ในอดีต“พระอัฏฐารส” วัดวิหารทองอยู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำน่าน เป็นวัดขนาดใหญ่ที่อยู่ติดกับวังชั้นในในสมัยอยุธยาที่เราเรียกกันว่าวังจันทน์ในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
“พระอัฏฐารส”รัชกาลที่4ได้ทรงให้มีพระนามเต็มว่า “พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร” ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น อายุ ๗๐๐ ปี ปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปยืนที่มีความสูงที่สุด ในกรุงเทพมหานคร มีความสูงถึง ๕ วา ๑ ศอก ๑๐ นิ้ว (๒๑ ศอก ๑๐ นิ้ว) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยไม่มีการเชื่อมต่อ นับว่าเป็นการหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ ที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ชนชาติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระวิหาร วัดสระเกศ กรุงเทพมหานครด้านหลังวิหารทิศตะวันออก
นี่คือราวเรื่องความเชื่อและที่มาที่ไปที่เราคนพิษณุโลกหรือผู้สนใจควรทราบ
เมื่อครั้งย้ายพระอัฏฐารสไปกรุงเทพนั้น ได้ล่องแพไปตามคลองน้ำ เนื่องจากพระอัฏฐารสมีขนาดใหญ่จึงกดทับแพให้จมน้ำมองเห็นเฉพาะองค์พระ แพอยู่ใต้น้ำ คนก็ลืออันว่าพระลอยน้ำ ผ่านมาถึงไหน ประชาชนสองฝากฝั่งที่ทราบข่าวก็มารอรับเป็นจำนวนมาก จนมาถึงท่าที่จะขึ้นที่กรุงเทพ ปรากฏว่ามีประชาชนหลั่งไหลมาดูพระลอยน้ำและมาช่วยกันชักพระขึ้นเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าคนที่มาเหลือจะคณานับได้ จนเป็นคำพูดติดปากว่า มีคนถึงสามแสนคน ท่าน้ำที่ชักพระอัฏฐารสขึ้นจึงเรียกท่า “สามแสน” ต่อมา จึงกลายเป็น “สามเสน” ซึ่งเป็นชื่อย่านในปัจจุบัน
รัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยที่พระวิหารพระอัฏฐารส วัดสระเกศ ด้วยพระองค์ทรงปรารภว่า พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ในมหาสมัยสูตร พระพุทธเจ้า พระประยูรญาติของพระพุทธองค์เกิดความแตกแยกกันอย่างรุนแรงจนถึงขั้นยกกองทัพมาประจันหน้าจะทำสงครามกัน เพราะแบ่งผลประโยชน์เรื่องน้ำไม่ลงตัว พระพุทธองค์จึงเสด็จมาห้ามทัพ ทำให้สงครามแย่งน้ำยุติลง
และในข้อมูลหนังสือ ปางพระพุทธรูป กล่าวว่าเป็นปางห้ามพยาธิ ที่ในอดีตพุทธกาลพระพุทธเจ้าไปโปรดนครเวสาลียกพระหัตถ์ขวาขึ้นกริยาทรงห้าม มหาเมฆตั้งเค้าฝนตกล้างซากศพสิ่งปฏิกูลลงทะเล และทรงสั่งสาวกพระอานนท์ สวดพระปริตรรัตนสูตรพรมน้ำพุทธมนต์ตลอดคืน ขับไล่ภูติผีสิ่งชั่วร้ายทำให้เมืองนั้นสว่างไสวท้องฟ้าเปิด นั้นคือปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้านเมืองนั่นเอง ประชาชนพากันรวมใจประกาศตัวเป็นพุทธมามกะ
ธรรมเนียมการสร้างพระอัฏฐารส พระพุทธรูปยืนไว้ประจำพระนคร ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขปราศจากสงคราม ป้องกันความแตกแยกของคนในชาติ ให้คนในชาติเกิดความรักความสามัคคี และให้ประเทศชาติสถิตสถาพรมั่นคงยั่งยืนนาน
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ให้จัดมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์รับปีใหม่ หรือที่เรียกว่า สวดมนต์ข้ามปีขึ้น โดยถือตามคตินิยมปีใหม่แบบสมัยปัจจุบัน และทางวัดได้นำน้ำพระพุทธมนต์บทมหาสมัยสูตรมาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่มาพิธี ตามธรรมเนียมเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่โบราณของชาวไทยด้วยในวันที่ ๑๕ เมษายน เวลา ๑๖.๐๐ น. ของทุกปี
มาวันนี้พระอัฏฐารสที่วัดวิหารจะกลับมาสร้างความยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ปกป้องเมืองพิษณุโลกของเราอีกครั้งแต่ด้วยความเหมาะสมทุกประการจึงต้องทำเป็นปูน แบ่งชิ้นส่วนมาประกอบ โครงในใช้เหล็กช่วยเพื่อความแข็งแรง ฉาบผิวด้วยปูนขาววิธีแบบโบราณ เช่นเดียวกับพระอัฏฐารสที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
จากเมื่อเดือนกรกฎาคมปี2555 ทางจังหวัดพิษณุโลก, กรมศิลปากรฯ,กองทัพภาคที่3และป.ต.ทฯลฯ ได้ร่วมกันทำพิธีบวงสรวง ขณะนี้กำลังดำเนินการทำโครงเหล็กและประกอบ“พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร” คาดว่าเดือนเมษายน พ.ศ.2556นี้ ช่างจะดำเนินงานเสร็จให้เราได้เห็นองค์พระ แต่ต้องติดตามฟัง กำหนดพิธีเบิกเนตรอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
สุดยอดมากจริงๆฝั่งหนึ่งก็มี“พระอัฏฐารส”,“พระพุทธชินราช”และสิ่งศักดิ์มากมาย
อีกฝั่งมี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและ“พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร”
มาเสริมสร้างความมหามงคลให้กับเมือง….พิษณุโลกบ้านเรา
กล้าณรงค์ ภักดิ์ประไพ
รถรางนำเที่ยวชมเมืองพิษณุโลก
13 มีนาคม 2556