ช่วงนี้คนพิษณุโลกหลายคนคงคาดคะเนกันต่าง ๆ นานา คงประมาณว่า คงเป็นภาวะโลกร้อนกระมัง นี่ก็ย่างเข้าหน้าหนาวมาร่วมเดือนแล้ว แต่ไฉนใยเล่า เมืองพิษณุโลก ไม่หนาวกับเขาซักที แถมสภาพอากาศกลับร้อนอบอ้าวในช่วงกลางวัน วันดีคืนดีฟ้าฝนก็เทลงมาซะงั้น กลางวันร้อนอบอ้าว เย็นฝนตก เช้าตรู่อากาศเย็น เฉลี่ยแล้วแต่ละวันอุณหภูมิต่างกันช่วงกลางวันกับกลางคืนถึง 10 องศาเซนเซียนส
ดินฟ้าอากาศรู้ไว้ใช่ว่า สภาพอากาศแต่ละวันเดินเคียงคู่ไปกับชีวิตประจำวันของเราทุกวันอยู่แล้ว ชาวพิษณุโลกในอดีตคงจำบรรยากาศหน้าวหนาวในอดีตได้ดี พอถึงหน้าหนาว ต้องหาเสื้อกันหนาวใหม่ ๆ มาใส่กัน เรียกว่า หนาวจับใจ ยิ่งเข้าไปในเขตป่าเขาละก้อ ถึงขั้นเย็นเข้ากระดูก แต่กาลเวลาผ่านมา 2555 ปีนี้ พิษณุโลกแทบไม่รู้จักฤดูหนาวเลย อุณหภูมิของจ.พิษณุโลกช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ช่วงเช้าต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 23 องศาเซนเซียส ส่วนกลางวันร้อน สุดอยู่ที่ประมาณ 33-35 องศาเซนเซียส หนำซ้ำ หน้าหนาวแล้ว ฝนยังเทมาเป็นช่วง ๆ อีก
ย้อนไปเมื่อ 13 มกราคม พ.ศ.2498 นับแต่ตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยาพิษณุโลกมา อ.เมืองพิษณุโลก บันทึกอุณหภูมิต่ำสุดได้ที่ 4.5 องศาเซนเซียส เรียกว่าหนาวมาก ๆ แล้วสำหรับชาวพื้นราบในเขตอ.เมือง ส่วนหน้าวหนาวปีนี้จะเป็นเช่นไร พิษณุโลกฮอตนิวส์ สัมภาษณ์นายธาดา ศรัทธา ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาพิษณุโลก รู้จักกับดินฟ้าอากาศ และอุปกรณ์การตรวจวัดสภาพอากาศหลากชนิดของกรมอุตุนิยมวิทยา
ผอ.ธาดา บอกว่า ถ้านับกันจริง ๆ จังหวัดพิษณุโลกเข้าสู่หน้าหนาวมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม เมื่อร่องมรสุมหรือ ร่องฝน พาดผ่านพ้นเขตภาคเหนือสู่ภาคกลางและภาคใต้ และจะอยู่ในช่วงหน้าหนาวไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เดือนพฤศจิกายนนี้ภาคเหนือเข้าสู่หน้าหนาว ส่วนภาคใต้ก็เข้าสู่ฤดูฝน
ในช่วงเข้าหน้าหนาว ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จะได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูง หรือ มวลอากาศเย็นจากประเทศจีน ที่แผ่ปกคลุมลงมา ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป สภาพอากาศจะเย็นขึ้น เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว แต่ปีนี้สภาพอากาศหน้าหนาวแตกต่างจากหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีคลื่นกระแสลมตะวันออกพัดพาความชื้นเข้ามาสู่ประเทศไทย และมาปะทะกับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุม ส่งผลให้ภาคเหนือมีฝนฟ้าคะนอง เมื่อหมดฝนช่วงนั้นไป อุณหภูมิก็จะลดลง 2-4 องศาเซนเซียส
ในปีที่ผ่านมา ๆ มาไม่ค่อยมีฝนตกในช่วงหน้าหนาว เนื่องจากไม่มีกระแสลมตะวันออกพัดพาความชื้นเข้ามาปะทะกับมวลอากาศเย็น ทำให้หนาว เป็นหน้าหนาวจริง ๆ
สำหรับจังหวัดพิษณุโลก คาดการณ์ว่าปี 2555 นี้ สภาพอุณหภูมิจะสูงกว่าหน้าหนาวปี 2554 เล็กน้อย ไม่ถึงกับหนาวมาก ในเขตพื้นราบ อุณหภูมิจะอยู่ประมาณ 22-23 องศาเซนเซียส ส่วนอุณหภูมิบนยอดดอย จะเย็นกว่านี้มาก ประมาณต้นเดือนมกราคม 2556 จังหวัดพิษณุโลกในเขตพื้นราบอากาศจะเย็นสบาย
แล้วขนาดไหนถึงจะเรียกว่าหนาว…? ผอ.สถานีอุตุนิยมวิทยา บอกว่า กรมอุตุนิยมวิทยามีเกณฑ์การวัดความยาวเย็น ได้แต่แก่ อากาศร้อน อุณหภูมิตั้งแต่ 35 – 40 องศาเซนเซียส อากาศร้อนจัด ตั้งแต่ 40 องศาเซนเซียสขึ้นไป อากาศเย็น น้อยกว่า 23 ลงไปถึง 16 องศาเซนเซียส อากาศหนาว น้อยกว่า 16 องศา ลงไปถึง 8 องศาเซนเซียส และอากาศหนาวจัด น้อยกว่า 8 องศาเซนเซียสลงไป
ในอดีต อ.เมืองพิษณุโลกเคยถึงเกณฑ์ หนาวจัดมาแล้ว อุณหภูมิเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2498 ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาพิษณุโลก วัดได้ 4.5 องศาเซนเซียส เรียกว่าสมัยนั้น ถ้ายังใช้เกณฑ์การช่วยเหลือแจกผ้าห่ม ตามเกณฑ์ภัยพิบัติหนาว ( ต่ำกว่า 15 องศาเซนเซียสต่อเนื่องกัน 3 วัน ) ช่วงนั้นชาวอ.เมืองพิษณุโลกคงได้รับแจกผ้าห่มกันถ้วนหน้า ขณะที่พื้นที่ประสบภัยพิบัติหนาวส่วนใหญ่ของจังหวัดพิษณุโลกนั้น อยู่ในโซนทิศตะวันออกของจังหวัดในเทือกเขา ได้แก่เขต อ.นครไทย อ.ชาติตระการ อ.วัดโบสถ์ อ.เนินมะปราง และอ.วังทอง ส่วนอำเภอพื้นราบมักไม่ค่อยหนาวจับใจ
ผอ.ธาดา เผยต่อว่า ในอดีตที่เขตเมืองพิษณุโลกเคยมีอุณหภูมิต่ำมาก เนื่องจากสมัยก่อน ผู้คนยังไม่มาก การสร้างอาคารบ้านเรือนและถนนหนทางที่เป็นคอนกรีตยังมีน้อย สภาพป่าไม้ก็ยังอุดมสมบูรณ์ ทำให้ในอดีตอากาศจะเย็นและหนาวกว่าปัจจุบันมาก แต่ปัจจุบันในเขตเมืองมีแต่อาคารคอนกรีต ถนน เป็นแหล่งรวมความร้อนในช่วงกลางวัน ส่งผลให้เขตเมืองไม่ค่อยหนาว
ยอดดอยของพิษณุโลกอุณหภูมิติดลบ…..ธาดา บอกว่า ก็เป็นไปได้ ที่สภาพอากาศบนยอดดอยสูงอากาศจะเย็นมาก ๆ แต่การวัดอุณหภูมิส่วนใหญ่จะวัดกันแบบอุณหภูมิยอดหญ้า และใช้ปรอททั่วไปวัด ซึ่ผลของการวัดอุณหภูมิก็จะต่ำมาก แต่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของการวัดอุณหภูมิที่กรมอุตุนิยมวิทยาใช้วัด
เครื่องวัดอุณหภูมิ ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาใช้ทั่วประเทศนั้น เรียกว่า เรือนเทอร์โมมิเตอร์ เป็นลักษณะกล่องสี่เหลี่ยม ตั้งไว้กลางแจ้ง ความสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร โครงสร้างตัวเรือน จะทำเป็นช่องระแนง เพื่อป้องกันกันลม มีหลังคา ภายในเรือนเทอร์โมมิเตอร์ จะมีเครื่องวัดอุณหภูมิแบบต่ำสุดและสูงสุด มีไซโครมิเตอร์แบบตุ้มแห้ง ตุ้มเปียก เพื่อวัดค่าความต่างของความชื้นในอากาศ ด้านล่างเรือนเทอร์โมมิเตอร์ จะมีเครื่องวัดอุณหภูมิต่ำสุดยอดหญ้าอีก 1 ตัว
การอ่านค่าอุณหภูมิต่ำสุด สูงสุด ของทุกวัน จะใช้ค่าอุณหภูมิจากเครื่องวัดในเรือนเทอร์โมมิเตอร์ เป็นหลัก ซึ่งค่าอุณหภูมิจะสูงกว่าเครื่องวัดอุณหภูมิต่ำสุดที่ยอดหญ้า โดยทุกอำเภอของจังหวัดพิษณุโลก มีเรือนเทอร์โมมิเตอร์ติดตั้งอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอ การรายงานผลอุณหภูมิแต่ละวัน จะส่งไปที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก
นอกจากนี้ ที่หน้าสถานีอุตุนิยมวิทยาพิษณุโลก ยังมีอุปกรณ์อีกหลายชนิด ที่ใช้วัดอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ปริมาณแสงแดดในแต่ละวัน เครื่องวัดความระเหยของน้ำ เครื่องวัดรังสีดวงอาทิตย์ เครื่องวัดความเร็วลม เป็นต้น ที่แต่ละวัน เจ้าหน้าที่จะเก็บสถิติทุกวัน ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อส่งเข้าสู่กรมอุตุนิยมวิทยา ใช้ในการประกอบการพิจารณาการพยากรณ์อากาศในวันและสัปดาห์ถัด ๆ ไป
ผอ.ธาดา เผยต่อว่า ประชาชนทั่วเริ่มให้ความสำคัญกับการพยากรณ์อากาศมากขึ้น ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาพิษณุโลก ได้รับโทรศัพท์สอบถามจากพ่อค้าแม่ค้าที่จะออกไปขายของ เจ้าของธุรกิจลานตากข้าว สอบถามข้อมูลมาตลอดว่าช่วงนี้ฝนจะตกลงมาหรือไม่ สภาพอากาศจะเข้าหน้าฝนหรือหน้าร้อนช่วงไหน อุตุพยากรณ์เริ่มเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ยิ่งช่วงนี้สภาพอากาศแปรปรวน คนก็อยากรู้ว่าเมื่อไหร่จะหนาวสักที พิษณุโลกคงอากาศเย็นสบายแน่ แต่ไม่หนาวจับใจเหมือนในอดีต
สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลการพยากรณ์อากาศรายวัน สามารถเข้าไปที่เว็ปไซด์ของกรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือ ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาพิษณุโลก เลขที่ 274 ถ.สนามบิน ต.อรัญญิก อ.เมือง จ.พิษณุโลก 650000 โทรศัพท์ 055-258585 แฟกซ์ 055-284328