หนาวนี้…จะนิ้งมั้ย…?

แม่คะนิ้งบ้านร่องกล้า อช.ภูหินร่องกล้า 13 ธค.2554

สภาพอากาศปี 2555 ค่อนข้างแปรปรวน ฤดูหนาวของภาคเหนือรวมถึงจังหวัดพิษณุโลกมาช้ากว่าทุกปี แถมช่วงปลายพย.ถึงต้นเดือนธค.2555 สภาพอากาศก็แปรปรวนอย่างมาก กลางวันร้อน ตกเย็นฝนตกหนัก ทำให้หลายคนผู้ชื่นชอบอากาศหนาวเย็นชักไม่แน่ใจแล้วว่า ฤดูหนาวปีนี้ บนอช.ภูหินร่องกล้า แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วงหน้าหนาวของจ.พิษณุโลก จะเกิดปรากฏการณ์ แม่คะนิ้ง หรือ น้ำค้างแข็งหรือไม่ ผ่านเดือนธันวาคมมาแล้ว อุณหภูมิบนยอดภูหินยังเฉลี่ยต่ำสุดที่ประมาณ 15 องศาเซนเซียสเท่านั้น ขณะที่อุณหภูมิที่จะเกิดแม่คะนิ้งได้ต้องอยู่ที่ประมาณ 0-1 องศาเซนเซียส

แม่คะนิ้งบ้านร่องกล้า 14 ธค.2554

 

แม่คะนิ้งบ้านร่องกล้า 13 ธค.2554

“ได้ลุ้นแน่นอน แม่คะนิ้งบนภูร่องกล้า” พี่เสือ  ภูร่องกล้า หรือ มนัส  สีเสือ จนท.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ อช.ภูหินร่องกล้า ที่เฝ้าสังเกตการณ์ปรากฏการณ์น้ำค้างแข็ง หรือ แม่คะนิ้งบนอช.ภูหินร่องกล้ามา 15 ปี

 

มนัส  สีเสือ จนท.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ อช.ภูหินร่องกล้า กล่าวต่อว่า แม้ว่าปีนี้อากาศหนาวเย็นจะมาช้ากว่าทุกปี แต่ช่วงนี้บนยอดภูหินร่องกล้า ก็เริ่มสัมผัสอากาศหนาวแล้ว อุณหภูมิยามเช้าเฉลี่ยที่ 15 องศาเซนเซียส และระยะจากนี้ไป เมื่อหมดฝนแล้ว อากาศก็จะเริ่มเย็นลงเรื่อย ๆ ที่บ้านร่องกล้าที่อยู่กลางอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 7 กม. และที่หน่วยพิทักษ์น้ำตกหมันแดง ไปทางเส้นทางภูทับเบิก ห่างจากบ้านร่องกล้าประมาณ 12 กิโลเมตร มีโอกาสเกิดแม่คะนิ้งในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม 2556 เป็นจุดที่เกิดแม่คะนิ้งเป็นประจำทุกปี

นักท่องเที่ยวชมปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งบ้านร่องกล้า 13 ธค.2554

 

แม่คะนิ้งบ้านร่องกล้า 28 ธค.2553

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2554 เกิดแม่คะนิ้งที่บ้านร่องกล้าช่วงแรกระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2554 และเกิดต่อเนื่องอีกหลายครั้ง ส่วนปี 2553 เกิดแม่คะนิ้งวันแรกวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ที่บ้านร่องกล้าน้ำค้างแข็งเกาะบนยอดหญ้า บนหลังขาบ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งเต็มไปหมด และเกิดต่อเนื่องในวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ที่บ้านร่องกล้าและหน่วยพิทักษ์น้ำตกหมันแดง จากนั้นจะเว้นไปช่วงหนึ่ง แล้วก็เกิดแม่คะนิ้งอีกหลายรอบ มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาค้างแรมบนภูหินจำนวนมาก

 

น้ำค้างแข็งเกาะยอดหญ้าขาวโพลน ทางไปหน่วยพิทักษ์น้ำตกหมันแดง 28 ธค.2553

มนัส กล่าวต่อว่า ปีนี้โอกาสเกิดแม่คะนิ้งบนภูหินร่องกล้าสูงมาก ตั้งแต่ตนอยู่ประจำการบนภูหิน 15 ปี มีเพียงปีเดียวคือปี 2552 ที่ไม่เกิดแม่คะนิ้ง เนื่องจากหนาวไม่พอ ส่วนที่อากาศหนาวปกติทั่วไปก็ต้องอาศัยโชคช่วย ข้างบนไม่เกิดลมกรรโชกแรง การเกิดแม่คะนิ้งภูหินร่องกล้า มีหลายปัจจัย อากาศต้องเย็น อุณหภูมิอยู่ในเลขตัวเดียว ปีที่แล้วที่บ้านร่องกล้าติดลบ 1 องศาเซนเซียส ขณะนี้ อุณหภูมิบริเวณที่ทำการอุทยานฯอยู่ที่ 11 องศาเซนเซียส ส่วนที่บ้านร่องกล้าอยู่ที่ 8 องศาเซนเซียส เมื่อเข้าถึงเดือนธันวาคมก็จะลดต่ำลงกว่านี้มาก นอกจากนี้ บนยอดภูต้องไม่มีลมกรรโชกแรง หากมีลมแรงโอกาสได้เห็นแม่คะนิ้งก็น้อยลงด้วย

 

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจวางแผนขึ้นไปสัมผัสอากาศหนาว และต้องการชมปรากฏการณ์แม่คะนิ้ง มนัส สีเสือ ให้คำแนะนำว่า ให้เฝ้าติดตามพยากรณ์อากาศในช่วงเดือนธันวาคมให้ดี เมื่ออากาศเย็นมากแล้วโอกาสเกิดแม่คะนิ้งก็มีสูงมาก หรือ สามารถโทรศัพท์มาสอบถามข้อมูลที่เจ้าหน้าที่อุทยานหมายเลข 081-5965977 หรือ เบอร์มนัส สีเสือ หมายเลข 085-0518084 ก่อนจะชมแม่คะนิ้ง นักท่องเที่ยวต้องมานอนค้างคืนบนอุทยานฯก่อน โดยสามารถมาพักเต้นท์หรือจองบ้านพักของอุทยานฯบริเวณที่ทำการอุทยานฯ และหากมีปรากฏการณ์แม่คะนิ้งในช่วงเวลา 05.00-06.00 น.ของวันนั้น เจ้าหน้าที่จะประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบ เพื่อไปชมแม่คะนิ้งที่บ้านร่องกล้าและหน่วยพิทักษ์น้ำตกหมันแดง ส่วนภูร่องกล้า ที่จังหวัดพิษณุโลก การท่องเที่ยว และอช.ภูหินร่องกล้า เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ธันวาคม 2555 นั้น โอกาสเกิดแม่คะนิ้งก็มีมากเช่นกัน แต่ต้องอยู่ในหุบเขา ที่ลมพัดไม่แรง

บ้านร่องกล้า ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก 13 ธค.2554

แสดงความคิดเห็น