ที่โรงพยาบาลรัตนเวช อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายแพทย์เกษม เวชคุปต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัตนเวช และ นายแพทย์สมชาย โลห์เลขา ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลรัตนเวช ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนถึงเรื่องกรณีที่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ(BBGH) ได้เข้ามาซื้อหุ้นของโรงพยาบาลรัตนเวช และจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลก จำกัด โดยเข้าซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท โรงพยาบาลรัตนเวช ได้แก่ โรงพยาบาลเด็กรัตนเวช และโรงพยาบาลรัตนเวช 2 โดยกรุงเทพพิษณุโลกจะรับโอนมาซึ่งทรัพย์สินและหนี้สินทั้งปวงของรัตนเวช ณ วันรับโอนกิจการโดยคำนวณเป็นมูลค่ารวมของราคาซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมดเป็นเงินประมาณไม่เกิน 577 ล้านบาท โดยจะชำระเป็นเงินสด ซึ่งการตรวจสอบสถานะคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.56นายแพทย์เกษม เวชคุปต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัตนเวช เปิดเผยว่า ทางบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ(BBGH) ได้เข้ามาติดต่อกับทางรัตนเวช ว่าสนใจในธุรกิจโรงพยาบาลรัตนเวช ทางคณะกรรมการผู้ถือหุ้นก็ได้มาพิจารณาและตกลงที่จะขายหุ้นของบริษัท รัตนเวช จำกัด เพรามีเป้าหมายตรงกัน คือต้องการขยายการบริการทางการแพทย์ให้มีศักยภาพมากขึ้น ให้การบริการทางการแพทย์ในส่วนภูมิภาค มีประสิทธิภาพเท่ากับการรับบริการจากโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ในส่วนกลาง เนื่องจากศักยภาพการบริการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และการรักษามีความซับซ้อนมากขึ้น โรงพยาบาลรัตนเวชทำได้ระดับหนึ่งในการบริการคนไข้ในพิษณุโลก แต่ก็ไม่สามารถให้บริการแบบครบวงจรได้ คนไข้ส่วนหนึ่ง ยังคงต้องเข้าไปใช้บริการต่อที่โรงพยาบาลจากส่วนกลาง
โดยจะเป็นลักษณะการร่วมทุนกัน หลังจากที่ได้เงินมาแล้วทางคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นของโรงพยาบาลรัตนเวชส่วนใหญ่ทั้ง 49 ราย ก็จะนำเงินที่ได้ไปซื้อหุ้นของบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ อีกที ด้วยมูลค่าหุ้น 600 ล้านบาท โดยจะถือหุ้นในสัดส่วน บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ 70 % คณะกรรมการของรัตนเวช 30 %
นายแพทย์เกษม เผยต่อว่า ที่ต้องทำอย่างนี้ก็เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัตนเวชให้สามารถบริการได้ดีมากขึ้น ให้เป็นแบบ one stop survice เมื่อมารักษาที่โรงพยาบาลแล้วไม่ต้องส่งไปรักษาที่อื่นต่อ เพราะหลังจากนี้ก็จะมีการขยายศักยภาพทั้งเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการรองรับเรื่องของการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ AEC จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพราะอีกหน่อยจะมีคนจากเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามามากมาย เรื่องของการรักษาสุขภาพก็จะเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งจังหวัดพิษณุโลกถือเป็นศูนย์กลางสี่แยกอินโดจีนและถือเป็นเมืองหน้าด่านในภาคเหนือตอนล่างส่วนประเด็นเรื่องค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ได้มีการพูดคุยกันแล้วว่าต้องให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะจริงๆที่ผ่านมาการดำเนินการธุรกิจของโรงพยาบาลของโรงพยาบาลรัตนเวชเอง ก็กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ไม่ได้มีการขาดทุนแต่อย่างไร เพียงแต่สิ่งที่รพ.รัตนเวชอยากจะทำ ในการบริการให้ครบวงจร ไม่สามารถทำได้ ทั้งเงินลงทุนและบุคลากรทางการแพทย์ แต่เมื่อร่วมทุนแล้ว สามารถดำเนินการได้ทันทีในเวลาอันรวดเร็ว เช่น การรักษาผ่าตัดโรคหัวใจ รพ.รัตนเวชเองก็มีแผนที่จะดำเนินการ แต่ต้องใช้เวลา 3-5 ปี แต่เมื่อร่วมทุนกับรพ.กรุงเทพฯแล้ว สามารถดำเนินการได้ทันทีภายในระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น ดังนั้นเรื่องค่ารักษาพยาบาลก็ยังคงดูตามสภาพพื้นที่และค่อยๆปรับขึ้นตามศักยภาพและการบริการ แต่จะไม่ปรับแบบก้าวกระโดด ให้เหมาะสมกับผู้ใช้บริการในพื้นที่
รพ.รัตนเวช ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 ด้วยผู้ร่วมก่อตั้ง 8 คน ได้ตั้งบริษัท รัตนเวชจำกัด มีผู้ถือหุ้น 49 คน บริหารงานโรงพยาบาลเด็กรัตนเวช ขนาด 50 เตียง และโรงพยาบาลรัตนเวช 2 ขนาด 100 เตียง หลังจากร่วมทุนกับรพ.กรุงเทพแล้ว คาดว่า ภายใน 1 ปี จะพบกับรูปแบบของการบริการใหม่
สำหรับจังหวัดพิษณุโลก ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่อยู่ 4 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง เริ่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันมากขึ้น นอกจาก บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ(BBGH)ที่เข้าซื้อโรงพยาบาลรัตนเวช ก่อนหน้านี้ทางโรงพยาบาลอินเตอร์เวชการก็ได้ร่วมทุนกับโรงพยาบาลเครือธนบุรี และมีรายงานว่าทางโรงพยาบาลพิษณุเวช โรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ของจ.พิษณุโลก ก็เตรียมร่วมทุนกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการรักษาพยาบาลและต่อยอดธุรกิจในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ที่กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลให้ความสนใจพิษณุโลก เพราะตลาดพม่าถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่ม เพราะพม่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง โดย 2 ปีที่ผ่านมา คนไข้จากพม่าบินเข้ามาใช้บริการในไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเองนั้น ก็มาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดพิษณุโลกจำนวนมาก