วันที่ 26 มิถุนายน 2556 หลังจากมีการตรวจสอบพบศูนย์ปฏิบัติธรรมขันติบารมี บ้านแก่งเจ็ดแคว ซึ่งเป็นวัดสาขาของหลวงปู่เณรคำ สาขาที่ 89 ตั้งอยู่ที่ หมู่ 10 ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เนื่องจากนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาทุกจังหวัด ตรวจสอบสาขาของวัดป่าขันติธรรม ทั่วประเทศ ว่ามีการเปิดเป็นวัด หรือสำนักสงฆ์ถูกต้องหรือไม่ โดยเมื่อช่วงวานที่ผ่านพบว่าศูนย์ปฏิบัติธรรมขันติบารมี บ้านแก่งเจ็ดแคว กลับไม่มีพระภิกษ์มาอยู่แต่อย่างใด
นายบุญเรือง แตงก่อ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า หลังจากทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ทุกจังหวัดตรวจสอบสาขาของวัดป่าขันติธรรมนั้น เบื้องต้นตนเองก็ทราบแต่เพียงว่ามีอยู่ในจังหวัดพิษณุโลกเช่นกัน แต่ไม่ทราบว่าอยู่ในพื้นที่ใด จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วัดโบสถ์ เข้าไปตรวจสอบก็พบว่าอยู่พื้นที่ ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพิษณุโลก ได้ตรวจสอบก็พบว่าศูนย์ปฏิบัติธรรมขันติบารมี บ้านแก่งเจ็ด นี้เป็นเพียงที่พักสงฆ์เท่านั้น ยังไม่ใช่สำนักสงฆ์ หรือวัดแต่อย่างใด อีกทั้งที่วัดป่าขันติธรรม จ.ศรีษะเกษ ก็ยังเป็นเพียงแค่สำนักสงฆ์เท่านั้น ทำให้สาขาทุกแห่งทั่วประเทศ จะไม่ใช่วัดแต่อย่างใด
นายบุญเรือง กล่าวอีกว่าตนเองจะเข้าไปตรวจสอบที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมขันติบารมี บ้านแก่งเจ็ด อีกครั้งว่ามีการดำเนินการขออนุญาตดำเนินการก่อตั้งสำนักสงฆ์ หรือวัดหรือไม่ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวในอยู่พื้นที่ สปก. หรือ เขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ หากว่าก่อสร้างในพื้นที่ผิดก็จะต้องดำเนินให้พระภิกษุที่อาศัย กลับให้หมด แต่เบื้องต้นตนเองยังไม่ทราบว่ามีพระสงฆ์อาศัยอยู่ในศูนย์ปฏิบัติธรรมขันติบารมี แต่อย่างใด
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) จังหวัดพิษณุโลก
เปิดเผยว่า ที่ดินของสำนักสงฆ์เณรคำ สาขาที่ 89 ตั้งอยู่บนหมู่ 10 ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลกอยู่ในเขตที่ดินของสปก.จริง โดยชาวบ้านซึ่งเป็นผู้หญิงในพื้นที่รายหนึ่งขอสละสิทธิ์ที่ดินถือครองสปก.จำนวน 15 ไร่ และมอบให้ทางสำนักสงฆ์เณรคำ โดยทางสำนักสงฆ์ทำเรื่องผ่านขั้นตอนอย่างถูกต้องจากสำนักพุทธศาสนาจังหวัดพิษณุโลก ทำให้ สปก.จึงดำเนินการแบ่งแปลงที่ดินและเตรียมรังวัดออกเอกสารที่ดินดังกล่าว เพียงแต่เวลานี้ อยู่ในระหว่างพิจารณาขั้นตอนผ่าน คณะกรรมการระดับอำเภอและระดับจังหวัดเท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่สามารถรื้อถอนกุฎิได้
/////
แสดงความคิดเห็น