“สุธีร์ เรืองโรจน์”
วันนี้ “สุธีร์ เรืองโรจน์” เพื่อนสนิทรักกันมาก เรียนวารสารศาสตร์กันมา ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยววิถีชีวิตของตนจังหวัดสุรินทร์ ที่มีนามสกุล “เมืองไทย” ที่ จ.สุรินทร์ มาเล่าขานให้พวกเราได้ติดตามอ่านกัน ตามอัตรส ชวนติดตามเป็นอย่างมาก นั่นก็คือเรื่อง “ชาติพันธุ์เขมรนักอนุรักษ์ สู่เครือข่ายป่าชุมชนตาเกาว์”
ความว่า กำนันพินิจ เมืองไทย ผู้กว้างขวางแห่ง ต.เชื้อเพลิง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ กล่าวถึงต้นกำเนิดรากเหง้าของคนในตำบลเชื้อเพลิงที่พูดภาษาเขมร ภาษาที่พี่น้องเผ่าพันธุ์เดิมได้รับอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเขมร แต่ความงดงามของการดำรงอยู่ของเชื่อสายเผ่าพันธุ์มีความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่หลอมรวมให้เรารู้สึกถึงการเป็นพี่น้องกันและก่อร่างสร้างชุมชนมาจนถึงวันนี้
พื้นที่ป่าชุมชนของชาวบ้าน เครือข่ายป่าชุมชนตาเกาว์ อยู่ในพื้นที่ ต.เชื้อเพลิง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์แห่งนี้เป็นเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชนกินอาณาเขต 3,964 ไร่ ที่นี่ผลิตอาหารเลี้ยงลูกหลานของผู้คนในชุมชนมานาน มีคณะกรรมการป่าชุมชนจาก 5 หมู่บ้านหน้าที่คือออกกฏกติกาและรับผิดชอบให้ผืนป่าแห่งชีวิตดำรงอยู่ตราบเท่าที่คนไทย เชื้อเขมรลูกหลานทั้งหลายยังเก็บเห็ด หาหน่อไม้ แย่ไข่มดแดง หากุ้งหาปลากินอยู่ ยังไม่นับหยูกยาที่หมอยาพื้นถิ่นใช้เป็นโรงงานผลิตยารักษาโรคแบบต่อเนื่องและไม่มีต้นทุนอื่นใดนอกจากแรงกายในการออกไปเก็บ รวมทั้งโรงผลิตไม้คุณภาพดีใช้สร้างบ้านกันแดดลมให้ลูกหลานต่อไปในภายภาคหน้า
ทั้งหมดนี้คืออนาคตและลมหายใจของชุมชน และไม่น่าเชื่อว่าความงดงามของผืนป่าแห่งนี้ ครั้งหนึ่งเคยอันตรธานหายไปจากชุมชนแทบจะไม่เหลือร่องรอยของผืนป่าอยู่เลย เมื่อก่อนหน้านี้ราว ปี 2520 กระแสทุนนิยมบุกเข้ายึดพื้นที่ความสุขของคนด้วยความเชื่อว่า การส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเป็นนโยบายสร้างความสุขที่แท้จริงและนำพาความร่ำรวยมาสู่พี่น้องตำบลเชื้อเพลิง ทุกคนหักล้างถางป่าเพื่อปลูกฝันในแปลงปอ ข้าวพันธุ์ แย่งกันรื้อถอนไม้น้อยใหญ่เพียงเพราะเชื่อว่า ปอและ ข้าวพันธุ์ดีที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐ จะเป็นหนทางแห่งความหวัง ทุกคนทำงานหนักกอบโกยและตักตวงพื้นที่รุกเข้าไปจนไม่มีคำว่าพอดี ใครมีที่ดินมากคนนั้นจะเต็มไปด้วยโอกาสแห่งความร่ำรวย ใครมีที่ดินน้อยก็รุกป่าเอาเข้าไปเรื่อย ๆ นานนับ10 ปีผ่านไปความร่ำรวยจากพืชเศรษฐกิจ ไม่เคยเหลือให้คนที่นี่ได้เชยชมมีแต่เพียงเรื่องเพ้อฝัน ครอบครัวแตกสาแหรกเข้าทำงานในเมือง ทิ้งลูกไว้กับคนแก่ ดินน้ำป่ายกพาความสมบูรณ์หนีจากไปไม่ใยดี
รุ่งขึ้น ปี 2536 กำนันพินิจ ทนความอัปยศอดสูไม่ได้ลุกขึ้นมาทวงถามความยั่งยืนที่ไม่มีใครตอบได้ นอกจากพี่น้องชาว ต.เชื้อเพลิง ด้วยกันว่าจะนั่งเลี้ยงหลานรอเงินกรุงเทพฯ และบุกป่าทำนา ทำไร่แย่งน้ำแย่งดิน แย่งป่ากันต่อไป หรือเราจะร่วมกันพาลูกหลานกอบกู้จิตวิญญาณบรรพบุรษคืนกลับมา มาตรการป่าชุมชนถูกหยิบยกขึ้นมาในวงเสวนาของตำบล โดยแต่งตั้งคณะกรรมการจากทุกหมู่บ้านเพื่อสร้างมติ จากนั้นจึงร่างกฎข้อบังคับป่าชุมชนมีคณะกรรมการป่าชุมชนเป็นผู้บังคับใช้กฏที่มีเพียงแค่ ห้ามตัดไม้ ห้ามจุดไฟเผาป่า และมีค่าบำรุงจากการเก็บของป่าเพื่อนำรายได้เล็กๆมาสนับสนุนงานอนุรักษ์ มติเห็นชอบข้อบังคับเดินหน้าแต่ การขอที่ดินคืนจากการครอบครองกรรมสิทธิ์จากชาวบ้านยากยิ่งกว่า การเจรจาขอคืนที่ พินิจเล่าให้ฟังว่า เจรจากันหลายรอบจึงเข้าใจ โดยเฉพาะความรู้สึกชาวบ้านที่ต้องเสียที่ดินทำการเกษตรเพื่อคืนให้เป็นป่าชุมชน แต่เราเป็นคนบ้านเดียวกัน โชคดีที่ทุกคนมีความเป็นพี่น้องเผ่าพันธุ์เราให้ลุงพี่ป้านาอาของพวกเขาไปขอที่ดินคืนมาทำป่าชุมชนจนเป็นผลสำเร็จ แผนขั้นต่อไปคือปลูกยูคาลิปตัสล้อมป่าเพื่อกำหนดอาณาเขตให้ชัดเจนเป็นหมุดหมายอนาเขตพื้นที่ป่า ก่อนนำไปสู่การบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเริ่มจากกันพื้นที่1 ใน 4 ของป่าชุมชนชุมชนตาเกาว์ จำนวน 900 ไร่ จาก 3,964 ไร่ เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ของคนทั้งตำบล ผืนป่าที่เหลือเป็นเสมือนที่กักเก็บน้ำไหลลงสู่ สระน้ำที่มีอยู่รอบบริเวณ สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านที่นี่มีน้ำมีหญ้ากิน ยังมีคลังอาหารในป่าที่เลี้ยงดูผู้คน ไม่ว่าจะเป็น พืชผัก เห็ด หน่อไม้ ตลอดปี 10 ปีเต็มแห่งความอดทนและการฟื้นฟูป่าชุมชน ตาเกาว์ผ่านไป ปี 2546 กรมป่าไม้ขึ้นทะเบียนป่าชุมชนแบ่งเป็น 5 พื้นที่โดย 5 หมู่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และบริหารจัดการเป็นเครือข่ายป่าชุมชนตาเกาว์ ประกอบกับไม้ยูคาลิปตัสที่ปลูกไว้เมื่อปี 2536 ผ่านมา 10 ปี ทางคณะกรรมการป่าชุมชนตาเกาว์มีมติให้ตัดขาย ได้เงินมา 3 ล้านบาทและแบ่งเงินมาใช้ 2 ส่วนคือ นำไปขุดลอกคลองกั้นแนวป่า และเก็บเป็นกองทุนเพื่อใช้ในงานอนุรักษ์ป่าชุมชนต่อไปนอกจากนั้น ผืนป่ายังกลายเป็นห้องเรียนของนักเรียน โรงเรียรัฐประชาสามัคคี ซึ่งมีแนวคิดในการปลูกฝังเด็ก ๆ ในโรงเรียนด้วยกิจกรรมดูแลป่าทุก ๆ เดือนเด็ก ๆที่นี่มีหน้าที่นำปุ๋ยหมักที่ครูและนักเรียนช่วยกันผลิตขึ้นนำมาใส่ต้นไม้ที่เครือข่ายป่าชุมชนปลูกไว้ ในเขตป่าชุมชนกว่า 3 ปีแล้วที่กิจกรรมเหล่านี้ค่อย ๆ ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
วันนี้ชาวบ้าน ต.เชื้อเพลิงได้เรียนรู้ว่าเงินทองที่เป็นมายาจากความหวัง ความโลภที่ขาดการรู้เท่าทัน ทำให้พวกเขาแทบจะเสียลูกหลาน ไปพร้อมกับทรัพยากรอย่างดินน้ำป่า และน้ำตาให้กับหนี้สินที่เกิดจากการลงทุนกับพืชเศรษฐกิจมองข้าวในนาเป็นสินค้าแลกเงินมากกว่าธัญญหาร โดยลืมทุนที่บรรพบุรษเก็บไว้ให้อย่างทุนทรัพยากร ทุนวัฒนธรรม และทุนภูมิปัญญา นั้นมีค่ากว่าเงินทองมากมายนัก เพราะ ข้าวปลาในป่าชุมชนเป็นของจริงเสมอ
////