จากตำนานการหล่อองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชที่ปรากฏในพงศาวดารเหนือ ที่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เจ้าเมืองเชียงแสน โปรดให้มีการหล่อพระพุทธรูป 3 องค์ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา แต่พระพุทธชินราชหล่อไม่สำเร็จ ทองแล่นไม่สมบูรณ์ถึง 3 ครั้ง ต่อมาได้มีชีปะขาวมาทำการหล่อจึงสำเร็จสมบูรณ์ ก่อนที่จะเดินหายไปที่บริเวณวัดตาปะขาวหายในปัจจุบัน
ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี แต่ตำนาน ตาปะขาว หรือ ชีปะขาว ที่มาทำพิธีหล่อพระพุทธชินราชยังคงฝังใจชาวจังหวัดพิษณุโลก ก่อให้เกิดช่างปั้น ช่างหล่อ หรือ คนทำพระพุทธรูป ที่มีชื่อเสียงประดับประเทศหลายต่อหลายคน และแต่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
นายประสาน กลิ่นรอด อยู่บ้านเลขที่ 57/2 หมู่ที่ 2 ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นอีกผู้หนึ่งที่หลงใหลงานฝีมือด้านการปั้นพระพุทธรูป ด้วยเกิดจากครอบครัวที่คลุกคลีกับงานหล่อพระมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับเป็นหลานชายของนายสมาน กลิ่นรอด เจ้าของโรงงานหล่อพระปฏิมากรรรม จ.พิษณุโลก และกำนันหม่น หรือ กำนัน นิวัฒน์ กลิ่นรอด เจ้าของโรงงานหล่อพระ อนุรักษ์ไทย จ.พิษณุโลก ปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้ว หลังเรียนจบ ม. 6 นายประสานได้หันมาฝึกฝนการปั้นพระพุทธรูปอย่างจริงจัง กับกำนันหม่น ผ่านไปกว่า 30 ปี ทำให้นายประสานเป็นช่างมือเอกของโรงงานอนุรักษ์ไทย และเป็นช่างที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก
นายประสาน กลิ่นรอด บอกว่า ตนเองเกิดที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นเมืองของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ หลวงพ่อพระพุทธชินราช ในวัยเด็กจำได้ว่าพ่อและแม่ได้พาตนเองและครอบครัวไปสักการะองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราช เมื่อเขาไปในวิหารและมองเห็นองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชที่สวยเด่นงามสง่าอยู่ในวิหาร รู้สึกประทับใจใน พุทธลักษณะที่งดงามแตกต่างจากพระพุทธรูปทั่วไป จึงทำให้เกิดเป็นแรงบันดานใจในการที่อยากจะเป็นช่างปั้นพระพุทธรูปตั้งแต่นั้นมา
จะเห็นได้ว่าจากแรงบันดานใจเล็กๆประกอบกับการใฝ่รู้ของนายประสานที่อยากจะเป็นช่างปั้นพระ หรือ ช่างทำพระ ในวัยเด็ก ทำให้ทุกวันนี้นายประสาน กลิ่นรอด เดินทางสายคนทำพระอย่างเต็มตัวและเป็นช่างปั้นพระชาวบ้านที่มีฝีมือระดับอาจารย์คนหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก
ภูรินท์ แก่นเพิ่ม/รายงาน