เมื่อวันที่ 3 ต.ค.55 ผู้สื่อข่าวได้สอบถามชาวนาเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ว่ามีความแตกต่างกับการประกันราคาข้าวอย่างไร และการคัดค้านโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล
นาสุรินทร์ กันแตง อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 46 ม.4 ต.ท่าทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ตนมีนาอยู่จำนวน 13 ไร่ ทุกครั้งที่รัฐบาลที่ผ่านมามีโครงการประกันราคาข้าว ตนก็เข้าร่วมโครงการตลอด และในโครงการรับจำนำข้าวครั้งนี้ตนก็เข้าโครงการเช่นกัน ซึ่งตนว่ามีความคล้ายคลึงกัน แต่ขั้นตอนยุ่งยากหลายขั้นตอน ตั้งแต่เตรียมต้องมีเอกสารใบที่ดินทำกินที่เป็นที่นา และหลักฐานจากเกษตรอำเภอ ตลอดทั้งต้องมีการประชุมในหมู่บ้านสอบถามว่ามีนาจริงหรือไม่และทำนาจริงตามที่ขอเข้าโครงการับจำนำจริงหรือเปล่า และยังมีหลายขั้นตอนจนจำแทบไม่ได้ ตนจะให้ภรรยาไปเป็นคนจัดการ กว่าจะเสร็จใช้เวลานานเหมือนกัน
นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังมีช่องโหว่ที่สามารถทุจริตได้ คือ สมมุติว่าลงทะเบียนทำนาเพียง 40-50 ไร่ แต่พอแจ้งจำนวนข้าวได้มากถึง 60-70 เกวียน ถ้าคนทำนาจะรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะความเป็นจริงนาประมาณ 10 ไร่ จะได้ข้าวไม่เกิน 8 เกวียน ส่วนการคัดค้านของอาจารย์นิด้า ตนเองก็ไม่ทราบเพราะไม่ค่อยติดตามข่าว แต่ทั้งประกันราคากับจำนำไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ คล้ายๆกัน
ด้านนายสมชาย คำกลิ่น อายุ 44 ปี อยู่บ้าสนเลขที่ 9/1 ม.11 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ตนเคยมีนาข้าวอยู่ 25 ไร่ ตอนนี้ได้ขายให้นายทุนไปแล้ว แต่ยังเช่าทำนาอยู่ที่เดิม โดยเช่าไร่ละ1,000 บาท แต่ก่อนเคยเข้าร่วมโครงการประกันราคาข้าวเหมือนกัน แต่ตอนนี้ตนไม่สามารถเข้าร่วมโครงการจำนำข้าวได้เหมือนคนอื่น เพราะไม่หลักฐานโฉนดที่นา เพราะขายไปแล้ว เจ้าของอยู่ที่เชียงใหม่ หากมองความแตกต่างระหว่างประกันราคากับจำนำ ตนว่าแตกต่างกันไม่มาก เพราะประกันราคาประมาณ 8,100 บาทไม่เกิน 25 ตัน ส่วนจำนำราคา 10,500 บาท ไม่จำกัดต้องมาหักความชื้นอีก แต่อยู่ที่ส่วนต่าง ตนว่าประกันก็ดี จำนำก็ดี