั้งของเทศบาลและของเอกชนหลายแห่ง ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประมาณ 20 แห่ง ที่อยู่ในเขตเมืองได้รับผลกระทบด้านการจัดการขยะ
นาย มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ขณะนี้ตนเองได้ดำเนินการประสานไปยังป่าไม้จังหวัดพิษณุโลก เพื่อจัดหาพื้นที่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรมมาเป็นที่กำจัดขยะโดยต้องมีการปลูกป่าทดแทน นอกจากนี้ อบจ.พิษณุโลกยังได้ให้มหาวิทยาลัยพะเยาจัดทำวิจัยในการกำจัดขยะในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกด้วย แต่สำหรับในเบื้องต้นนี้ อยากให้แต่ละครัวเรือน ช่วยกันคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง เช่น ขยะเศษอาหาร ขยะแห้งหรือขยะรีไซเคิล เช่น แก้ว กระดาษ และขยะที่มีพิษภัยอันตราย (ขยะอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยกันลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่โดยนำกลับมาใช้ซ้ำ อาทิ ขวดแก้ว กล่องกระดาษ หนังสือพิมพ์ หรือนำวัสดุอุปกรณ์ที่ชำรุดนำกลับมาซ่อมแซมให้ใช้งานต่อ แทนที่จะเอาไปทิ้ง อีกทั้งจะได้ฝึกการสร้างสรรค์ความคิด ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้ของใช้ชิ้นใหม่โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ นอกจากนี้ยังช่วยยืดอายุการทิ้งสิ่งของให้กลายเป็นขยะ หากสนใจทำ Recycle อย่างจริงจังแล้ว ก็สามารถทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้เพิ่ม หรือต่อยอดเป็นธุรกิจ SME ได้อีกด้วย ในส่วนระยะยาว ต้องเร่งหามาตรการลดปริมาณขยะที่แหล่งกำเนิดโดยให้ความรู้ในเรื่อง 3R ก็คือ Reduce คือ การลด ละ เลิก ใช้สิ่งของเครื่องใช้ที่ไม่จำเป็น, Reuse ก็คือเป็นการใช้แล้วใช้อีก ใช้กันเข้าไปจนกว่าจะหมดสภาพการใช้งาน และ Recycle ก็คือการนำไปเข้ากระบวนการหลอมละลาย แล้วขึ้นรูปใหม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับการคัดแยกขยะในครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง เรียกว่าเปลี่ยนวิกฤตเรื่องการหาสถานที่กำจัดขยะ มาเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดปริมาณขยะโดยเริ่มจากช่วยกันลดปริมาณขยะของทุกคนในครัวเรือน ซึ่งส่งผลถึงการลดปริมาณขยะของชุมชน ประเทศชาติ และลดปัญหาขยะล้นโลกได้ในที่สุด