ไม่เอาบ่อฝังกลบขยะของเทศบาลวังทอง

ดินทองไม่เอาขยะ02ปัญหาการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของจ.พิษณุโลก ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังและรอวันแก้ไข นับแต่ 15 กันยายน 2556 เป็นต้นมา ชาวต.บึงกอก อ.บางระกำ ไม่ให้ขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 20 แห่ง นำขยะไปทิ้งที่สถานีกำจัดขยะของเทศบาลนครพิษณุโลกที่ต.บึงกอก ส่งผลให้อทป.ทุกแห่ง ต้องติดต่อหาสถานที่กำจัดขยะชั่วคราว โดยไปขอร้องทิ้งขยะจากอำเภอและจังหวัดอื่น และอปท.หลายแห่งพยายามดำเนินการหาสถานที่จัดการขยะของตนเอง ในวันที่ 19 กันยายน 2556 ที่วัดกกไม้แดง ม.8 ต.ดินทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เทศบาลตำบลวังทอง ได้ร่วมกับอำเภอวังทอง สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 อบต.ดินทอง จัดประชุมประชาพิจารณ์ขอความเห็นจากชาวต.ดินทอง ในการที่เทศบาลตำบลวังทอง จะขอกลับมาใช้บ่อกำจัดขยะของเทศบาลตำบลวังทอง ที่อยู่ในพื้นที่ม.4 ต.ดินทอง อีกครั้งหนึ่ง หลังจากถูกปิดไปเมื่อปี 2553 เนื่องจากการจัดการไม่ได้มาตรฐานและชาวบ้านได้รับผลกระทบ โดยเชิญชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ใน 4 หมู่บ้าน ของต.ดินทอง มาร่วมแสดงความคิดเห็น มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน

ดินทองไม่เอาขยะ03

นายณัฐวัชร  เนตรแก้ว ปลัดเทศบาลตำบลวังทอง ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศบาลตำบลวังทอง เปิดเผยว่า เทศบาลตำบลวังทองได้ซื้อที่ดินบริเวณม.4 ต.ดินทอง จำนวน 26 ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดการขยะของเทศบาลตำบลวังทองมานานานแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นสุขาภิบาลวังทอง และดำเนินการเรื่อยมาโดยมีขยะของเทศบาลตำบลวังทอง อบต.วังทอง โรงพยาบาลวังทองอบต.วังนกแอ่น และจากค่ายพระบรมไตรโลกนารถไปจัดการทิ้งเฉลี่ยวันละ 3.7 ตัน และมีปัญหาเมื่อปี 2553 เมื่อมีการตรวจสอบสถานที่ทิ้งขยะของเทศบาลตำบลวังทองไม่ถูกสุขลักษณะ จึงถูกสั่งไปปิดไป ขยะทั้งหมดของเทศบาลตำบลวังทองวันละ 2.5 ตัน จึงไปหาสถานที่ทิ้งขยะของบ่อเอกชนที่ต.วังน้ำคู้ และเมื่อกลางปี 2556 บ่อเอกชนก็ถูกสั่งปิดอีก จึงไปพึ่งเทศบาลนครพิษณุโลกนำไปทิ้งที่สถานีกำจัดขยะเทศบาลนครพิษณุโลกที่ต.บึงกอก และถูกชาวต.บึงกอกต่อต้านอีก ปัจจุบัน ต้องอาศัยไปทิ้งขยะชั่วคราวกับเทศบาลตำบลสากเหล็ก อ.สากเหล็กจ.พิจิตร

บ่อขยะของเทศบาลวังทอง01
สภาพบ่อทิ้งขยะของเทศบาลตำบลวังทอง ที่ม.4 ต.ดินทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก อดีตมีขยะเต็มไปหมด ถูกสั่งปิดเมื่อปี 2553 ปัจจุบันถูกกลบด้วยดินและมีการขุดบ่อน้ำเพิ่มเติม 19 กันยายน 2556

นายณัฐวัชร เผยต่อว่า เมื่อทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหา และเทศบาลตำบลวังทองเองมีที่ดินอยู่ที่ม.4 ต.ดินทอง ในอดีตแม้ว่าการทิ้งขยะจะไม่ถูกสุขลักษณะ แต่หลังเกิดปัญหา ทางผวจ.พิษณุโลกได้ให้งบประมาณ 3.5 ล้านบาทมาดำเนินการปรับปรุงระบบบ่อขยะใหม่ ระบบระบายน้ำ ระบบ่อผึ่ง และได้ดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับทำแผนในการแก้ไขปัญหาขยะในเขตเทศบาลตำบลวังทอง ได้แก่ ขยะที่จะนำไปทิ้งที่ม.4 ต.ดินทอง จะเป็นขยะของเทศบาลตำบลวังทองเท่านั้น พร้อมทั้งขยะของอบต.ดินทองด้วย กำหนดมาตรการคัดแยกขยะในครัวเรือน มีเป้าหมายนำขยะไปกำจัดไม่เกิน 1.5-2 ตันต่อวัน ดำเนินการจัดหางบประมาณจัดหาผ่ายางกันน้ำชะขยะไหลลงสู่ผิวดิน เร่งดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2556 ดำเนินการฝังกลบขยะตามหลักสุขาภิบางอย่างร้อย 2 ครั้งต่อเดือน ตรวจคุณภาพน้ำในคลองสาธารณะบริเวณรอบบ่อฝังกลบขยะจำนวน 1 ครั้งต่อปี ตั้งงบประมาณทำโครงการศึกษาวิจัยผลกระทบจากการดำเนินการจำกัดขยะ เขียนโครงการขอรับงบสนับสนุนโครงการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจร โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ และจัดทำแผนพัฒนาเร่งด่วนในการพัฒนาบ่อฝังกลบขยะต่อเรื่อง

บ่อขยะเทศบาลวังทอง02
สภาพบ่อทิ้งขยะของเทศบาลตำบลวังทอง ที่ม.4 ต.ดินทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก อดีตมีขยะเต็มไปหมด ถูกสั่งปิดเมื่อปี 2553 ปัจจุบันถูกกลบด้วยดินและมีการขุดบ่อน้ำเพิ่มเติม 19 กันยายน 2556

ทั้งนี้ ในที่ประชาพิจารณ์หลังจากเทศบาลตำบลวังทอง สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 ได้ชี้แจงถึงปัญหาการจัดการขยะและการวางแนวทางในการจัดการบ่อฝังกลบขยะในม.4 ต.ดินทองแล้ว ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนต.ดินทองได้แสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้นำชาวบ้านในพื้นที่ ได้แสดงความเห็นว่าเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากกลิ่น แมลงวัน และน้ำเสีย ที่จะไหลลงสู่ลำคลองสาธารณะ เนื่องจากสถานที่ตั้งของบ่อกำจัดขยะของเทศบาลตำบลวังทอง อยู่ติดเชิงเขา ลักษณะเป็นพื้นที่ลาดชัน มีลำคลองสาธารณะไหลผ่าน ชาวบ้านเกรงว่าจะได้รับกระทบเรื่องน้ำเสียด้วย และในช่วงท้ายของเวทีประชาพิจารณ์ ได้สอบถามความเห็นจากที่ประชุม เสียงส่วนใหญ่ คัดค้านที่เทศบาลตำบลวังทอง จะมาขอเปิดบ่อกำจัดขยะในม.4 ต.ดินทองอีกครั้งหนึ่ง

 

หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวต.ดินทองในวันนี้ และได้ข้อสรุปว่าชาวต.ดินทอง ไม่เห็นด้วย เทศบาลตำบลวังทองได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขอทิ้งขยะที่เทศบาลต.สากเหล็กไปก่อน และจะไปดำเนินการขอร้องให้หน่วยงานระดับสูง จ.พิษณุโลก อบจ.พิษณุโลก สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 ดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

 

 

แสดงความคิดเห็น