วันที่ 20 กันยายน 2555 สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดพิษณุโลกเริ่มมาหนักที่เขตอ.บางระกำในหลายตำบล มวลน้ำจากแม่น้ำยมสายหักและแม่น้ำยมสายเก่าได้มารวมกันที่อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำในแม่น้ำยมเกินกว่าจุดวิกฤติล้นตลิ่ง 7 เมตร วันนี้อยู่ที่ระดับ 8.4 เมตร หรือ เพิ่มวันละ 10-15 เซนติเมตร และแนวโน้มยังคงเพิ่มสูงต่อเนื่อง น้ำจากอ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก อ.เมืองและอ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัยเริ่มลดระดับลงมา ส่งผลให้น้ำที่ท่วมขังทุ่งนาในเขตต.ท่านางงาม ต.ชุมสงสงคราม ต.บางระกำ ต.คุยม่วง เริ่มขยายวงกว้างและเพิ่มระดับสูงขึ้นด้วยประมาณการว่ามีน้ำท่วมขังในเขตอ.บางระกำขณะนี้ประมาณ 50,000 ไร่
ที่บ้านวังแร่ ม.3 ต.ชุมแสงสงคราม อ.เมืองพิษณุโลก น้ำที่หลากท่วมทุ่งนาบริเวณนี้กว้างมากเหมือนทุกปี จนเหมือนทะเลสาบ แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับผลผลิต เนื่องจากนาข้าวทั้งหมดได้เก็บเกี่ยวไปก่อนน้ำท่วมแล้ว ในทุ่งนาเต็มไปด้วยเรือประมงขนาดเล็กออกหาปลา วางข่าย ตั้งลอบ เป็นการกอบโกยรายได้เสริมในช่วงเวลาน้ำท่วม
อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมบางระกำปี 2555 นี้ ชาวประมงพื้นบ้านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้หาปลาได้น้อยกว่าน้ำท่วมปี 2554 มาก เนื่องจากน้ำมาท่วมช้า และน้ำที่ท่วมขังกำลังเริ่มเน่าเหม็น จากเศษวัชพืชที่ทับถมกันใต้น้ำ ทำให้ปลาหนีไปหาน้ำใหม่ที่ท้ายน้ำ
นายสังวาล ปรีกมล อายุ 56 ปี ชาวบ้านบางแก้ว ม.3 ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ เปิดเผยว่า ตนมีอาชีพทำประมงออกหาปลาในคลองบางแก้ว คลองวังแร่ ปีนี้เห็นได้ชัดว่าจำนวนปลาน้อยกว่าปีที่ผ่านมามาก เป็นเพราะน้ำท่วมช้า และน้ำในทุ่งนาเริ่มเน่าเหม็น ปลาในทุ่งเริ่มว่ายตามน้ำไปหาน้ำใหม่ที่สะอาดกว่า ลอบแดงที่ตนออกวางดักปลา ติดปลามาน้อยมาก บางวันก็ขาดทุนค่าน้ำมัน ที่ใช้เติมเรือวันละ 100 บาท แต่หาปลามาขายได้แค่ 50 บาทเท่านั้น ขณะที่ปีที่แล้ว จะทำรายได้จากการหาปลาเฉลี่ยวันละ 300-500 บาท นอกจากนี้ ยังพบว่าปลาซัคเกอร์ หรือปลาดูด ได้แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ติดลอบแดง ติดข่ายขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เป็นปลาที่ขายไม่ได้ ไม่มีใครกิน
ส่วนแม่ค้าปลาที่ทำหน้าที่รับซื้อปลาจากชาวบ้านบ้านบางแก้วนำไปขายในตลาดในอ.เมืองพิษณุโลกก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้ปลาในอำเภอบางระกำมีน้อยกว่าปีที่ผ่านมามาก สาเหตุจากน้ำมาท่วมช้า และน้ำที่ท่วมขังขณะนี้เริ่มเน่าเหม็น ปลาที่ชาวประมงดักมาขายก็มีกลิ่นเหม็นของน้ำเน่า ได้ราคาไม่ได้ สำหรับปลาที่จับได้มาก ณ ขณะนี้ส่วนใหญ่ เป็นปลาแขยง ปลากด ปลากระดี่ ซึ่งรับซื้อทั่วไปในราคากิโลกรัมละ 15 บาท บางส่วนก็นำไปทำเป็นปลาร้า ส่วนปลาเนื้อที่คนนิยมจะรับซื้อในราคาสูงหน่อย ได้แก่ ปลาเนื้ออ่อนรับซื้อราคากก.ละ 120 บาท ปลาหรดราคากก.ละ 100 บาท ปลาแขยงกก.ละ 50-60 บาท