ตามไปดูทำขนมจีนตามวิธีโบราณ ที่บ้านท่าตะเคียน

โดย…..คมดงเสือ

ร่วมใจทำขนมจีนโบราณ

คอลัมน์ “บ้านนา บ้านเรา” ในวันนี้ ผมได้มีโอกาสนำวัฒนธรรมไทยภูมิปัญญาที่ดี ๆที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ของชาวบ้านท่าตะเคียน ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก มาให้อ่านกันครับ…โดยชาวบ้านที่นี้ได้ร่วมกันทำขนมจีนตามวิธีโบราณ เพื่อนำไปทำบุญกฐิน หลังเทศกาลออกพรรษา  เสริมสร้างความสามัคคีคนในหมู่บ้าน ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อได้สัมผัสกับบรรยากาศที่บ้านท่าตะเคียน แล้ว ก็จะทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งน้ำใจเดียวกัน ที่ทุกคนตั้งใจร่วมกันทำขนมจีน กันสนุกสนานและขะมักเขม้น  ทำให้ขนมจีนที่บ้านท่าตะเคียนแห่งนี้อร่อย ไม่มีเหมือนร้านค้าทั่วไป

ร่วมในทำขนมจีนโบราณ ที่บ้ิานท่าตะัคียน

นายดาว  ผุดเหล็ก  อดีตผู้ใหญ่บ้าน  บอกว่า ที่วัดท่าตะเคียนแห่งนี้ จะจัดให้มีประเพณีทอดกฐิน ในวันอาทิตย์แรก หลังวันออกพรรษา เป็นประจำทุกปี  แต่ละปีชาวบ้านก็จะร่วมกัน นำข้าวสาร  มะพร้าว  เครื่องแกง  ตามกำลังศรัทธา  มารวมกันที่วัด  ข้าวสารก็จะนำมาโม่เป็นแป้ง  เพื่อทำเส้นขนมจีน   เพื่อทำเป็นอาหารเลี้ยงคนที่จะมาทำบุญในวันดังกล่าว   ทั้งนี้ การทำขนมจีน  เป็นการทำตามแบบวิธีโบราณที่ได้รับการสืบทอดต่อ ๆ กันมา  คือนำข้าวสารมาโม่เป็นแป้ง  ก่อนจะนำไปผสมน้ำปั้นเป็นก้อน  แล้วต้มให้สุก  จากนั้นก็จะนำก่อนแป้งที่สุกแล้ว  มาตำให้นิ่ม เหลว  เพื่อนำไปโรยเป็นเส้นในน้ำเดือด  เมื่อสุกก็จะนำมาจับให้เป็นจับขนมจีน  อย่างที่เห็นกันตามท้องตลาด

 

ร่วมใจทำขนมจีนโบราณ ที่บ้านท่าตะะคียน

“ในช่วงเวลาหลังออกพรรษา   ชาวบ้าน  หลังจากเสร็จงานทำไร่ทำนา  ก็จะมารวมตัวกันที่วัด เพื่อเตรียมงานบุญใหญ่  คืองานทอดกฐินสามัคคีของหมู่บ้าน   โดยที่วัดท่าตะเคียน  จะมีชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน  และจากต่างจังหวัด มาร่วมทำบุญทอดกฐินสามัคคีของทางวัดเป็นจำนวนมาก   ทางคณะกรรมการวัดก็จะมีการทำอาหารไว้คอยรับรอง  และรับประทานร่วมกัน ประกอบกับชาวบ้านมีภูมิปัญญาดั้งเดิม ด้านการทำขนมจีน  อีกทั้งชาวบ้านอาศัยอยู่ริมแม่น้ำน่าน  ที่สามารถหาปลา มาไว้ทำเป็นน้ำยาได้  จึงได้ริเริ่ม ทำขนมจีน น้ำยา  เป็นอาหารไว้คอยเลี้ยงรับรองผู้ที่มาทำบุญทอดกฐิน ตั้งแต่ 5 – 6 ปีที่ผ่านมา  และทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี     การรวมตัวกันเพื่อทำขนมจีน น้ำยา ของชาวบ้าน  ยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดีอีกด้วย”

 

ชาวบ้านท่าตะเคียน ร่วมใจทำขนมจีนโบราณ

การทำขนมจีน ของชาวบ้านท่าตะเคียน นอกจากจะเป็นการรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้นำเอาภูมิปัญญาดั้งเดิม ในการทำขนมจีนโบราณ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเตาดิน โดยนำดินเหนียวมาปั้นเป็นเตา ต้มน้ำร้อนแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่แท้จริง ในแต่ละปีนั้น เมื่อเทศกาลออกพรรษาชาวบ้านจะชื่นชอบเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสแสดงฝีมือในการทำขนมจีน โดยปีหนึ่งทำขนมจีน ไม่ต่ำกว่า 20 กิโลกรัม เพื่อให้เพียงพอต่อชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน และถ้าเหลือ ก็จะแบ่งให้ชาวบ้านในหมู่บ้านอื่น ได้อีกด้วย ส่วนแป้งที่เหลือจากการทำขนมจีน ชาวบ้านที่ชอบแป้งจี่ ก็จะช่วยกันปิ้งย่างแป้งจี่ กันสนุกสนานเช่นกัน

 

////

 

 

 

 

แสดงความคิดเห็น