พิษณุโลกฮ็อตนิวส์ขอเชิญ มิตรรักนักอ่านไปลัลลา ที่เมือง เมืองแห่งสายหมอก ผีตาโขน และวัฒนธรรมที่ดีงาม ทิปนี้เป็นการเดินทางท่องเที่ยวแบบสบายกระเป๋า เพราะผู้เขียน เกาะรถตู้ไปทำให้การเดินทางค่อนข้างสบาย เริ่มแรกของการเดินทางต้องกราบไหว้นมัสการสิ่งศักดิ์ บนถนนมิตรภาพ หรือ สาย 12 โดยแวะ นมัสการเจ้าแม่กวนอิมหยกขาวที่ตั้งอยู่บนเขาสมอแคลง จากนั้นแวะศาลเจ้าพ่อเห่งเจีย ชมความงามของอำเภอวังทอง และกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย
จากนั้นมุ่งหน้าตามถนนมิตรภาพวิ่งยาว ผ่านอำเภอนครไทย เข้าสู่ตัวอำเภอด่านซ้าย จ.เลย ซึ่งเมื่อมาถึงทีมงานพิษณุโลกฮ็อตนิวส์ขอเชิญชวนมาเที่ยวที่ วัดป่าเนรมิตรวิปัสนา เป็นวัดป่าที่สำคัญในอำเภอด่านซ้าย จ.เลย มีอุโบสถศิลาแลงประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง ตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังทศชาติชาดก ฝีมือช่างด่านซ้าย และมีวิหารพระครูภาวนาวิสุทธิญาน หรือหลวงพ่อมหาพัน อดีตเจ้าอาวาสที่มรณภาพไปแล้ว ซึ่งสร้างด้วยศิลาแลงอย่างสวยงาม โดยวัดแห่งนี้เนรมิตขึ้นด้วยแรงงานของพระสงฆ์และชาวบ้านร่วมกัน นักท่องเที่ยวนิยมไปสักการะพระพุทธชินราชจำลอง สังขารของหลวงพ่อ และเที่ยวชมความสวยงามภายในวัด
จากนั้นมุ่งหน้าสู่พระธาตุศรีสองรัก พระธาตุศรีสองรัก นับเป็น พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเลย โดยตัวองค์พระธาตุนั้น มีศิลปกรรม การก่อสร้างแบบ ล้านช้าง ตัวเจดีย์สร้างแบบก่ออิฐถือปูน สูงประมาณ 30 ม. พระธาตุศรีสองรัก ได้สร้างขึ้นในแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ผู้ครอบครองกรุงศรีอยุธยาแห่งอาณาจักรสยาม สมัยนั้น และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์) แห่งอาราจักรล้านช้างสมัยนั้น เพื่อเป็นสักขีพยานในการทำสัญญาทางพระราชไมตรี และเป็นด่านกั้นเขตแดนของสองพระนครใสสมัยโน้น ทั้งนี้เนื่องจากในระหว่างที่กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ครองราชสมบัติ ตรงกับสมัยที่พม่าเรืองอำนาจ เพราะพม่ามีกษัตริย์ที่เข้มแข็งในการสงครามปกครองคือ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ และพระบุเรงนองได้ยกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีสัตนาคนหุตหลายคราว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงทำไมตรีกัน เพื่อร่วมกันต่อสู้กับพม่า และเพื่อเป็นที่ระลึกในการทำไมตรีกันครั้งนี้ ได้ทรงร่วมกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็นสักขีพยานจึงได้ขึ้นชื่อว่า “ พระธาตุศรีสองรัก ” ตามตำนานกล่าวไว้ว่าได้สร้างขึ้น ณ ที่กึ่งกลางระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำน่านบนโคกไม้ติดกัน เริ่มสร้างแต่ พ.ศ. 2103 ตรงกับปีวอก โทศก จุลศักราช 922 และเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2106 ตรงกับปีกุล เบญจศก จุลศักราช 925 ในวันพุธขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 และได้ทำพิธีฉลองสมโภชในวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 การสร้างพระธาตุศรีสองรัก นับเป็นสักขีพยานในความรักใคร่ของชนชาติเผ่าลาวในดินแดนล้านช้างสมัยนั้น มาตั้งแต่โบราณการเป็นอย่างดี พระธาตุศรีสองรักนี้ ประชาชนในท้องที่จังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในวันเพ็ญเดือน 6 จะการทำพิธีสมโภชและนมัสการพรเจดีย์ขึ้นทุกปีจนถือเป็นประเพณีตลอดมาจนทุกวันนี้
พระธาตุศรีสองรัก นับแต่สร้างมาจนถึงปัจจุบันนี้นับได้ 400 ปีเศษ นอกจากเป็นปูชนียสถานสำคัญของอำเภอด่านซ้าย ยังเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดของจังหวัดเลยอีกด้วย
หากเราเดินขึ้นไปด้านบนของวัดพระธาตุศรีสองรัก ก็จะพบเป็นเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐถือปูนมีฐานเป็นเหลี่ยม จัตุรัส ขนาดกว้างด้านละประมาณ 8 เมตร สูงประมาณ 32 เมตร อยู่ห่างจากที่ตั้งจังหวัดเลยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1กิโลเมตรและอยู่ห่างจากที่ตั้งจังหวัดเลยไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 83 กิโลเมตร องค์พระเจดีย์ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุศรีสองรักบนเนินริมน้ำหมัน ซึ่งเป็นวัดที่ไม่มีพระภิกษุพำนักอยู่ในวัด นอกจากองค์พระเจดีย์แล้ว ถัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีโบสถ์ 1 หลัง ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูปนาคปรก 1 องค์ และพระพุทธรูปอื่น ๆ อีกบ้าง และถัดองค์พระเจดีย์ไปทางทิศตะวันตกมีศิลาจารึก 1 แผ่น ซึ่งจารึกตำนานการสร้างพระธาตุศรีสองรักด้วยอักษรธรรมอยู่ด้วย ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ชาวด่านซ้ายหรือ “ลูกผึ้งลูกเทียน” จะร่วมกันจัดงานสมโภชพระธาตุศรีสองรักขึ้นโดยจะนำ “ต้นผึ้ง” (ประดิษฐ์จากโครงไม้ไผ่เป็นทรงหอปราสาทขนาดกว้าง 2 ฟุต สูง 2 ฟุตเศษ กรุรอบด้วยลวดลายงานแทงหยวกจากนั้นประดับด้วย “ดอกผึ้ง” ซึ่งทำจากแผ่นเทียนกลม ๆ บาง ๆ ตากแดดแล้วจับเป็นกลีบ ตรงกลางติดดอกบานไม่รู้โรย หรือขมิ้นหั่นเล็ก ๆ ต่างเกสรดอกไม้สีสดใส) เทียนเวียนหัว (เทียนแท่งที่ฟั่นยาวพอคาดได้รอบศีรษะ) มาถวายองค์พระธาตุถือเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมจะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุศรีสองรักขึ้นทุกปี
เมื่อกราบไหว้นมัสการพระธาตุศรีสองรัก แล้วก็ต้องชิมอาหารของที่นี้ ขอแนะนำ โต่งหมู อาหารพื้นบ้านของชาวด่านซ้าย อารมณ์ประมาณน้ำพริกปลาทู แต่แทนที่ด้วยเนื้อหมู ทานกับข้าวสวยร้อนๆ เพิ่มรสชาดอย่างมาก แต่ไม่เหมาะสำหรับคนไม่ชอบน้ำพริกกะปินะครับ
นอกจากโต่งหมูแล้วที่นี้ยังมีอาหารแปลกคือ ป่ามไข่ ที่ใช้ใบตองมาแทนน้ำมันในการทอดไข่ ทำให้ไข่ที่เจียวออกมาได้กลิ่มหอมของใบตอง นอกจากนี้ก็ยังมีเสต็กหมูน้ำจิ้มแจ่ว ที่รสชาดโดนใจให้หารับประทานอีกด้วย
หลังจากท่องเที่ยวที่ด่านซ้ายแล้ว ก็เดินทางสู่อำเภอเชียงคาน ซึ่งเขาบอกว่ามนต์เสน่ห์ของอำเภอเชียงคานอยู่ที่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ที่คงไว้ ไม่ได้ถูกความเจริญเข้ามาเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านที่นี้ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข ไม่รีบเร่ง ทำให้เป็นมนต์เสน่ห์ที่น่ามาสัมผัส ซึ่งเมื่อทีมงานพิษณุโลกฮ็อตนิวส์มาถึงก็หลงเสน่ห์ในอัธยาศรัยของชาวบ้านที่นี้ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และยังมีโอกาสสัมผัสกับถนนคนเดิน ที่สวยงาม
และแหล่งท่องเที่ยวสุดท้ายคือ แก่งคุดคู้ เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 3 กม. ประกอบด้วย หินก้อนใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมากจากการที่หินเหล่านี้อยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน ทำให้หินเหล่านี้มีสีสัน ไปต่าง ๆ ตัวแก่ง กว้างใหญ่เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขง มีกระแสน้ำไหลผ่านไปเพียงช่องแคบ ๆ ใกล้ฝั่งไทยเท่านั้นเอง ซึ่งกระแสน้ำเชี่ยวกราก เวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้ที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้ง มองเห็นเกาะแก่งชัดเจน บริเวณแก่ง มีร้านอาหารจำหน่าย มากมาย แต่ที่อยากให้ทดลองชิม คือ กุ้งแม่น้ำโขงทอดสมุนไพร ที่รสชาดอร่อยลิ้น หลังจากนั้นก็เลือกหาของฝาก
ทริปนี้แม้จะสั้นแต่ประสบการณ์ที่ได้รับมีมากมาย ดังนั้นขอยืมสโลแกนของการท่องเที่ยวมาใช้หน่อย ที่ว่า เที่ยวเมืองไทย ไม่ไปไม่รู้ มาเที่ยวไทยกันนะครับ
ยอดเพรช ไพรเรืองกิจ – เดินเรื่องภาพ
|