นายสมชาย หาญหิรัญ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ได้นำคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมสถานประกอบในภาคเหนือ ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI เพื่อมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาปรับปรุงผลิตภาพอย่างต่อเนื่อง เผยกลุ่มธุรกิจการเกษตรกิจการผลิตผ้าไหม มะขามคลุก และกล้วยตาก พร้อมเข้าสู่การแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน (AEC) ปี 2558 โดยเฉพาะ โรงงานกล้วยตาก อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก
นายสมชาย หาญหิรัญ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวง การปรับโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นวัตกรรม และอุตสาหกรรมฐานราก เพื่อการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาและยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยจัดทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบายOne Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 600 แห่ง มีผลตอบแทนที่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเงินได้กว่า 2,600 ล้านบาท โดยในปี 2555 นี้ มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการมากถึง 158 แห่งจาก 75 จังหวัดทั่วประเทศ
“เป้าหมายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม คือการทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร แปรรูป มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับประเทศในแถบอาเซียนได้ รวมถึงการพัฒนาเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้มีความหลากหลาย มีคุณภาพ เพื่อป้องกันการถูกกีดกันและ สร้างความพอใจให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านราคา สามารถเพิ่มรายได้และยอดขายให้กับผู้ประกอบการ องค์กรและตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทให้กับลูกจ้าง กล่าวคือ เมื่อผู้ประกอบการอยู่ได้ในธุรกิจของตนเองอย่างมั่นคงแล้ว การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ จากการประเมินผลการพัฒนา ใน 6 แผนงานหลัก ประกอบด้วย1. การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน 4. การลดต้นทุนพลังงาน 5. การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล และ 6. กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด สถานประกอบการสามารถสร้างเสริมศักยภาพ ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวให้เข้มแข็งทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ พร้อมสู้กับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรไทย มีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558”
ด้าน นายเจนวิทย์ จันทรา เจ้าของกิจการกล้วยตากนิตยา อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ได้สืบทอดกิจการจากต้นตระกูลในการทำกล้วยตากเป็นอาชีพมาเป็นเวลานานนับ 100 ปี แต่เดิมเป็นการทำกล้วยตากแบบพื้นฐานชาวบ้านทั่วไป กลุ่มลูกค้าก็เป็นคนในพื้นที่ ภายหลังเมื่อมีลูกค้ามากขึ้น ได้ขยายกิจการและได้ทำระบบมาตรฐานการตากกล้วยในโดมโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และเป็นระบบปิด มีการคัดเลือกพันธุ์กล้วยที่มีคุณภาพ เหมาะแก่การทำกล้วยตาก บวกกับการปรุงรสชาติที่หวานพอดีและสะอาดถูกสุขอนามัย จึงทำให้เป็นที่นิยมของตลาดมากยิ่งขึ้น ได้รับการตอบรับจากทางลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลิตภัณฑ์กล้วยตากเป็นผลิตภัณฑ์หลักของสถานประกอบการ
นายเจนวิทย์ กล่าวต่อว่าได้พยายามที่จะทำตลาดทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเริ่มมีการพัฒนามาตรฐานการผลิต ประยุกต์ใช้ระบบ GMP และ HACCP ในสถานประกอบการเพื่อเป็นแนวทางในการประกันคุณภาพสินค้า และยกระดับมาตรฐานการผลิตกล้วยตาก โดยสัดส่วนการจำหน่ายคือ กล้วยตากอบน้ำผึ้ง 60% กล้วยน้ำว้าอบแห้ง40% ในแต่ละปีจะมียอดขายสูงช่วงเทศกาล แบ่งเป็น 2 ช่วงคือเดือนเมษายน และเดือนตุลาคมถึงมกราคม ในการผลิตกล้วยตาก จะใช้แรงงานเป็นหลัก โดยมีการใช้โดมตากกล้วยและมีเครื่องจักรมาช่วยในการผลิตบางขั้นตอน มีการควบคุมคุณภาพ แต่ยังไม่มีการเก็บข้อมูลปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ความสูญเสีย และต้นทุนการผลิต จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค ตามนโยบาย 1 Province 1 Agro-Industrial Product ด้านการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน จากการอบรมและศึกษาข้อมูล พบว่าสถานประกอบการต้องมีการปรับแก้ไขปัญหา หลัก ๆ ใน 2 เรื่อง คือ การสูญเสียของกล้วยในกระบวนการบ่มสุก และการสูญเสียจากการตากกล้วยไม่ได้คุณภาพ
จากการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางานของกลุ่มในทั้ง 2 เรื่อง สามารถลดต้นทุนและการสูญเสียของสถานประกอบการลงได้ปีละ 680,000 บาท คิดเป็นร้อยละ48 แม้ว่าจากกิจกรรมการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางานจะบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด แต่สถานประกอบการได้กระตุ้นพนักงานให้มีการดำเนินกิจกรรมการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของสถานประกอบการต่อไป
////////