”…พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นช่วงที่โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารใหม่ แล้วบังเอิญขุดพบอิฐเป็นจำนวนมาก…”
“…การบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวแล้ว พระราชวังจันทน์น่าจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้ด้วย…”
“…ผมจึงคัดค้านที่จะมีการก่อสร้างต่อเติม เรื่องนี้ทางโบราณคดีถือว่าไม่ใช่ข้อมูลลวง มันร้ายแรงกว่าข้อมูลลวง เป็นข้อมูลที่ถูกทำปลอมขึ้น…”
“…ซากโบราณสถานจะมีความหมาย จะมีคุณค่า เพราะคนสร้างคุณค่าให้กับมัน ถ้าไม่มีคน ซากโบราณสถานก็ไม่มีความหมาย ฉะนั้นการบูรณาการที่จำเป็นต้องคำนึงถึงคือ เรื่องการจะให้คนเข้ามาดูโบราณสถาน…”
“…พระราชวังจันทน์จะเป็นมรดกโลกเหมือนกับกำแพงเพชร สุโขทัย ศรีสัชนาลัยได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับชาวพิษณุโลก…”…ฯลฯ
ข้อความส่วนหนึ่งจากการบรรยายและลงพื้นที่ปฏิบัติการ ณ สถานที่จริง ของผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี พิพิธภัณฑ์ และศิลปะไทย เกี่ยวกับพระราชวังจันทน์ ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ สถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสถานที่ประทับขณะดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ซึ่งสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รวบรวบ ร้อยเรียง พร้อมให้ผู้สนใจได้ศึกษาอย่างเต็มอิ่มทาง
E-book http://www.mscs.nu.ac.th/mscsv2/index.php?name=page&file=page&op=ebook
และ Video http://www.youtube.com/watch?v=x6zkGQQwIGk&feature=c4-overview&list=UUJZWFd09jSNNtX-IMPO3Zvw
กับทุกข้อมูล หลักฐาน การวิเคราะห์ ข้อค้นพบ มุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของพระราชวังจันทน์ในฐานะราชสำนักเมืองพิษณุโลกในมิติทางด้านประวัติศาสตร์ ประวัติความเป็นมาของการขุดค้นทางโบราณคดี และข้อค้นพบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการศึกษาแนวทางการพัฒนาพระราชวังจันทน์ในมิติของการเป็นพิพิธภัณฑ์ การจัดศูนย์การเรียนรู้ ตลอดจนการผลักดันพระราชวังจันทน์เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก
โครงการพระราชวังจันทน์ : สถานภาพ องค์ความรู้ รูปลักษณ์สัณฐาน จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร และพระราชวังจันทน์ โดยการระดมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรวบรวม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ อันนำไปสู่การบริหารจัดการและการพัฒนาพระราชวังจันทน์ ประกอบด้วยอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, รองศาสตราจารย์ ดร.สมคิด ศรีสิงห์, นางนาตยา กรณีกิจ, นายพีรพน พิสณุพงศ์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม
“สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาวินยังมีอีกหนึ่งโครงการสานต่องานพระราชวังจันทน์ คือ พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ปรากฏอยู่ในเอกสารชาวต่างประเทศ โดยการรวบรวมผลงาน เชิญบุคคลสำคัญที่ได้ศึกษาเรื่องราวของพระนเรศวรมหาราชในหลักฐานของประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา มาบรรยาย รวบรวมให้เห็นว่า ภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในมุมมองของชาวต่างชาติเป็นอย่างไร ตลอดจนนำเสนอให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างบทบาททางเศรษฐกิจ สังคมและการค้าของยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีต่อการพัฒนาสังคมในสมัยอยุธยา และมีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างไร” ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงการดำเนินงานขั้นต่อไป ตามนโยบายของศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่กล่าวไว้ในวันเปิดโครงการพระราชวังจันทน์ : สถานภาพ องค์ความรู้ รูปลักษณ์สัณฐานว่า
“ผมได้มอบนโยบายให้ทางสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน สืบสานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและขยายวงออกไปให้กว้างไกลที่สุด ด้วยหวังว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญและฟื้นฟูพระราชวังจันทน์ ให้เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ เป็นสิ่งผูกมัดหัวใจของคนไทยทุกคนให้สมานฉันท์”
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร