20ปี ประชุมโลกร้อนที่ไร้รูปธรรม

New Picture (11) การประชุมโลกร้อนครั้งที่ 18 ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2555 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ คงเงียบไร้คนสนใจ โดยเฉพาะสื่อในประเทศและคนในประเทศไทย สื่อต่างๆคงวนเวียนเสนอข่าวการเมือง นักการเมือง ข่าวอาชญากรรม รวมทั้งข่าวสะเทือนใจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอข้อมูลทั้งเป็นข้อเท็จและข้อจริง โดยเฉพาะข่าวการเมืองของประเทศไทยNew Picture (12)

กลุ่มคนแตกต่าง ฐานะ ศาสนา ต่างสีผิว และแตกต่างทั้งความเชื่อ แนวคิด รวมทั้งการปฏิบัติ 20,000 คน รวมตัวพูดคุยเจรจาเรื่องโลกร้อน COP 18/CMP 8[1]ภายใต้ชื่อไม่เป็นทางการ “การประชุมโลกร้อนครั้งที่ 18” เข้าใจง่ายขึ้น การพูดคุยเจรจาตกลงกันเพื่อให้โลกและประชากรรอดพ้นจากผลกระทบที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บนความคาดหวังว่าจะหาแนวทาง ข้อตกลงร่วมกันที่จะนำพาให้คนทั้งโลกให้ปลอดภัย นี่คือความหวังของกลุ่มคนที่สนใจเรื่องนี้ ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น การเจรจาเต็มไปด้วยการช่วงชิง ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและกลุ่มประเทศตนเป็นหลัก และพร้อมที่จะเรียกร้องจากกลุ่มประเทศอื่นๆบนความแตกต่างทางความคิดระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศด้อยพัฒนาและประเทศหมู่เกาะต่างๆประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนอกจากจะเป็น “เหยื่อ” จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกที่ตนเองไม่ได้ก่อขึ้นแล้ว ยังเป็น “เหยื่อ” ภายใต้การเจรจาโลกร้อนอีกด้วย การที่จะทำให้คนและโลกอยู่รอด จึงดูเหมือนเป็นประเด็นรองของการเจรจาไปโดยสิ้นเชิง การปกป้องผลประโยชน์ของแต่ละประเทศและกลุ่มประเทศ บางประเด็นที่เต็มไปด้วยข้อขัดแย้งทั้งแนวคิด แนวทาง และการปฏิบัติ เช่น การปรับตัว กองทุนสีเขียว การชดเชยความสูญเสียและการมีกลไกระหว่างประเทศที่จะติดตามความสูญเสียและชดเชยจากภาวะโลกร้อน กลับเป็นประเด็นรองจากการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศพัฒนาแล้ว

ในส่วนของประเทศไทยมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่ร่วมเจรจา เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, องค์การบริหารจัดการเรือนกระจก (องค์การมหาชน), การบินไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.), บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ฯลฯ เป็นที่น่าสังเกตภาคประชาชนและประชาสังคมของประเทศไทยไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยหัวหน้าทีมการเจรจา นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการเสนอถ้อยแถลงโดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อที่ประชุมโลกร้อนครั้งที่ 18 กับนานาประเทศNew Picture (8)

 

ภาคประชาชน ประชาสังคมของประเทศไทยที่ร่วมสังเกตการณ์ 42คน เพื่อติดตามประเด็นและข้อตกลงที่จะส่งผลกระทบกับประเทศทั้งด้านบวกและด้านลบ การเจรจาข้อตกลงจะเป็นข้อผูกมัดกับคนไทยทุกคน ประเทศไทยในการเจรจาขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างเห็นได้ชัด สัดส่วนผู้เข้าร่วมคณะเจรจามีนักวิชาการ ข้าราชการ และที่สำคัญตัวแทนทุนอุตสาหกรรม เกษตรอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวแทนการเจรจาจะปกป้องประโยชน์ของคนจนทั้งประเทศ หรือจะปกป้องผลประโยชน์ผลกำไรขององค์กรตัวเอง นี่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญ และนี่ก็เป็นคำถามที่เกิดขึ้นต่อประเด็น การมีส่วนร่วมแม้แต่การรับรู้เรื่องการเจรจา จากการสังเกตการณ์ในครั้งนี้

ข้อตกลง กติการ่วม ผลเจรจาของตัวแทนประเทศไทยทั้งคณะที่จะส่งผลผูกมัดกับประเทศไทย โดยมีเพียงผู้เจรจาเข้าใจ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประชาชนโดยเฉพาะชาวนาชาวไร่ที่ต้องตกเป็นจำเลยของสังคมที่ตราหน้าว่าทำให้โลกร้อน ในหลายกรณีที่ต่อเนื่องกันมาทั้งที่ภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยปล่อยในอัตราส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ40 ภาคที่อยู่อาศัยร้อยละ31 ภาคขนส่งร้อยละ22 ภาคเกษตรร้อยละ4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ[1]

                การสิ้นสุดพันธะกรณีที่ 1 ของพิธีสารเกียวโตเป็นหนึ่งในวาระสำคัญในการเจรจา ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 จากระดับการปล่อยเมื่อปี 2535 พันธะกรณีที่ 1 นี้จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 พิธีสารเกียวโตถือเป็นกติการ่วมของโลกที่ประเทศส่วนใหญ่ของโลกเห็นความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลจากการเจรจาที่โดฮา เราก็ได้พันธะกรณีที่ 2 ของพิธีสารเกียวโต แปลว่าโลกเรายังคงมีกฎหมายควบคุมการลดการปล่อยต่อไปอีก 8 ปี คือ 2556-2563 แต่ก็มีบางประทศที่ไม่เข้าร่วมกับพิธีสารเกียวโต พันธะกรณีที่ 2 นี้ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดานิวซีแลนด์ เป็นต้น ประเทศที่ไม่ร่วมก็คือประเทศที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอันดับต้นๆของโลกนั่นเองNew Picture (10)

ศูนย์ประชุมแห่งชาติเมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ตั้งอยู่บนอ่าวเปอร์เซีย เป็นกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและที่สำคัญเป็นกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันที่เป็นเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก มีระบบเศรษฐกิจที่ร่ำรวยติดอันดับต้นๆของโลก การประชุมที่โดฮานี้มีผู้ร่วมประชุมจาก192 ประเทศ ประกอบด้วย ตัวแทนเจรจาของแต่ละประเทศ สื่อแขนงต่างๆ นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และภาคประชาสังคม มีรูปแบบการประชุมทั้งที่เป็นการเจรจาอย่างเป็นทางการเพื่อหาข้อตกลง การแถลงการณ์ของตัวแทนแต่ละประเทศ กิจกรรมการรณรงค์โลกร้อน การจัดเวทีคู่ขนาน การนำเสนองานวิจัยทางวิชาการ การนำเสนอบทเรียนของแต่ละประเทศ รวมทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อคิด ข้อเสนอของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อมุ่งที่จะทำให้การเจรจาให้โลกอยู่รอด โปสเตอร์ คำขวัญ ของที่ระลึก และข้อค้นพบล่าสุดโดยเฉพาะของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) นำเสนอวิทยาศาสตร์ความเชื่อมโยงระหว่างโลกร้อนกับเหตุการณ์วิกฤตความรุนแรงของสภาพอากาศ โดยได้มีการสรุปว่าปริมาณฝนที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น, จำนวนวันที่มีความร้อนสูงขึ้นจะเพิ่มขึ้น, การลดความเสี่ยงและความเสียหายของภัยพิบัติจะมีผลต่อการลดความเสี่ยงและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศNew Picture (7)

การศึกษาวิจัยดังกล่าวคำนึงถึงภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก เป็นงานวิชาการที่น่าเชื่อถือและมีการศึกษาในระดับภูมิภาค ระดับประเทศและท้องถิ่น งานวิจัยข้อค้นพบของ IPCC น่าจะนำไปสู่การขยายผลให้คนไทยได้รับรู้เพิ่มเติม สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในประเทศไทยถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรจะเร่งนำความรู้ดังกล่าว สื่อสารให้สาธารณะได้เรียนรู้และเข้าใจโดยเร็ว

ตัวอย่างของการนำเสนอแนวทางบางส่วนน่าจะได้นำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ เช่น การสร้างระบบนิเวศ (การสร้างสมดุลนิเวศ) ที่คำนึงถึงการลดความเสี่ยง การสูญเสีย (ความเสียหาย) ของเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด จากภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจากตัวอย่างของต่างประเทศที่เสนอนั้น หากไม่ดำเนินการอะไรเลย ผลผลิตจะเสียหายสูงถึงร้อยละ38 ของผลผลิตทั้งหมด แต่ถ้าเกษตรกรมีการปรับตัวด้วยตนเอง (ใช้ความรู้และต้นทุนที่มีอยู่) และมีการสนับสนุนด้านความรู้ กองทุนเพื่อการปรับตัว เงิน และเทคโนโลยี เสียหายของข้าวโพดก็จะลดลงเหลือร้อยละ 18 ของผลผลิต เป็นต้น  การปรับตัวจึงเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ดังนั้นประเทศไทยจึงควรเรียนรู้และมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและมีการคำนึงถึงเรื่องโลกร้อนเข้าไปด้วย

การเสนอบทเรียน งานศึกษาวิจัย ข้อค้นพบของทั้งผู้เชี่ยวชาญ สถาบันทางวิชาการเพื่อเป็นข้อมูลในการเจรจาตกลงและประกอบการตัดสินใจในการเดินหน้าจัดการกับปัญหาโลกร้อนนี้แต่ดูเสมือนว่าจะไม่ได้เป็นข้อมูลประกอบในการเจรจาของผู้มีอำนาจและผู้แทนเจรจาแต่ละประเทศ เพราะผู้แทนการเจรจามุ่งเน้นรักษาผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นหลัก เรียกร้องจากประเทศอื่น การเจรจาจึงละเลยความสำคัญของการอยู่รอดของคน ของโลก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไปอย่างน่าเสียดาย

การประชุมและเจรจาที่โดฮาแบ่งออกเป็น7 กลุ่มใหญ่ตามกลไกของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (1) คณะทำงานด้านเทคนิคและวิทยาศาสตร์ (SBSTA) เป็นการกำหนดงานวิชาการ, กำหนดการลดการปล่อย, กำหนดแนวทางวิชาการแก้ปัญหา เช่น รายละเอียดเส้นฐานสำหรับโครงการ REDD (2) คณะทำงานด้านการดำเนินการ (SBI) มีหน้าที่พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการตามอนุสัญญา เช่นเรื่องการเงิน การดำเนินการขององค์กรที่เกี่ยวกับด้านการเงิน เป็นต้น (3) คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยความร่วมมือระยะยาว (AWG-LCA) เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม, การลดการปล่อย การสนับสนุนการดำเนินการให้เกิดการปรับตัว, การเงิน, เทคโนโลยีและการพัฒนาศักยภาพ (4) คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยพันธกรณีที่ 2 ของพิธีสารเกียวโต (AWG-KP) เพื่อกำหนดการลดการปล่อยของประเทศพัฒนาแล้วภายใต้พิธีสารเกียวโต (5) เวที COP การพิจารณาวาระการประชุมและการรับข้อตกลง

จากการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (6) COP/MOP เวทีประชุมสมาชิกพิธีสารเกียวโตและการรับข้อตกลงจากการประชุมสมาชิกพิธีสารเกียวโต และ (7) คณะทำงานเฉพาะกิจด้านการวางแผนระยะยาวภายใต้กรอบเดอร์บัน (AWG-ADP) เพื่อกำหนด กติกา ข้อตกลงหรือกฎหมาย ที่ทุกประเทศยอมรับร่วมกันและนำไปใช้ได้กับทุกประเทศซึ่งจะต้องได้ข้อตกลงใหม่นี้ให้ได้ภายในปี 2558 และจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2563 นั่นคือ เราจะต้องมีกฎหมายหรือกติกาหรือข้อตกลงร่วมที่ประเทศในโลกยอมรับร่วมกันในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในปี 2563

ประเด็นที่มีการเจรจาภายใต้คณะทำงานกลุ่มต่างๆ เช่น การเพิ่มความเข้มข้นการลดการปล่อยของแต่ละประเทศ, การมีพิธีสารเกียวโตที่ให้ความสำคัญกับการให้ประเทศพัฒนานำกาลดการปล่อย, กองทุนสีเขียวจัดการอย่างไร, เงินจากไหนจะเป็นเงินชดเชย เงินยืม ประเทศไหนจะสนับสนุนเงินกองทุนเท่าไร, การชดเชยความเสียหายกับประเทศที่เสี่ยง ประเทศพัฒนาแล้วที่จะให้เงินช่วยเหลือเมื่อไหร่จะให้จะมีการดำเนินการ กลไกและหน่วยงานรับผิดชอบ

การปรับตัวของแต่ละประเทศที่จะอยู่ท่ามกลางภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีแผนระยะสั้น แผนระยะยาว จะมีเทคโนโลยีอะไรที่เหมาะสม การสนับสนุนจากไหนนี่คือข้อเจรจาหรือข้อถกเถียงเพื่อเป็นข้อสรุปร่วมของเวที

การเจรจาเต็มไปด้วยแนวคิดที่แตกต่าง ขัดแย้งกันระหว่างฝั่งประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน หัวข้อการเจรจาหาข้อตกลงไม่ได้และเป็นมาตลอดในการประชุมโลกร้อนที่ผ่านมา 17 ครั้ง รวมทั้งไร้ความก้าวหน้าในการประชุมโลกร้อนครั้งที่ 18 ณ. โดฮา ข้อขัดแย้งในการเจรจา กองทุนที่มีอยู่แล้ว กองทุนเพื่อการพัฒนาประเทศยากจนดำเนินการโดย UNDP มีปัญหาการเข้าถึงทุน, ขาดการวางแผนร่วมระหว่าง GEF กับประเทศยากจน การเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากการชดเชย ทดแทนไปเป็นเงินช่วยเหลือดอกเบี้ยต่ำ ผู้ได้รับความเสี่ยงและสูญเสียจากโลกร้อนไม่ได้รับประโยชน์ รวมทั้งกองทุนไม่เพียงพอต่อการดำรงอยู่ของผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน นี่คือบางส่วนเสียงจากประเทศยากจน กรณีความคิดเห็นที่มีต่อกองทุนเพื่อพัฒนาประเทศยากจนที่ดำเนินการไปแล้ว

ข้อเสนอใหม่ กองทุนเพื่อการปรับตัว โดยกองทุนนี้จะเป็นการนำสู่การทำแผนเพื่อให้เกิดแผนพัฒนาการปรับตัวของทุกประเทศที่ไม่มีทรัพยากร โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ประเทศยากจนมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างสมดุล การบริหารกองทุนต้องยู่ภายใต้COP นี่คือข้อเสนอของประเทศกำลังพัฒนา

ในส่วนของความก้าวหน้าในประเด็นการลดการปล่อยก็ยังไม่มีความก้าวหน้าเรื่องการเพิ่มความเข้มข้นในการลดการปล่อย เป้าหมายการลดการปล่อยที่เสนอ หรือแม้แต่ที่อยู่ภายใต้พันธะกรณีที่ 2 ของพิธีสารเกียวโต ก็ไม่เพียงพอ แต่กลับจะทำให้โลกเราเดินหน้าสู่อุณหภูมิที่สูงถึง 4องศาเซียลเซียสทีเดียว

ในส่วนของการปรับตัว ซึ่งขณะนี้จะต้องมีการปรับตัวอย่างมากต่อผลกระทบจากโลกร้อน และยิ่งการลดการปล่อยช้าออกไปพร้อมกับมีเป้าหมายการลดการปล่อยที่ต่ำและไม่เข้มข้น การดำเนินการปรับตัวก็จะยิ่งยากมากขึ้นไปอีกและจะต้องใช้เม็ดเงินสูงมากยิ่งขึ้น กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนร่วมกันเรียกร้องให้มีข้อตกลงเรื่องกลไกการชดเชยความสูญเสียและความเสียหายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่จะรับมือได้จากการดำเนินการปรับตัวแล้ว แต่สหรัฐฯ กลับมองไม่เห็นความสำคัญและพยายามขัดขวางความก้าวหน้าในการเจรจาในเรื่องนี้จนถึงที่สุด ซึ่งในที่สุด การเจรจาในเรื่องนี้ก็เข้าสู่การเจรจาระดับรัฐมนตรีและลากยาวเกินค่ำคืนเกินของวันสุดท้ายของการเจรจามาจนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2555 ทั้งนี้สหรัฐฯเห็นว่า การชดเชยเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องการปรับตัว เม็ดเงินในเรื่องการปรับตัวย่อมสามารถช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยกลไกใหม่ในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ดี ในที่สุด เราก็ได้ข้อตกลงที่จะให้มีการพูดคุยเรื่องกลไกใหม่นี้ภายในการประชุมสมัยหน้า ประเทศเสี่ยงและเปราะบางก็ต้องรอไปอีกหนึ่งปีกว่าที่จะได้มีการคุยเรื่องนี้กันอีกอย่างจริงจัง

ความท้าทายวันนี้ คือความเท่าเทียม เสมอภาคของทุกประเทศในโลก ที่จะปกป้องโลกร่วมกัน การเข้าถึงอากาศที่บริสุทธิ์ อาหารที่เพียงพอ ที่อยู่อาศัยที่ถาวรและการพัฒนาที่ยั่งยืนของทุกประเทศ เราควรยึดมั่นความจริง ลงมือทำวันนี้ประเทศที่มีความเสี่ยงมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตที่ดี ปลอดภัย การลงมือทำที่เข้มกว่าพิธีสารเกียวโต เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสนี่เป็นความจริงที่ต้องอาศัยทุกประเทศในการลดการปล่อย และนี่คือคำประกาศของกลุ่มประเทศ EU ซึ่งนับเป็นผู้นำในการดำเนินการเรื่องโลกร้อนในขณะนี้ แต่นี่จะเป็นความคาดหวังในวงประชุมกับท่าทีของประเทศสหภาพยุโรป (EU)หรือเป็นเพียงคำปลอบประโลมใจที่จะให้ประเทศยากจนมีความหวัง ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป

ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศในแอฟริกา 20 ล้านครอบครัวไร้ที่อยู่อาศัย เกิดจากน้ำท่วมถาวร “ผู้อพยพจากภัยพิบัติ” ทั้งที่ประเทศด้อยพัฒนาไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสภาพภูมิอากาศเราคือ “เหยื่อ” ของโลกร้อน การทดแทน, การชดเชยจะต้องมีกลไกในการจัดการ เรามีความเสี่ยงสูงมาก และมีข้อจำกัดในการปรับตัว ภัยพิบัติมีความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น ทุกประเทศที่ยากจนได้รับความสูญเสียจากภาวะโลกร้อน การมีพิธีสารเกียวโต พันธะกรณีที่2 ยังไม่เพียงพอ การสนับสนุนเงิน เทคโนโลยี และการพัฒนาศักยภาพของแต่ละประเทศ ต้องอาศัยกลไกระหว่างประเทศที่จะจัดการกับความเสี่ยงและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นและประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเข้าถึงได้อย่างไม่ซับซ้อนและยุ่งยาก ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศที่มีอัตราการปล่อยสูง ต้องลดการปล่อยให้เข้มข้นมากกว่านี้ การประชุมโลกร้อนต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการ“ซื้อเวลา” ของประเทศพัฒนาแล้ว แต่จะต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งประเทศพัฒนาต้องมีความจริงใจในการจัดการกับปัญหาโลกร้อนนี้ด้วย นี่คือข้อเสนอและข้อเรียกร้องในการเจรจาของประเทศอีกฟากหนึ่งกับประเทศพัฒนาแล้ว

การยืนยันแนวคิดแนวทางต่างมีจุดยืนตรงข้ามกัน บนฐานความเสี่ยงของคน ของโลก การเจรจาโลกร้อน 18 ครั้ง เป็นการเจรจาที่ยังคงไร้รูปธรรมเมื่อมองจากวิทยาศาสตร์โลกร้อนการได้ข้อตกลงร่วม กติกาใหม่ กฎหมายโลกร้อนที่จะเป็นที่ยอมรับ และทำให้ทุกประเทศพึงพอใจภายในปี2563 ยังคงห่างไกลความจริงและคงเป็นเพียงความฝันของคนห่วงใยโลก

ผมได้ฟังผู้แทนเจรจาของประเทศเพื่อนบ้านเรา ฟิลิปปินส์กล่าวบนความรู้สึกที่กินใจและเจ็บปวด แปลได้ว่าถ้าการเจรจาโลกร้อนครั้งที่ 18 ยังอยู่ที่เดิม คงเป็นเรื่องที่น่าละอายของคนทั้งโลก คนทั้งโลกคาดหวังกับความก้าวหน้าในการเจรจามาก ถ้าไม่ใช่เราที่จะทำแล้ว จะเป็นใครทำ และถ้าเราไม่ทำวันนี้แล้ว จะทำเมื่อไหร่และถ้าไม่ใช้ที่นี่ที่เราจะต้องตกลงกันให้ได้แล้วจะเป็นที่ไหนอีกคำถามที่ไร้คำตอบของคนทั้งโลก ถึงการเจรจาโลกร้อน และถ้อยแถลงของประเทศไทยต่อที่ประชุมโลกร้อนจะไร้น้ำหนักและขาดความชัดเจนซึ่งประกาศโดยหัวหน้าตัวแทนรัฐบาลประเทศไทย แต่ประเทศไทยตกอยู่ในประเทศที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติสูงที่สุดอันดับหนึ่งของโลก จากการศึกษาและการจัดอันดับความเสี่ยงในปี 2555 ขององค์กรชื่อ German Watch หรือเรายังอยากเห็นภาพมหาภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทยเหมือนปี 2554 ที่ผ่านมาการเจรจาโลกร้อนและข้อตกลงคงไม่ใช่การผูกขาดจากหน่วยงานรัฐ และกลุ่มทุนที่เข้าไปปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง พื้นที่ยืนของประชาชนคนจนผู้ยากไร้ที่มีความเปราะบางและความเสี่ยงสูง จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการเจรจา เพราะคนจนมีความเสี่ยงสูงและมีข้อจำกัดในการปรับตัวและกลุ่มคนจนคือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศหากการเจราโลกร้อนปราศจากการมีส่วนร่วมหรือเสียงของกลุ่มเสี่ยงและเปราะบางในประเทศแล้ว เราจะอยู่รอดได้ภายใต้โลกที่ร้อนขึ้นได้อย่างไรNew Picture (9)

 

สาคร      สงมา

มูลนิธิคนเพียงไพร

ผู้สังเกตการณ์การประชุมโลกร้อนครั้งที่ 18

DOHA การ์ต้า CAN-THAILAND


 

 

แสดงความคิดเห็น