แรงงานบางระกำคืนถิ่นรับจ้างโยนกล้า วันละ 300 บาท

แรงงานบางระกำคืนถิ่น รับจ้างโยนกล้า

วันนี้( 13 พ.ย.) ที่อำเภอบางระกำ  หลังระดับน้ำลด  เกษตรกรชาวนาเริ่มลงมือเพาะปลูกทำนาข้าว  โดยก่อนหน้านี้นาข้าวจำนวนกว่า 1 แสนไร่ มีน้ำท่วมขังในระดับสูง ไม่สามารถทำนาได้  ชาวบางระกำส่วนหนึ่งอพยพไปทำอาชีพรับจ้างทั่วไปตามเมืองใหญ่ ๆ  เพื่อหารายได้  แต่เมื่อระดับน้ำลด  ก็กลับมาที่ภูมิลำเนาบ้านเกิด  เพื่อลงมือเพาะปลูกทำนาข้าวของตนเอง  นอกจากนี้ยังได้ทำอาชีพรับจ้างโยนกล้า เป็นอาชีพเสริม

แรงงานบางระกำคืนถิ่น รับจ้างโยนกล้า

โดย นางมาริน  แก้วดวงเล็ก อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 87/1  หมู่ 1  ต.บางระกำ     ที่รับจ้างเพาะต้นกล้า และโยนกล้าในนาข้าว เปิดเผยว่า  ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา  ชาวนาในอำเภอบางระกำ นิยมทำนาข้าว แบบนาโยน  เนื่องจากสามารถลดต้นทุนได้มาก  ส่วนใหญ่เจ้าของนา  จะจ้างคนเพาะกล้า และโยนกล้า  เจ้าของนาจะลงทุนเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวตามที่ตนเองต้องการ  แล้วมาจ้างเพาะกล้า ในราคาถาดละ 7 บาท  เมื่อต้นกล้าอายุได้ 10 วัน  ก็จะนำมาโยนในนาข้าว  จ้างแรงงานโยนกล้า อีกวันละ 300 บาท   ซึ่งหาก นาข้าวจำนวนมาก ๆ ต้องใช้เวลานาน ก็จะมีจ่ายค่าล่วงเวลาให้

แรงงานบางระกำคืนถิ่น รับจ้างโยนกล้า
แรงงานบางระกำคืนถิ่น รับจ้างโยนกล้า

ด้าน นางศศิริญญากร  ควรชม  อายุ 28 ปี  อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ 18  ตำบลบางระกำ เจ้าของนารายหนึ่ง เปิดเผยว่า  การทำนาข้าวแบบโยนกล้า  หรือ ที่เรียกว่า นาโยน  สามารถลดปัญหาข้าววัชพืช  ข้าวดีด ข้าวเด้งในนาข้าวได้ อีกทั้งเป็นการทำนาที่ประหยัดต้นทุน  ทั้งเมล็ดพันธุ์  และปุ๋ย  ยาฆ่าหญ้าวัชพืช  และยากำจัดศัตรูข้าวได้

นางศศิริญญากร  ยังได้กล่าวอีกว่า  ตนเองทำนาข้าว  22 ไร่  ตัดสินใจเปลี่ยนจากการทำนาข้าว  แบบนาหว่าน มาเป็น นาโยน เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา  เนื่องจาก  นาข้าวประสบปัญหาข้าววัชพืชอย่างหนัก  แต่เมื่อเปลี่ยนวิธีการทำนา มาเป็นนาโยน ก็แก้ปัญหาข้าววัชพืชได้  ที่สำคัญคือลดต้นทุนการทำนาได้มากกว่าครึ่ง  ถึงแม้ว่าจะมีการจ้างคนเพาะกล้า  และจ้างแรงงานมาโยนกล้าถึงวันละ 300 บาท ต่อคนก็ตาม

////

แสดงความคิดเห็น