ครูภาษาไทยดีเด่น กับรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติฯ

ครูภาษาไทยดีเด่น

หลังจาก ทางคุรุสภาประกาศผลการสรรหาครูภาษาไทยดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช 2554 จำนวน 50 คน เพื่อรับรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติจารึกพระนามาภิไธยย่อ สธ เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง ดร.ดิเรก  พรสีมา  ประธานกรรมการคุรุสภา ได้ลงนามในประกาศคุรุสภา เรื่อง ครูภาษาไทยดีเด่น เพื่อรับรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติจารึกพระนามาภิไธยย่อ สธ ประจำปีพุทธศักราช 2554  เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา ส่งผลให้นางจันทร์เพ็ญ   ภู่สมบัติขจร วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เป็นหนึ่งในคุณครู 50 คนที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ และได้รับรางวัล

รางวัลครูภาษาไทยดีเด่น กับรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติฯ

นางจันทร์เพ็ญ ภู่สมบัติขจร อาจารย์วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก เล่าประสบการณ์แห่งความสำเร็จในการเป็นครูภาษาไทยดีเด่น ประจำพุทธศักราช 2554 ว่าตนเองเริ่มสอนภาษาไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2527 ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก ด้วยความรักความศรัทธาในวิชาชีพครู มีความวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้าวิชาการใหม่ๆ ให้ความเกิดความรู้ เพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดแก่นักเรียน และลูกศิษย์ ของตนเองอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งตั้งใจที่จะเป็นข้าราชการครูที่ดี หาความรู้ใหม่ๆให้แก่ตนเองเสมอ จากประสบการณ์การสอนวิชาภาษาไทย 28 ปี ทำให้มีผลงานอย่างต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็น รายงานการใช้สื่อการสอนรายวิชาภาษาไทย เพื่ออาชีพ 1 เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก,เอกสารประกอบการเรียนการสอนรายวิชาภาษาไทยเพื่องานวิชาชีพ 1, จัดทำสื่อประเภทอิเล็กทรอนิกส์ สื่อ  VCD,CAI,PowerPoint  พร้อมคู่มือการใช้รายวิชาภาษาไทย,การจัดวิจัยเรื่อง การแก้ปัญหา การออกเสียงพยัญชนะ ร ล และพยัญชนะควบกล้ำ ร ล ว  ของนักเรียนระดับชั้น ปวช.1 วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก เป็นต้น

ครูภาษาไทยดีเด่น กับรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติฯ

“ บางครั้งรู้สึกเหนื่อย และท้อในการทำงาน เนื่องจากอุปสรรคต่างๆที่ตนเองประสบมาแต่ละครั้งแตกต่างกัน แต่ตนเองได้ถึงพระราชดำรัสพระราชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระราชทานเกี่ยวกับครูว่า ครูที่แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี คือ ต้องหมั่นขยันและอุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่นอดทน และอดกลั้น สำรวม ระวังความประพฤติปฏิบัติของตน ให้อยู่ในระเบียบ แบบแผนที่ดีงาม รวมทั้งต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ วางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ ซึ่งทำให้ตนเอง ได้กลับมาคิดว่าตนเองเป็นข้าราชการครู ก็ควรภาคภูมิใจในการรับใช้พระองค์ท่าน และประเทศชาติในการพัฒนาเยาวชนของไทยให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศอีกด้วย อีกทั้งตนเองยังภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมไทย โดยการพูด ฟัง อ่าน เขียน ภาษาไทย ที่ถูกต้องอีกด้วย ” นางจันทร์เพ็ญ กล่าว

จากความเสียสละ และความมุ่งมั่นในวิชาชีพครูภาษาไทย ของนางจันทร์เพ็ญ ภู่สมบัติขจร อาจารย์วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2554 และได้รับรางวัลจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ครุสภา กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันครูแห่งชาติ วันที่ 16 มกราคม 2555  ที่ผ่านมา

ครูภาษาไทยดีเด่น กับรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติฯ

นอกจากนี้ในปีนี้นางจันทร์เพ็ญ ภู่สมบัติขจร อาจารย์ภาษาไทย วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จังหวัดพิษณุโลก ประจำปี พ.ศ. 2555 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

นางจันทร์เพ็ญ ภู่สมบัติขจร อาจารย์วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก กล่าวอีกว่า วันหนึ่งตนเองได้สังเกตดูการใช้ภาษาไทยจากเฟชบุ้คของเยาวชน ทั้งที่เป็นลูกศิษย์และนักเรียนทั่วไป พบว่าการใช้ภาษาไทยนั้นปวดหัวเป็นอย่างมาก อ่านแล้วรู้สึกหดหู่ใจ เนื่องจากมีการใช้คำที่ผิดเพี้ยนไปมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการเขียน เช่น สวัสดีคร้าบ หวัดดีค่ะ แทนที่จะเขียนเป็น สวัสดีครับ สวัสดีค่ะ  จานสบายดีไหมคร้าบ ? ซึ่งที่ถูกต้องคือ อาจารย์สบายดีไหมครับ? ซึ่งตนเองก็เข้าใจว่าเป็นภาษาวัยรุ่น แต่ถ้าไม่คำนึงสิ่งเหล่านี้ ก็จะทำให้อาจกลายเป็นแม่บทของคนรุ่นหลังเข้าใจสิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูกได้ นอกจากนี้การออกสื่อต่างๆ บางทีทำให้ภาษาไทยไปในทางที่ผิดอีกด้วย ซึ่งเราคนไทยต้องคำนึงสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างมาก

ครูภาษาไทยดีเด่น กับรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติฯ

ถือว่าเป็นข้าราชการครูที่ดี ที่น่ายกย่องอีกท่านหนึ่ง ที่ครูทั่วประเทศน่าจะเป็นแบบอย่างในการรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย เป็นอย่างมาก ทั้งการพูด การเขียน การอ่าน หรือแม้กระทั่งการฟัง เราคนไทยก็ควรสืบทอดให้ลูกหลานได้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างดียิ่ง และควรภาคภูมิในภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของคนในชาติ ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมตะวันตกจะเข้ามาและมีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น สิ่งสำคัญยิ่งเราคนไทยควรตระหนักถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยอยู่ตลอดเวลา ผลงานของนางจันทร์เพ็ญ ภู่สมบัติขจร อาจารย์วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก นอกจากจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนในสถาบันการศึกษาแล้ว เวลาว่างยังได้ถ่ายทอดภาษาไทยให้แก่ชุมชนคนในจังหวัดพิษณุโลก ด้วยการออกเสียงสาย และรายการวิทยุ ต่างๆเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนัก และคิดถึงเอกลักษณ์ของภาษาไทยด้วยเช่นกัน

/////

แสดงความคิดเห็น