เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ ห้องโสตทัศนศึกษา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับ วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก สภาวัฒธรรมอำเภอเมืองพิษณุโลก และสภาวัฒนธรรมตำบลหัวรอ ร่วมกันจัดเวทีการเสวนาประชาคม รำเตาไห ระบำพิษณุโลก โดยมี ครูผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ในเรื่องนาฏศิลป์-ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สำนักงานศิลปวัฒนธรรม และ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยนเรศวร ตลอดจน ผู้อาวุโส ซึ่งเป็นคลังสมองของชุมชนหัวรอ-เตาไห และพิษณุโลก เข้าร่วมกันระดมความคิดเห็น แนวคิด วิพากษ์ ท่ารำ ดนตรีประกอบการแสดง เครื่องแต่งกาย ตลอดจน อุปกรณ์ประกอบการรำเตาไห เพื่อตกผลึกให้ออกมาเป็น อัตลักษณ์ของพิษณุโลก รวมทั้งเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์การรำเตาไห ระบำพิษณุโลก ชุดต้นแบบ ที่สมบูรณ์ที่สุด เพื่อขับเคลื่อนต่อยอดขยายผลไปสู่สถานศึกษา และสภาวัฒนธรรมอำเภอต่างๆ ทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลกต่อไป
สำหรับชุมชนโบราณเตาไห ที่ตำบลหัวรอ เป็นแหล่งโบราณคดี ที่มี เตาเผาโบราณแบบเตาทุเรียงสมัยสุโขทัย กว่า 50 เตา บริเวณริมแม่น้ำน่าน หน้าวัดตาปะขาวหาย ดินแดนแห่งตำนานเทพตาปะขาวหายในการหล่อพระพุทธชินราช ตามที่ปรากฏในพงศาวดารเหนือ ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาจากเตาเผาบ้านเตาไห มีเนื้อแกร่ง มีลายขูดขีดและลายปั้นติด ที่ภาชนะโดยเฉพาะประเภท ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองที่โดดเด่นคือ ไหลายอุ ประกอบลายขูดขีด อันเป็นอัตลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง ของเมืองพิษณุโลก แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ดินแดนประวัติศาสตร์ ราชธานีสองแผ่นดิน จึงได้ภูมิปัญญาขั้นตอนในการปั้นไหลายอุ มาประยุกต์เป็นนาฏยประดิษฐ์ ชุดรำเตาไห ขึ้นในงานเสวนาภูมิปัญญาหัวรอ เตาไห ครั้งที่ 1 ซึ่งมี นายปรีชาเรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในการเสวนา ได้ชื่นชมและดำริส่งเสริมให้เป็น ชุดการแสดงชุด ระบำพิษณุโลก และมอบหมายในการ ประชุมกรมการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการ จังหวัดพิษณุโลก ให้วัฒนธรรม จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งรับผิดชอบในการค้นหา อัตลักษณ์ของความเป็นพิษณุโลก ค้นหาอัตลักษณ์ของตนเองให้ปรากฏชัดในชุดการแสดง รำเตาไห ดังกล่าวต่อไป