ที่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 7 จังหวัดพิษณุโลก ได้จัดทำโครงการ อาชาบำบัดขึ้นเพื่อ มาใช้พัฒนา ทางด้านการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเด็กออทิสติกที่มาเรียน ที่ศูนย์ฯ จำนวนกว่า 40คน และหลังจากประสพผลได้มีการต่อยอดจัดหาม้ามาให้เด็กเพิ่มขึ้น จากเดิม 1 ตัว มาเป็น 3 ตัว เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนเด็ก
โดยนาย นายนพพล เล็กพันธุ์ อาจารย์ดูแลควบคุมอาชา กล่าวว่า ทางศูนย์ฯได้นำโครงการ อาชาบำบัด หรือการนำม้ามาช่วยในการบำบัด เด็กออทิสติกหรือเด็กพิเศษ เมื่อได้ประมาณ 3 ปี หลังจากที่ได้ไปดูงานเรื่องการใช้อาชาบำบัดและ ศึกษางานวิจัยที่สนับสนุนให้เห็นถึงผลดีของอาชาบำบัดมากพอสมควร โดยมักได้ผลดีกับเด็กพิเศษกลุ่มที่มีความผิดปกติด้านระบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น โรคสมองพิการ นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ในการบำบัดกลุ่มเด็กออทิสติกที่มีปัญหาทางด้านการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน เพราะการอยู่บนหลังม้าได้ดี จะต้องมีการทรงตัวที่ดี มีสัมผัสที่แนบแน่นกับตัวม้า คือขาต้องหนีบไว้ข้างลำตัวม้าตลอด และมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการขี่ม้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นทักษะที่ได้เพิ่มขึ้นจากการขี่ม้าโดยอัตโนมัติ อีกทั้งจังหวะการก้าวย่างของม้าใกล้เคียงกับจังหวะการก้าวเดินของมนุษย์ เมื่อเด็กพิเศษได้มีโอกาสนั่งบนหลังม้า ก็เปรียบเสมือนกับการได้ฝึกเดินด้วยตัวเอง นอกจากนี้การนั่งบนหลังม้า ยังเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เพราะต้องขยับอิริยาบถตลอดเวลา ซึ่งสามารถช่วยลดอาการเกร็งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เสมือนการทำกายภาพบำบัดรูปแบบหนึ่ง ที่ผ่านมาการพัฒนาของเด็กพิเศษที่เข้าร่วมโครงการกว่า 40 คน ก็ได้ผลดีมีสมาธิ และการควบคุมร่างกายดีขึ้น
ในเรื่องความปลอดภัยก็จะใช้ครูถึงสองคนในการดูแลพาเด็กนั่งบนหลังม้าและเดินไปรอบ วันละ 1 รอบ ประมาณ10 นาที
ด้าน นางศิรินาถ ยิ้มประดิษฐ์ อายุ 39 ปี แม่ของ ด.ญ.รวิศรา ยิ้มประดิษฐ์ หรือ น้องปาร์ตี้ อายุ6 ขวบ หนึ่งในเด็กที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า หลังที่น้องเข้าร่วมโครงการก็รู้สึกว่าสมาธิดีขึ้นและการเคลื่อนไหวร่างกายก็ดี อีกทั้งน้องยังชอบที่ได้ขี่ม้าอีกด้วย