หอการค้าพิษณุโลกชี้ค่าแรง 300 บาทกระทบปิดกิจการ

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 55 นายวิศว วิศวชัยวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยถึงนโยบายจ้างแรงงานวันละ 300 บาท ที่จะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2556 นี้ว่า มองว่าในช่วงเวลานี้ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าจะมีผลกระทบรุนแรงเพียงใดเนื่องจากนโยบายนี้ยังไม่ได้เริ่มใช้ แต่เชื่อมั่นว่าต้องมีผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากว่า จ.พิษณุโลกเรามีการจ้างแรงงานอยู่ที่วันละ 236-237 บาท ต่อวัน การปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตจากการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมาสินค้าหลายชนิดมีความพยายามในการขยับขึ้นราคา อาทิ สินค้าประเทศน้ำมัน ข้าว ยางพารา หรือเนื้อหมูที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ราคาข้าวแกง อาหารเกือบทุกชนิดปรับราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอาหารอยู่ที่จานละหรือถุงละ 35-40บาท แต่เมื่อเนื้อหมูปรับราคาลดลงมา ราคาอาหารยังไม่มีการปรับราคาลงมาแต่อย่างใด

 

นายวิศว กล่าวว่า การปรับราคาค่าจ้างวันละ 300 บาท ผู้ประกอบการในจังหวัดพิษณุโลกทุกแห่งกระทบ เพราะต้นทุนสูง ขณะนี้มรส่วนของสภาอุตสาหกรรม มีประเด็นเรียกร้องไปยังรัฐบาลเพื่อให้ช่วยเหลือจำนวน 21 ข้อ โดยเฉพาะเรื่องการลดหย่อนภาษี ซึ่งก็ยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะสนใจเพียงใด แต่เรื่องค่าแรง 300 บาทคงต้องทำตามเพราะเป็นกฎหมาย คงไม่มีใครกล้าฝ่าฝืน ต้นทุนเพิ่มส่วนใหญ่แรงงานกำลังรอคอยเพราะจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องสวัสดิการ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ไม่ใช่ค่าแรง ผู้ประกอบการอาจตัดไป หรือไม่ก็อาจยังคงอยู่ขึ้นอยู่ว่าการประกอบกิจการได้กำไรมากหรือน้อย มองอีกมิติ เวลานี้ ผู้ประกอบการเดือดร้อนทุกวัน เพราะแรงงานไม่มี หมายความว่าวันนี้ไม่รู้ว่าแรงงานหายไปไหนหมด มีบางสถานประกอบการจ่ายค้าแรงเกินอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีคนงาน หรือแรงงานกำลังรอเงินที่จะปรับเพิ่มขึ้น จึงมีการย้ายฐานแรงงานไปที่อื่นก่อน อนึ่งแรงงานพม่า ที่ผ่านมาเป็นครอบครัว 2-3 คน จ้าง 240 บาท เขาอยู่ได้แต่วันนี้นโยบายจ้างแรงงาน 300 บาท ทำให้แรงงานพม่ายังไม่ไหลออก เพื่อรอผลการจ้าง 300 บาทด้วย สำหรับผู้ประกอบการต้องรอผลในอีก6 เดือนข้างหน้าว่าจะเดือดร้อนจากค่าแรงที่ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นเพียงใด แนวทางแก้ไข อาจลดปริมาณคนงานลง ลอยแพคนงานด้อยคุณภาพ ย้ายฐานการผลิต หรือปิดกิจการไปเลย

 

ประธานหอการค้า จ.พิษณุโลก กล่าวว่า รัฐบาลช่วยหรือผู้ผลิตลำไย ชาวนาปลูกข้าว อุ้มราคายางพารา สามารถช่วยได้ ผู้ประกอบการก็เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากนโยบาย รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มไม่ให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่มากขึ้น จนอาจทนไม่ไหวจากปัญหาขาดทุนและต้องปิดกิจการลง

 

แสดงความคิดเห็น