MOU ขยะเป็นเชื้อเพลิงปูนซีเมนต์ 2 แสนตัน

06

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556  ที่ห้องจุฬามณี 2 สำนักงานเทศบาลนครพิษณุโลก    เทศบาลนครพิษณุโลก ร่วมกับ บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส  จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจ โครงการนำขยะมูลฝอยที่ผ่านการบำบัดโดยระบบเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) ใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์  ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการจัดการกากของเสียอย่างถูกวิธีอีกด้วย

05

นายบุญทรง  แทนธานี  นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่า  ทางเทศบาลนครพิษณุโลกได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ผ่านสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการเยอรมัน (GTZ) ภายใต้โครงการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนเมืองจังหวัดพิษณุโลก  โดยได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 จากความช่วยเหลือดังกล่าวเทศบาลนครพิษณุโลกประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการที่ประชาชนให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะจากบ้านเรือน ก่อนทิ้งลงสู่ถังขยะ ทำให้เทศบาลนครพิษณุโลกสามารถลดปริมาณขยะจากวันละ 140 ตัน เหลือ 80 ตัน/ วัน

04

03

ในปัจจุบันเทศบาลนครพิษณุโลกได้นำเทคนิคการจัดการขยะมูลฝอย ก่อนการฝังกลบ  เรียกว่า กระบวนการบำบัดเชิงกล – ชีวภาพ  (Mechanical Biological Waste Treatment : MBT)  ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นกฎระเบียบ “จะต้องบำบัดขยะก่อนนำไปฝังกลบ” ตามกฎหมายของกลุ่มประเทศยุโรป (European Union : EU)  ผลพลอยได้จากกระบวนการทำ MBT คือ เทศบาลนครพิษณุโลกจะสามารถเพิ่มอายุของสถานีฝังกลบขยะมูลฝอยไปอย่างน้อย 25 ปี และลดปริมาณน้ำชะล้างขยะ (Leachate) ลงกว่า 70 % แต่ยังไม่สำคัญเท่าขยะหลังการบำบัดจากกระบวนการ MBT แล้ว  เมื่อนำไปร่อนจะได้ขยะเชื้อเพลิงที่เรียกว่า (RDF : Refused Derived Fuel )  ซึ่งขยะดังกล่าวไม่สามารถย่อยสลายได้  มีค่าความร้อนสูง (High Heating Value) สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นพลังงานและวัตถุดิบทดแทนในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์โดยเผาในหม้อเผาซีเมนต์ที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,400 องศาเซลเซียส  แทนการนำเข้าพลังงานจากฟอสซิลได้เป็นอย่างดี

02

01

สำหรับการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 36 เดือน โดยทางบริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส  จำกัด จะรับซื้อขยะเชื้อเพลิง (RDF) จากเทศบาลนครพิษณุโลกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์โดยวัดจากค่าความร้อน ในส่วนของเทศบาลนครพิษณุโลกได้รับประโยชน์จากการขายขยะเชื้อเพลิง (RDF) โดยมีหน้าที่จัดหาขยะที่ผ่านการบำบัดจำนวน 200,000 ตัน ให้กับบริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส  จำกัด จึงเป็นการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างคุ้มค่าและนำไปสู่กระบวนการขยะเป็นศูนย์ Zero Landfill  ส่งผลให้สามารถช่วยยืดอายุบ่อฝังกลบให้ยืนยาวขึ้นอีกด้วย

/////

แสดงความคิดเห็น