ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะนี้ช่วงที่ระดับน้ำแม่น้ำน่านเมืองพิษณุโลกลดระดับลงมาก อยู่ที่ระดับ 1 เมตร ส่งผลให้ ทำให้สามารถสังเกตเห็นน้ำเสียสีดำ จากท่อระบายน้ำทิ้งสองฝั่งแม่น้ำน่านในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกชัดเจนมากขึ้น สีของแม่น้ำน่านสีน้ำตาลขุ่น ตัดกับสีน้ำของท่อน้ำทิ้งหลายจุด ตั้งแต่บริเวณเหนือวัดใหญ่ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร เรื่อยมาจนถึงเชิงสะพานสุพรรณกัลยา
ท่อระบายน้ำที่ต่อตรงรับน้ำเสียจากบ้านเรือนและร้านค้าในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกหลายจุด กลายเป็นสถานที่ตกปลายอดนิยม เนื่องจากท่อน้ำทิ้ง มีอาหารที่เป็นเหยื่อของปลาขนาดเล็ก อาทิ ปลาสังขวาด ปลาแขยง จะมาออกกันเมื่อมีน้ำเสียไหลลงมาจำนวนมาก และดึงดูดให้ปลาขนาดใหญ่เข้ามากินปลาเล็กด้วย บรรดาผู้ตกปลา จึงมาปักหลักอยู่ตามท่อระบายน้ำทิ้งในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกหลายจุด
ระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครพิษณุโลก มีการดำเนินการในฝั่งตะวันออกเสร็จเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถใช้การได้ ผ่านการประชุมและแก้ไขโดยผวจ.พิษณุโลกหลายท่าน ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำรวมของเทศบาลนครพิษณุโลก ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2542 สิ้นสุดสัญญา ปี 2546 วงเงินงบประมาณ 549,500,000 บาท โครงการก่อสร้างมี 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 การก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสีย สนับสนุนงบประมาณและก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง วงเงินงบประมาณ 379,500,000 บาท จากคลองโคกช้าง ไปถึงโรงบำบัดน้ำเสียง ที่ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และส่วนที่ 2 ก่อสร้างระบบระบายน้ำและรวบรวมน้ำเสีย ระยะที่ 1 สนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อสร้างโดยเทศบาลนครพิษณุโลก วงเงินงบประมาณ 170,000,000 บาท เป็นระบบท่อน้ำเสียทั้งหมด เพื่อส่งน้ำเสียไปยังจุดรับที่คลองโคกช้าง ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ระบบยังไม่สามารถใช้งานได้
เนื่องจากเกิดปัญหาในการดำเนินการในส่วนที่ 1 กล่าวคือปัญหาไม่สามารถส่งมอบให้เทศบาลนครพิษณุโลก เนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ตรวจพบมีการชำรุดเสียหาย ท่อรั่วใต้ดิน และได้มีการดำเนินการในส่วนของการแก้ไขปัญหาจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่สามารถดำเนินการ เนื่องจากต้องรอการอนุมัติและจัดสรรงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง
ระบบบำบัดน้ำรวมของเทศบาลนครพิษณุโลก จะมีโรงระบบบำบัดน้ำเสีย บริเวณหนองอีเฒ่า ตำบลวังพิกุล อำเภอวังทอง จ.พิษณุโลก ขนาดพื้นที่ระบบบำบัดน้ำเสีย218 ไร่เป็นระบบบำบัดแบบบ่อปรับเสถียร ประกอบด้วยบ่อย่อย 5 บ่อ นำน้ำเสียจากฝั่งตะวันออกในเขตเทศบาล ดึกผ่านท่อไปที่คลองโคกช้าง และส่งตามท่อไปที่โรงบำบัดน้ำเสีย ขณะที่ปี 2553 ที่ผ่านมา เทศบาลนครพิษณุโลก กำลังดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียฝั่งตะวันตกของแม่น้ำขึ้น ขั้นตอนอยู่ระหว่างออกแบบ และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยจะนำน้ำเสียในเขตเทศบาลบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ไปบำบัดที่โรงฆ่าสัตว์เก่า เป็นระบบเร่งการตกตะกอน คาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 500 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าของโครงการ