วันที่ 21 มีนาคม 2556 ที่โรงแรมท็อปแลนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.พิษณุโลก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และองค์การเภสัชกรรม แถลงข่าวสื่อมวลชน สมุนไพรพรมมิ จากตลิ่ง….สู่ตลาด โดยรศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ หัวหน้าทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ ม.นเรศวร และภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม
รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ หัวหน้าทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ ม.นเรศวร เปิดเผยว่า ช่วงปี 2548 คณะเภสัชศาสตร์ ม.นเรศวร ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ม.นเรศวร คณะแพทย์ศาสตร์ ม.ขอนแก่น คณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่น และคณะแพทย์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิจัยสมุนไพรพรมมิ พืชสมุนไพรที่พบมากในเมืองไทยและประเทศแถบเอเชีย จากการที่ประชากรโลกมีเพิ่มขึ้น อัตราส่วนผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้น โรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทและความทรงจำเป็นสาเหตุให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุน้อยลง จึงร่วมกันศึกษาวิจัยกับพืชสมุนไพรพรมมิ พืชสมุนไพรที่พบกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย ขึ้นง่ายตามพื้นที่ชื้นริมตลิ่ง และพรมมิเป็นยาสมุนไพรในตำราอายุรเวทของอินเดีย สำหรับช่วยเพิ่มความจำ บำรุงสมอง ศักยภาพของสมุนไพรพรมมิเหมาะแก่การเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือ ยาสมุนไพรบำรุงความจำ บำรุงสมอง ช่วยทดแทนการนำเข้าของสมุนไพรจากต่างประเทศ เช่น แป๊ะก๊วย หรือ โสม
ทีมวิจัย ได้ทำการศึกษาสมุนไพรพรมมิ โดยพัฒนาวิธีการสกัด ( อนุสิทธิบัตรเลขที่ 4018 ) และการควบคุมคุณภาพของสารสกัดพรมมิ โดยตรวจวัดสารกลุ่มซาโปนิน ( saponins ) พบว่า สารสกัดมีมาตรฐานและมีความทรงตัวที่ดี นอกจากนี้ ยังได้ทำการศึกษาการเพาะปลูก จากแปลงเล็ก สู่แปลงใหญ่ และวิธีการเก็บเกี่ยวสมุนไพร ก็พบว่า สามารถปลูกได้ง่าย ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะพิษณุโลก ที่มีสภาพแดดแรง สามารถปลูกสมุนไพรพรมมิได้ง่ายในพื้นที่ชื้นแฉะ
การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดพรมมิ มีผลต่อการเรียนรู้และการป้องกันเซลล์ประสาทของสัตว์ทดลอง เมื่อให้สารสกัดพรมมิขนาด 20, 40 และ 80 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัมของน้ำหนักในหนูเป็นเวลา 14 วัน ปรากฏว่า หนูมีการเรียนรู้และความจำดัขึ้น ป้องกันการสูญเสียความจำในสัตว์ทดลองที่ถูกชำนำให้เกิดภาวะความจำเสื่อม สารสกัดพรมพิ มีกลไกในการปกป้องเซลล์ประสาท และเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท จากการทดสอบพิษแบบเฉียลพลันและเรื่องรัง ไม่พบว่าสารสกัดพรมมิ มีพิษต่อสัตว์ทดลอง
คณะผู้วิจัยยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดพรมมิขนาด 300 มิลลิกรัม ในรูปแบบยาเม็ดเคลือบ ที่มีคุณสมบัติทางกายภาพที่เหมาะสม และมีความคงตัวดี และศึกษาผลของพรมมิในอาสาสมัครวัยกลางคนและสูงอายุ อายุมากกว่า 55 ปี จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้ยาหลอกและได้ผลิตภัณฑ์สารสกัดพรมมิขนาด 300 และ 600 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่า สารสกัดพรมมิ เพิ่มคุณภาพชีวิต โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว เพิ่มการตื่นตัวต่อสิ่งเร้า มีสมาธิมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และความทรงจำ คลายอาการซึมเศร้า และไม่พบอาการพิษและภาวะข้างเคียงใด ๆ ในอาสาสมัคร
รศ.ดร.กรกนก เผยต่อว่า ขณะนี้ คณะวิจัย ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่องค์การเภสัชกรรมแล้ว โดยทางองค์การเภสัชกรรม กำลังดำเนินการขึ้นทะเบียน เพื่อนำพรมมิออกสู่ผู้บริโภคในรูปผลิตภัณฑ์อาหารเสริม คาดว่าภายในปี 2556 จะสามารถผลิตและนำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปได้ และหากประสบความสำเร็จ อาจจะต่อยอดการปลูกสมุนไพรพรมมิ ให้เป็นรายได้เสริม แก่ชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดพิษณุโลกได้ เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามที่ชื้นแฉะ ปลูกง่ายริมตลิ่งลำคลอง และเริ่มประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่มาของการแถลงข่าว จากตลิ่ง สู่ตลาด