โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 96 หมู่ที่ 1 บ้านห้วยกอก ตำบลห้วยเฮี้ย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก (จิ๋ว) ที่เป็นโรงเรียนพื้นที่พิเศษตามประกาศกระทรวงการคลังและจังหวัดพิษณุโลก พื้นที่มีลักษณะเป็นภูเขาโอบล้อม มีความยากลำบากในการคมนาคม ขาดแคลนสาธารณูปโภค ด้านน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด พื้นที่มีความชุกชุมของโรคภัยไข้เจ็บ มีเขตบริการหมู่บ้านเดียวคือบ้านห้วยกอก มีจำนวน 80 หลังคาเรือน ประชากร 419 คน เป็นชุมชนเล็กๆ มีน้ำตก และแก่ง ลำน้ำ รอบหมู่บ้าน
โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนามีบุคลากร จำนวน 7 คน ประกอบด้วย 1) ผู้อำนวยการโรงเรียน 2) ข้าราชการครู 3) ครูอัตราจ้าง (วิทย์-สพป.จ้าง) 4) ครูอัตราจ้าง (ชุมชนจ้าง) 5) ครูอาสา (ผู้รู้ในชุมชนอาสามาสอนโดยไม่ขอรับเงินเดือน) 6) ครูธุรการ และ7) นักการภารโรง ปีการศึกษา 2555 มีนักเรียน จำนวน 30 คน กับ 8 ชั้นเรียน ตั้งแต่ อนุบาล1 ถึง ป.6
เราจัดการศึกษาแบบคละชั้นเรียน เป็น 3 ห้อง 1) อนุบาล 2) ป.1-ป.3 และ 3) ป.4-ป.6 จัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ใช้การจัดการศึกษาผ่านดาวเทียมไกลกังวล/ ICT/ จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และอื่นๆ
ชุมชนจัดเวรให้แม่บ้านมาทำอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ วันละ 3 คน ขณะเดียวกันก็มาช่วยดูแลเด็กอนุบาล
เจ้าอาวาสวัดห้วยกอกมาช่วยสอนคุณธรรม จริยธรรม และภาษาจีน คณะกรรมการสถานศึกษาร่วมแรงร่วมใจนำโดย นายณรงค์ สิงห์ขรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน/ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา ทุกวันพระเราจะมีกิจกรรมจิตอาสาร่วมกันทำทั้งบ้าน วัด โรงเรียน
การจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนาที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นโรงเรียนพื้นที่พิเศษ มีความขาดแคลน ด้วยงบประมาณที่มีอยู่จำกัด (รายหัว) ประมาณ 8 หมื่นบาท/ปี (ตกไปวันละประมาณ 200 กว่าบาท)
ถามว่าเราจะทำอย่างไร เราไม่สามารถจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้โดยลำพังเหมือนโรงเรียนปกติทั่วไป
เราไม่ได้มองการจัดการศึกษาเพียงแค่เด็กในวัยเรียน แต่เราจัดการศึกษาเพื่อคนทุกคนในชุมชน เรามองการพัฒนาแบบองค์รวมไม่แยกส่วน เพราะถ้าชุมชนไม่เข้มแข็งเราก็ไม่สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้
เรามองการศึกษาคือชีวิต ถ้าจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ คุณภาพชีวิตก็ต้องดีด้วย จึงจะเรียกได้ว่าความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตามจุดมุ่งหมายปลายทางของการศึกษา
การผนึกกำลังร่วมแรงร่วมใจทั้งบ้าน วัด โรงเรียน เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียนจึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับการจัดการศึกษาทั้ง 3 ระบบ คือ 1) การจัดการศึกษาในระบบ 2) การจัดการศึกษานอกระบบ (เน้นอาชีพในชุมชน) และ 3) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย (เน้นภูมิปัญญา) เป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (ตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิต) เมื่อชุมชนเข้มแข็งปัญหาต่างๆ ก็จะลดน้อยลง
ความพยายามที่จะให้โรงเรียนคงอยู่และอยู่อย่างมีคุณภาพจึงเกิดขึ้นด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่หลากหลายและการจัดการศึกษาโดยชุมชนเพื่อชุมชน พลิกฟื้นวิกฤตการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก: กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา ในช่วงเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2552-พ.ศ. 2556) ที่เราได้ปฏิบัติโดยลำดับ ดังนี้
พ.ศ. 2552
-ชุมชนบ้านห้วยกอกร่วมกับนิสิตปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดค่ายอาสาพัฒนาชุมชน ปรับปรุงสนามตะกร้อ สนามเปตอง และมอบอุปกรณ์กีฬาให้กับนักเรียน
พ.ศ. 2553
-ชุมชนบ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในพิธีรับมอบจักรยาน ตามโครงการจักรยานให้ลูกรักครั้งที่ 2 ภายใต้ปณิธาน “วันพ่อปีนี้ขอทาดีให้กับแผ่นดิน” จากชมรมจักรยานกองบิน 46 ชมรมจักรยานในพิษณุโลก การสนับสนุนจากชมรมจักรยานทั่วประเทศไทย มอบจักรยาน อุปกรณ์กีฬา ทุนการศึกษามอบให้โรงเรียนในเขตพื้นที่ทุรกันดาร จำนวน 12 โรงเรียน
-ชุมชนบ้านห้วยกอก (วัดห้วยกอก บ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา) ร่วมกับคณะผู้บริหาร ครู บุคลากร และ นักเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 และการสนับสนุนจากบริษัทอาพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จากัด (AMPOL FOOD PROCESSING LTD.) บริษัทในเครือของ The Nation กรุงเทพธุรกิจ คม-ชัด-ลึก) รวมจำนวนผู้เข้าค่าย ประมาณ 350 คน จัดค่ายวัยใสใฝ่อาสา ปีที่ 2 โดยได้ร่วมกันพัฒนา บริเวณโรงเรียน ได้แก่ ซ่อมแซมโรงอาหาร จัดระบบหนังสือในห้องสมุด ทำความสะอาดห้องน้ำ จัดสวนย่อม ตัดหญ้าบริเวณรอบโรงเรียน จัดเรือนเพาะชำ ย้ายเสาธงและฐานพระพุทธรูปให้เหมาะสม บริเวณวัด ได้แก่ ซ่อมกุฏิเจ้าอาวาส โดยเปลี่ยนหลังคาหญ้าใหม่ ทำความสะอาดบริเวณวัด ตัดหญ้า ทำความสะอาดห้องน้ำ และบริเวณหมู่บ้าน ได้แก่ เก็บขยะมูลฝอยบริเวณหมู่บ้าน ตัดหญ้าบริเวณข้างทางเข้าหมู่บ้าน และท้ายหมู่บ้าน กวาดถนนหมู่บ้าน และทำความสะอาดบ้านที่นักเรียนเข้าไปพักนอนด้วย
พ.ศ. 2554
-ชุมชนบ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา ร่วมกับคณาจารย์และนักศึกษาชมรมธารน้ำใจ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก จัดค่ายอาสา ตามโครงการสร้างความรู้แด่น้อง โดย เพื่อสร้างเสริมความรู้ทางวิชาการด้านสุขภาพอนามัย มอบสื่อ และอุปกรณ์การเรียน และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ชุมชน และวิทยาลัย โดยได้ทำการปรับปรุงอาคารห้องสมุด สนามเด็กเล่น สนามกีฬา และปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในโรงเรียน อีกทั้งได้ให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขลักษณะ กิจกรรมฐานภาษาอังกฤษ การมอบสื่อ อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์การเรียน ทุนการศึกษา และอื่นๆ กับเด็กนักเรียน และชาวบ้าน นับว่าเป็นการทำคุณประโยชน์ ให้กับชุมชน และสังคม
-ชุมชนบ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนาร่วมกับคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กว่า 60 คน จัดค่ายสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อปรับปรุงอาคารให้เป็นห้องสมุดของชุมชน ใช้เวลาถึง 10 วัน
-ชุมชนบ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา ร่วมกับคณาจารย์และนิสิตปริญญาโทสาขาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กว่า 300 คน จัดกิจกรรมค่ายจิตอาสาตามโครงการเสริมสร้างความร่วมมือในการบำเพ็ญประโยชน์และการให้บริการแก่ชุมชนและสังคม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาทั้งชุมชนบ้านห้วยกอกมีกิจกรรมที่สำคัญได้แก่ ปรับปรุงพัฒนาบริเวณวัดห้วยกอก ทำความสะอาดบริเวณในหมู่บ้าน จัดทำสนามวอลเลย์บอล จัดทำสวนหย่อม ตกแต่งห้องเรียน ติดมุ้งลวดห้องสำนักงาน ปรับปรุงระบบห้องคอมพิวเตอร์ การปลูกผักสวนครัวในวงบ่อ กิจกรรมการถวายเทียนพรรษา ผ้าป่าสามัคคี และอื่นๆ
พ.ศ. 2555
-ชุมชนบ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา จัดพิธีทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อการศึกษาขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยบุคคลที่ทรงคุณค่าของจังหวัดพิษณุโลก จากสมาคมผู้เสียสละพิษณุโลก มูลนิธิพลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ มูลนิธิ รศ.ดร.มังกร ทองสุขดี รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ พล.ต.ท.วสันต์ วิสสานนท์ ผศ.สุพจน์ พฤกษะวัน ตัวแทนจากนักศึกษาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยพิษณุโลก (คุณครูบัว และเพื่อน) ตัวแทนจากนิสิตการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร คุณครูนพวรรณ พงษ์เจริญ พร้อมครอบครัว บริษัทเมืองทองอุตสาหกรรมอาลูมีเนียม จังหวัดสมุทรปราการ ผู้บริหารสถานศึกษา นาโดยนายปิยพันธุ์ พลัง ประธานเครือข่ายโรงเรียนอำเภอนครไทย ๙ นายเอกศักดิ ทองรัตน์ ประธานเครือข่ายโรงเรียนอำเภอนครไทย ๔ คุณครูสงกรานต์ คงปันนา โรงเรียนบ้านป่าคาย คณะผ้าป่าจากกรุงเทพ และชาวชุมชนบ้านห้วยกอกร่วมในพิธี โดยมีเจ้าอาวาสวัดห้วยกอกทาพิธีทอดผ้าป่าสามัคคี นายสมเดช สุดแก้ว รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมเป็นพิธีกรในพิธีการสงฆ์ และท่านผู้มีเกียรติอีกมากมายมิอาจกล่าวได้หมด ณ ที่นี้
-ชุมชนบ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา ร่วมกันสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ได้แก่ สร้างลานเอนกประสงค์ ห้องน้ำ โรงเรียนอาหาร โรงครัว ห้องเก็บของ เวทีรวมใจ ถนน สนามกีฬา ห้องประชุม ห้องคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ เพื่อการบริการในมิติที่หลากหลายบนฐานของการมีส่วนร่วม
-ชุมชนบ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสองแคว จัดค่ายปรับปรุงพัฒนาระบบไฟฟ้า ระยะที่ 1 จาก ปรับปรุงระบบไฟฟ้าในอาคารเรียนทั้งระบบ ติดตั้งโคมไฟฟ้า พัดลม ทั้งในอาคารเรียน และโรงครัว และกิจกรรมอื่นๆ
-ชุมชนบ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสองแคว จัดค่ายวิทยาลัยเทคนิคสองแคว พิษณุโลก ระยะที่ 2 กิจกรรมค่าย 1) ติดตั้งระบบไฟฟ้าในอาคารเรียน ห้องประชุม ห้องคอมพิวเตอร์ 2) ปรับปรุงระบบโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม 3) ปรับปรุง ทาสี สนามเด็กเล่น 4) บริจาคแอร์เพื่อติดตั้งในห้องคอมพิวเตอร์ (ยืดอายุการใช้งานของคอมพิวเตอร์) 5) กลุ่มนักศึกษาได้ทำการแสดงดนตรีเปิดหมวก เพื่อหางบประมาณในการจัดซื้อเครื่องกรองน้ำขนาดเล็ก วัสดุอุปกรณ์การเรียน และขนมแจกเด็ก และอื่นๆ
-ปัญญาชนคนรากหญ้า บ้านห้วยกอก มีวิธีคิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ จากประเด็นที่ว่า “พวกเราใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินไปจนทำให้มีสารพิษตกค้าง นับวันผลผลิตน้อยลงเพราะใช้ซ้ำๆ มากๆ ทำให้ดินเสีย น้ำที่เราใช้ดื่มก็ไม่ปลอดภัย ต้นทุนสูงขึ้นทุกปี เราจึงสร้างศูนย์การวิจัยการเกษตรชุมชน
-ผ้าป่าข้าวโพดรวมใจ แก้วิกฤติไม่มีงบจ้างครู โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนาวิกฤติ ขาดแคลนครู ครูที่ชุมชนจัดจ้างเหลืองบประมาณ 1 เดือน (เดือนละ 5,500 บาท) เงินน้อยมากๆ แต่คุณครูใช้ใจทำ ชุมชนเห็นการทำงานของคุณครูว่าคุณครูทำเพื่อลูกหลานของพวกเรา ผอ.เชิญประชุม ข้อตกลงที่ประชุมว่า เราจะรวมใจทำผ้าป่า ทุกคนเห็นพ้องต้องกันเราจะทำ “ผ้าป่าข้าวโพดเพื่อแก้ปัญหา”
-ชุมชนบ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา ได้รับเกียรติในพิธีรับโล่เกียรติคุณชุมชนต้นแบบคุณธรรมจริยธรรม โดยพลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน ให้เกียรติมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับชุมชนบ้านห้วยกอก ที่ได้รับการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม เน้นความร่วมมือร่วมใจ โดยบ้าน วัด และโรงเรียน (บวร) เป็นชุมชนต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงาน ขยายเครือข่ายในภาคเหนือตอนล่าง ภาคเหนือ และทั่วประเทศ (เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วขยายต่อในเชิงคุณภาพ) ผู้ที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้ ประกอบด้วย พระอธิการวุฒิพงษ์ กันฺตวีโร เจ้าอาวาสวัดห้วยกอก นายณรงค์ สิงห์ขรณ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยกอก ประธานกรรมการสถานศึกษา ดร.ณัฎฐ์ ชาคำมูล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา และนายบรรพต อินทร์ชู ครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา
พ.ศ. 2556
– “การเรียนรู้ไร้กรอบ ไม่มีชนชั้นของการเรียนรู้ ทุกคนทุกช่วงวัย สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้” โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา ชุมชนบ้านห้วยกอก ร่วมกับ กศน.อำเภอนครไทย ร่วมกันจัดการฝึกอบรมวิชาชีพชุมชน งานช่างปูน มีเยาวชน ผู้ปกครอง ให้ความสนใจ เข้าร่วมรับการฝึกอบรม
-ชาวห้วยกอกร่วมใจกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม รวมใจทำกิจกรรมจิตอาสา สร้างห้องน้ำ ลานอเนกประสงค์ เป็นกิจกรรมของสาธารณะประโยชน์ เพื่อส่วนรวม เราคิด เราสร้าง/ทำ เราใช้ และยินดีให้บริการสำหรับผู้คนที่มาเยือน
-ร้อยดวงใจชาว มน. ชาวห้วยกอก “เราคือครอบครัวเดียวกัน” ภาควิชาบริหารและพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับชุมชนบ้านห้วยกอก (บ้านห้วยกอก วัดห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา) ร่วมกันสร้างมิติใหม่ของการเรียนรู้สู่พื้นที่จริงภายใต้ “โครงการการบูรณาการรายวิชาการพัฒนาองค์การ การวิจัย และการบริการสังคม นำโดย รศ.ดร.ฉลอง ชาตรูประชีวิน รองคณบดีฝ่ายบริหารและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะศึกษาศาสตร์ ดร.อนุชา กอนพ่วง หัวหน้าภาควิชาบริหารและพัฒนาการศึกษา และนิสิตปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา ร่วมเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง การเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริงในเชิงบูรณาการ โครงการดังกล่าวส่วนหนึ่งตอบโจทย์มิติใหม่ของการเรียนรู้จากพื้นที่จริง (สอนให้น้อยแต่เรียนรู้ให้มาก)สัมพันธภาพ หุ้นส่วน เครือข่ายความร่วมมือระหว่างชาวมหาวิทยาลัยนเรศวร (คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต) กับชาวห้วยกอก (ชุมชนบ้านห้วยกอก คือ บ้าน วัด และโรงเรียน) โดยภาพรวมโครงการดังกล่าวก่อเกิดความรัก ความผูกพัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสามัคคี ความมีน้ำใจ การเสียสละ การให้ด้วยใจ การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน การเรียนรู้เพื่อความเป็นนักบริหาร การเรียนรู้เพื่อความเป็นผู้นำ และอีกมากมาย
-ชุมชนบ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา ได้รับโอกาสในการต้อนรับ กลุ่มคนอาสา คุณหมอ นิสิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กิจกรรมที่สำคัญ มีการอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพชุมชน เกม กิจกรรมสันทนาการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข กับพี่ๆ นิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร กิจกรรมแบ่งปันเพื่อน้อง มอบอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และบริจาคสิ่งของ เสื้อผ้า ให้กับเด็กๆ และชุมชน
-ชุมชนบ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนาเป็นสถานที่ในการจัดอบบรมให้ความรู้ด้านงานอาชีพ (ยาง เน้นการกรีดยางเพื่องานอาชีพ) ของตำบลห้วยเหี้ย โดยการสนับสนุนจากรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยเหี้ย
-ชุมชนบ้านห้วยกอก โรงเรียนบ้านห้วยกอกร่วมกับเกี่ยวกื๋อ จัดงานการกุศลเพื่อระดมทุนพัฒนาโรงเรียน
ด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้
-พืช ผัก สวนครัว ในวงบ่อ โรงเรียนให้นักเรียนได้ร่วมกันปลูกพืชผัก สวนครัว ในวงบ่อ เพื่อเป็นการฝึกคุณลักษณะนักเรียน ให้มีจิตอาสา รู้จักประหยัด และไว้ประกอบอาหารในโครงการอาหารกลางวัน
-โรงครัว โรงอาหาร เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของชุมชน ได้ปรับปรุงพัฒนา จนมีความพร้อมในการให้บริการนักเรียน ชุมชน และผู้มาเยือน
-ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน โรงเรียนจัดทำห้อง Computer เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ ICT จำนวน 10 เครื่องชุมชน นักเรียน ผู้ปกครอง เยาวชน และผู้สนใจ สามารถใช้บริการได้
-ศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพในชุมชน โรงเรียนและชุมชน ร่วมกันสร้างศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพในชุมชน ให้ความรู้ด้านงานวิชาชีพแก่นักเรียน ผู้ปกครอง เยาวชน และผู้สนใจ
-ศูนย์วิจัยการเกษตรชุมชน โรงเรียนและชุมชนมีโครงการให้โรงเรียนมีศูนย์วิจัยการเกษตรชุมชน โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน
-ห้องประชุม โรงเรียนปรับปรุงต่อเติมอาคารเพื่อทำเป็นห้องประชุมไว้บริการชุมชน ครู นักเรียน มีระบบสื่อ Computer ประยุกต์เป็นห้องจัดระบบสารสนเทศ ห้องแสดงผลงานนักเรียน มีห้องน้ำ
-ห้องเรียนประถมศึกษา ห้องเรียนมีการปรับปรุงให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของครูและนักเรียน ในห้องเรียนประถมศึกษา มี 2 ห้องเรียน คือ ห้องที่ 1 ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) และ ห้องเรียนที่ 2 ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-ป.6) ในห้องเรียนจะออกแบบให้เอื้อต่อเรียนรู้คือ จะมีโทรทัศน์ที่เชื่อมต่อระบบทางไกลตามโครงการไกลกังวล จำนวน 3 เครื่อง ตามชั้น มีเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับครูผู้สอนในการจัดกิจกรรม คือ Computer เชื่อมต่อ Internet มี Printer จัดทำชั้นหนังสือให้ครูและนักเรียน มีหนังสืออ่านที่หลากหลายตามความสนใจของครูและเด็ก ปูพื้นกระเบื้อง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ตามลีลาที่เขาถนัด ปรับปรุงระบบไฟฟ้า แสง พัดลม อากาศ ถ่ายเทสะดวก ห้องเรียนอนุบาล โรงเรียนได้ปรับปรุง
-ห้องเรียนอนุบาล ปูกระเบื้อง ปรับปรุงระบบไฟฟ้า มี Computer Printer สื่อการสอนนักเรียนอนุบาลจากโปรแกรมสำเร็จรูปเสริม จัดทำชั้นเก็บเครื่องนอน กระเป๋า อาหาร จัดให้มีป้ายเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัย
-แหล่งบริการสุขภาพชุมชน โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายผู้มีจิตอาสา และชุมชนเข้มแข็ง สร้างสนามกีฬา ไว้บริการนักเรียน ชุมชน เยาวชน อบต.และอื่นๆ
-อาคารเรียน โดยการปรับปรุง ฝ้าอาคารเรียนที่หลุดล่วงเพราะแรงลม ทำสะพานเชื่อมต่ออาคารเรียนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน และง่ายต่อการบริหารจัดการ ซ่อมแซมราวบันได หน้าต่าง เพื่อทำโซน อุบัติเหตุ=0 ตามอาคารเรียนจัดป้ายนิเทศไว้จำนวน 7 จุด เพื่อให้ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เยาวชน ได้เรียนรู้ตลอดเวลา เมื่อเข้ามาในโรงเรียน
-และอื่นๆ
สิ่งที่ระบุข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา ทั้งในลักษณะพลังจากเครือข่ายความร่วมมือ และพลังชุมชน ได้ร่วมแรงร่วมใจในการจัดการศึกษาเพื่อทุกคน โดยชุมชนเพื่อชุมชน
ณ โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา เกิดขึ้นจากการร่วมกันบริจาคที่ดินของคนในชุมชนสร้างโรงเรียนเพื่อให้ลูกหลานได้มีโอกาสเรียนหนังสือ
…แล้วไงหล่ะ…
ถามว่า ??????
สิ่งที่เราทุมเทมาทั้งหมดนี้จะเป็นสูญใช่ไหม?
ใครจะเป็นคนรับผิดชอบกับการกระทำนี้?
สิ่งที่เราร่วมกันทำ/เราร่วมกันสร้างมากกว่าร้อยละ 90 ของงบประมาณที่ได้รับจากการจัดสรรของรัฐ
เราทำเพื่อให้ผู้คนที่ด้อยโอกาสอยู่รอด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ดร.ณัฎฐ์ ชาคำมูล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา
—