ป่าชุมชนบ้านดง

ช่วงต้นเดือนกันยายน 2555 พิษณุโลกฮอตนิวส์นำเสนอสถานการณ์น้ำท่วมทุกวัน โดยเฉพาะสถานการณ์ในเขตลุ่มน้ำยม น้ำท่วมสุโขทัย ท่วมบางระกำ มีความเห็นจากผู้อ่านท่านหนึ่งที่ผมสะดุดตา ทำไม ไม่แก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ต้นเหตุหลักของปัญหาก็คือป่าต้นน้ำเราถูกบุกรุก เปลี่ยนพื้นที่ ทำให้ป่าที่อุ้มน้ำ คอยอุ้มน้ำ ชะลอความแรงของน้ำมีลดลง

 

สิงหาคม 2555 ด้วยงานภารกิจหลัก มีโอกาสได้พบผู้นำท้องถิ่น สมบูรณ์  สังข์เครืออยู่ อดีตผู้ใหญ่บ้าน อดีตกำนัน อดีตสจ.อดีตนายกอบต.บ้านดง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ให้แง่คิดง่าย ๆ ว่า ป่าไม่ต้องปลูกมันหรอก แค่รักษาพื้นที่ไว้ไม่ให้คนบุกรุก ป่าที่เคยถูกตัดทำลาย ก็จะฟื้นตัวขึ้นมาเป็นป่าที่สมบูรณ์อีกครั้ง ส่วนการปลูกป่าก็เป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างจิตสำนึกให้คนหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ และเห็นคุณค่าของป่า ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นแหล่งอาหารคอยหล่อเลี้ยงผู้คน

 

ปี 2554 เกิดดินโคลนถล่มที่อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ สมบูรณ์ เล่าว่า เป็นพื้นที่ติดกับต.บ้านดง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ปีนั้นฝนตกหนักมากจริง ๆ ในบ้านดงเองน้ำในคลองก็ไหลล้นตลิ่ง แต่ที่อ.น้ำปาดเกิดดินโคลนถล่ม ก็เพราะป่าต้นน้ำฟากนั้นถูกทำลายกลายสภาพเป็นแปลงเกษตร ส่วนป่าซีกตำบลบ้านดงเป็นป่าอนุรักษ์ และที่สำคัญคือ เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านตำบลบ้านดงช่วยกันกันพื้นที่ ดูแลรักษาตลอดปี

 

ตำบลบ้านดง อ.ชาติตระการ เป็นท้องถิ่นที่อยู่ไกลปืนเที่ยง อยู่ห่างจากตัวอำเภอชาติตระการ  20 กม.และห่างจ.พิษณุโลก 102 กม. สภาพตำบลล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูง มี 2 หมู่บ้านอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อีก 14 หมู่บ้านอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

 

สมบูรณ์  สังข์เครืออยู่ อดีตนายกอบต.บ้านดง เล่าว่า ชุมชนบ้านดงมีประวัติการตั้งถิ่นฐานและอพยพมากว่า 200 ปี ทั้งจากล้านช้างและหลวงพระบาง ปี 2500 ชาวจ.เลยอพยพมาอยู่อีก ภาษาที่ใช้สื่อสารเป็นภาษาอีสาน ภาษาลาวชาติตระการ ปัจจุบันมีพื้นที่ 16 ชุมชน ประชากร 5,471 คน

ช่วงปี 2515-2526 เริ่มมีการบุกเบิกป่าทั้งการตัดไม้ขายนายทุนต่างถิ่น และบุกเบิกเพื่อทำไร่ของคนในชุมชน ปี 2526-2535 การบุกเบิกป่าเริ่มหนักขึ้น มีการเปลี่ยนมือการถือครองที่ดิน ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน ชุมชนเริ่มประสบภาวะแห้งแล้ง ขาดน้ำ ทำให้ผู้นำอาวุโสของชุมชนสมัยนั้น เริ่มเห็นความสำคัญของป่าไม้ เกิดแนวคิดในการดูแลป่าชุมชน เริ่มจากกันพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจำนวน 2,200 ไร่ ขอพื้นที่จากไร่ร้าง เริ่มปลูกไม้โตเร็ว เริ่มดำเนินกิจกรรมร่วมกับคนภายในชุมชนและภายนอก ได้แก่ เครือข่ายสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนจังหวัดพิษณุโลก ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ปตท.ป่าไม้ และ ดึงงบประมาณจากอบต.มาร่วม  ปี 2537-2538 ทำผืนป่าปลูกป่าปตท.และโครงการป่ารักษ์น้ำติดต่อเป็นผืนเดียวกัน เริ่มประสานงานกับกรมป่าไม้สร้างกลไกราษฏรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) และพัฒนารูปแบบกรรมการป่าชุมชนเป็น”เครือข่ายป่าชุมชนบ้านดง”

เมื่อป่าชุมชนบ้านดงเริ่มเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง จากพื้นที่เสื่อมโทรม เป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์ ชาวบ้านตำบลบ้านดงต่างเข้าใจความหมายของป่าชุมชนดีว่า เป็นป่าที่ทุกคนร่วมสร้างขึ้นมา เพื่อประชาชนใช้เป็นแหล่งอาหาร ใช้ไม้สอย ที่อยู่อาศัยขงสัตว์ แหล่งสมุนไพร รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยอยู่ภายใต้กติกาที่ชุมชนกำหนด

 

มีการตั้งกฎระเบียบและข้อตกลงในการชุป่าไม้ชุมชน มีป่าอนุรักษ์บ้านดงหมู่ที่ 1 เนื้อที่ 1,200 ไร่ และป่าใช้สอย เนื้อที่ 1,200 ไร่ ( อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงตีนตก ) โดยห้ามตัดไม้ในเขตอนุรักษ์ ห้ามจุดไฟเผาป่า ห้ามล่าสัตว์ ส่วนป่าใช้สอยนั้น ราษฏรที่มีชื่อในสำเนาทะเบียนบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ ผู้ต้องใช้ไม้จะต้องแจงขนาด ชนิด และจำนวนไม้ที่ต้องการตัดให้คณะกรรมพิจารณา

 

การจัดการป่าชุมชนบ้านดง สามารถทำให้ชุมชนพึ่งตนเองในด้านอาหาร สมุนไพร จากแนวคิดที่ว่า ป่าชุมชนเป็นของกองกลางของชุมชน ชุมชนสามารถไปเก็บผักป่า เห็ด หน่อไม้  ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากอาหารภายในครัวเรือน ผลประโยชน์ทางอ้อม ช่วยลดต้นทุนการใช้น้ำ เนื่องจากตำบลบ้านดงใช้น้ำจากประปาภูเขาร้อยละ 97 ลดต้นทุนทางการเกษตร สมาชิกที่อยู่ใกล้ป่าชุมชนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพราะฤดูฝนน้ำได้ชะล้างดินตะลอนลงสู่แปลงนา

 

ปัจจุบันป่าชุมชนบ้านดงได้ขายเครือข่ายไปครบทุกหมู่บ้านในตำลบบ้านดงแล้ว มีพื้นที่ป่าชุมชนที่ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านช่วยกันรักษาร่วม 20,000 ไร่ และยังเป็นแหล่งอาหาร แหล่งต้นน้ำให้ชาวบ้านดง วันนี้ สมบูรณ์ ครบวาระนายกอบต.บ้านดงไปแล้ว เจ้าตัวอยู่ระหว่างอาสาขอเป็นตัวเลือกเข้ามาบริหารงานอีกครั้ง จะได้หรือไม่ก็อยู่ที่ประชาชนบ้านดงครับ

 

แสดงความคิดเห็น