น้องน้ำมาช้า จิ๊บ ๆ บางระกำรับมือสบาย ๆ

แม่น้ำยมบางระกำ 19 กย.2555 สูง 7.90 เมตร เกินจุดวิกฤติ แต่เมื่อเทียบกับกันยายน 2554 น้ำยมบางระกำแตะระดับ 11 เมตรยาวนาน

บางระกำโมเดล ศัพท์บัญญัติสูตรแก้น้ำท่วมที่โด่งดังเมื่อปี 2554 โดยนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับการกล่าวถึงน้อยมากสำหรับฤดูการน้ำหลากปีนี้ อาจจะเป็นเพราะว่า ปริมาณน้ำท่วมปี 2555 น้อยกว่ามหาอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมามาก ทั้งด้านปริมาณ และระยะเวลาที่เกิดน้ำท่วม แต่สำหรับบางระกำแล้ว เป็นชื่อคลาสิคคู่กับปัญหาอุทกภัยมายาวนาน เมื่อพูดถึงน้ำท่วมครั้งใด ชื่ออำเภอบางระกำมักจะเป็นที่กล่าวขานในระดับประเทศ ด้วยเพราะน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี และตัวชื่ออำเภอก็โดนกับสถานการณ์

 

ล้ำ เลิศศรีมงคล นายอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

เดือนกันยายน 2555 อำเภอบางระกำ เพิ่งมีโอกาสได้รับน้ำหลากจากอิทธิพลของลุ่มน้ำยม ขณะนี้น้ำยมที่ล้นตลิ่งหลากทุ่งจากจ.สุโขทัย กำลังไหลบ่าทุ่งเข้าสู่ตัวอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก แต่มาด้วยเวลาที่ช้าและน้อย เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มวลน้ำก้อนแรกเริ่มมาเยือนช่วงปลาย ๆ มิถุนายน 2554 กว่าจะลาจากก็เข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ปีนี้ ท่วมขังนาน 4 เดือนเต็ม ๆ ส่วนปี 2555 มวลน้ำก่อนใหญ่พึ่งจะเริ่มมาทักทายอำเภอบางระกำในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้เอง พิษณุโลกฮอตนิวส์ ได้สัมภาษณ์นายล้ำ  เลิศศรีมงคล นายอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ถึงสถานการณ์น้ำท่วมและแนวทางการรับมือช่วยเหลือประชาชนในช่วงเกิดอุทกภัย

ทุ่งนาบ้านคลองปลากรายยังรอน้ำหลาก 19 กย.2555

 

นายอำเภอบางระกำ ระบุว่า ปีนี้อำเภอบางระกำเพิ่งได้รับผลกระทบมวลน้ำยมเดินทางมาถึงช่วงวันที่  15 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นมวลน้ำก้อนที่สอง หลังมารอบแรกแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2555 ช่วงนั้นน้ำท่วมนาข้าวไปประมาณ 1,400 ไร่ที่ม.9 บ้านตะแบกงาม ต.ชุมแสงคราม ถือว่าไม่มาก สำหรับมวลน้ำก้อนที่สองนี้ ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมา ถือว่ามาช้ากว่ามาก แต่ก็คาดว่าปริมาณน้ำที่ท่วมจะขยายวงกว้างเช่นเดิม แต่ผลกระทบคงไม่มากเท่าปี 2554

 

ทุ่งนาบ้านคลองปลากราย สิงหาคม 2554

นอภ.ล้ำ เผยต่อว่า อำเภอบางระกำ รับน้ำจากสองส่วน ส่วนแรกคือแม่น้ำยมสายหลัก ที่ไหลจากจ.แพร่ ผ่านอ.เมือง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย และเข้ามาสู่อำเภอบางระกำ ที่ ณ วันนี้ ถ้าพูดตามภาษามาตรฐานคือ ระดับน้ำเกินจุดวิกฤติแล้ว ระดับน้ำแม่น้ำยมที่สถานีวัดน้ำ Y 16 อำเภอบางระกำ น้ำยมสูง 7.90  เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือ ม.รทก. เกินจุดวิกฤติล้นตลิ่งที่ระดับ 7 เมตร หรือ ระดับ  41.0 เมตรจากน้ำทะเลปานกลาง ( ม.รทก.)  ระดับน้ำขณะนี้จะเริ่มล้นตลิ่งและไหลเข้าทุ่ง และมีแนวโน้มเพิ่มระดับขึ้นเรื่อย ๆ วันละ 10 เซนติเมตร ( เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2554 แม่น้ำยมที่อำเภอบางระกำยืนสูงที่ 11 เมตร )

ทางเข้าบ้านวังกุ่ม ต.บางระกำ 19 กย.55

 

อีกส่วนหนึ่งอำเภอบางระกำรับน้ำมาจากแม่น้ำยมสายเก่า ที่ผันแม่น้ำยมจากประตูน้ำหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ผ่านคลองหกบาท เข้าสู่แม่น้ำยมสายเก่าที่อ.พรหมพิราม ที่เรียกว่าคลองเมม ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก และเข้าสู่ต.ท่างามงาม ต.บางระกำ อ.บางระกำ หรือ ที่เรียกว่าคลองบางแก้ว ที่จะไหลมาลงแม่น้ำยมสายหลักที่อำเภอบางระกำพอดี

 

ทางเข้าบ้านวังกุ่ม ต.บางระกำ สิงหาคม 2554

นอกจากนี้ ยังมีน้ำที่ไหลท่วมทุ่ง ที่ล้นจากลำคลองสาขาต่าง ๆ ที่เชื่อมกับแม่น้ำยม และคูคลองธรรมชาติในเขตรอยต่ออ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ในเขตม.9 บ้านตะแบกงาม ต.ชุมแสงสงคราม เป็นลักษณะน้ำล้นคลอง ทั้งคลองเกตุ คลองกล่ำ คลองวังแร่ ไหลท่วมทุ่ง และกำลังไหลเข้ามาสู่ตัวอำเภอบางระกำ

 

รวมแล้ว ณ เวลานี้ 19 กันยายน 2555 มีน้ำท่วมทุ่งในเขตอำเภอบางระกำแล้วประมาณ 50,000 ไร่ ในเขตต.ชุมแสงสงคราม ต.ท่านางงาม ต.คุยม่วง ต.บางระกำ ต.หนองกุลา และเริ่มมีบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมประมาณ 200-300 หลังคาเรือน แนวโน้มหลังจากนี้ มวลน้ำจะยังคงเพิ่มระดับขึ้น และขยายวงท่วมทุ่งนามากขึ้น อาจะกินเนื้อที่น้ำท่วมถึง 100,000 ไร่

กลุ่มบ้านริมแม่น้ำยมทางเข้าประตูระบายน้ำคอลงบางแก้ว น้ำเพิ่งเริมเข้าท่วมพื้น 19 กย.55

 

นายอำเภอบางระกำ ระบุว่า น้ำท่วมบางระกำปี2554 เมื่อเทียบกับน้ำท่วมปี 2555 ต่างกันมาก ทั้งปริมาณน้ำที่ไหลมาน้อยกว่า และระยะเวลาที่มาล่าช้ากว่าทุก ๆ ปี และเมื่อประเมินศักยภาพการระบายน้ำที่ท่วมขังออกสู่แม่น้ำน่าน ผ่านคลองระบายน้ำ DR 15.8 และ คลองระบายน้ำ 2.8 แล้ว ประเมินว่าปีนี้น้ำคงไม่ท่วมสูง และไม่ท่วมนาน และน่าห่วงถึงการทำนาในฤดูแล้งปีหน้าด้วยซ้ำ เพราะปกติแล้ว ชาวนาในเขตอำเภอบางระกำส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยน้ำบาดาลในการทำนา เมื่อถึงฤดูการน้ำท่วม จะเป็นผลดีต่อการเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน บ่อบาดาลจะมีน้ำใต้ดินมาก แต่ปีนี้ถ้าท่วมไม่นาน อาจจะกระทบกับปริมาณน้ำใต้ดินด้วยซ้ำไป อาจกระทบกับการทำนาปรังปี 2556 ด้วยซ้ำ

กลุ่มบ้านริมแม่น้ำยมทางเข้าประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว สิงหาคม 2554

 

ส่วนพื้นที่ที่ท่วมขังอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว และส่วนใหญ่ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นนาข้าวที่เก็บเกี่ยวหมดแล้ว มีบางส่วน เช่น ในเขตต.คุยม่วง ที่นาข้าวอยู่ระหว่างรอการเก็บเกี่ยว เมื่อน้ำเริ่มท่วมชาวบางระกำก็เริ่มปรับวิถีชีวิตออกหาปลาเป็นอาชีพเสริม

 

และเมื่อเทียบปริมาณน้ำที่เริ่มท่วมเนื้อที่ 50,000 ไร่ ประเมินว่าถ้าไม่มีฝนตกซ้ำ ในปี 2555 น้ำอาจจะท่วมทุ่งนาอ.บางระกำ 100,000 ไร่ นายอำเภอบางระกำ บอกว่า ปีนี้ไม่หนักหนาสาหัส เมื่อเทียบกับปีก่อน บางระกำท่วมทุกตำบล ท่วมที่นาข้าว 280,000 ไร่ จากพื้นที่ของอำเภอบางระกำทั้งหมดประมาณ 500,000 ไร่ ปีที่แล้ว นาข้าวเสียหายมหาศาล ปีนี้นาข้าวได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะเก็บเกี่ยวหมดแล้วก่อนน้ำจะท่วมทุ่ง

ชุมชนเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมก่อนเข้าตัวอำเภอบางระกำ 19 กันยายน 2555
ชุมชนเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมก่อนเข้าสู่อำเภอบางระกำสิงหาคม2554

 

สำหรับการเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนนั้น ก่อนเริ่มต้นฤดูน้ำหลาก อำเภอบางระกำ ได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้งอบต. เทศบาล จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจและป้องกันบรรเทาสาธารณภัยท้องถิ่นแล้ว เช่นเดียวกับศูนย์เฉพาะกิจป้องกันแบะบรรเทาสาธารณภัยอำเภอบางระกำ ที่มีเครือข่าย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คอยแจ้งข้อมูลพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย ในส่วนของอำเภอจะทำหน้าที่ประสานหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย หากสถานการณ์หนัก ก็จะมีระดับจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือ ประชาชนประสบปัญหาใด ๆ โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือที่อำเภอบางระกำได้ที่หมายเลข 055-371241

ที่ว่าการอำเภอบางระกำ กันยายน 2555

 

ที่ว่าการอำเภอบางระกำ กันยายน 2554

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศบริเวณที่ว่าการอำเภอบางระกำในเดือนกันยายน 2555 ในนี้ที่ว่าการอำเภอบางระกำไม่คึกคักเหมือนปีก่อน ที่นายกรัฐมนตรีริเริ่มแนวทางแก้ไขน้ำท่วมภัยแล้งแบบบูรณาการ ใช้จังหวัดพิษณุโลกต้นต้นแบบในชื่อ บางระกำโมเดล มีการตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตั้งรถติดจานดาวเทียมเป็นเครือข่ายการสื่อสาร ปี2554 มีผู้หลักผู้ใหญ่ ทั้งระดับนายกรัฐมนตรี  อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลากหลายกระทรวง ผู้ใจบุญมากหน้าหลายตามุ่งหน้าเข้าช่วยเหลือชาวบางระกำไม่ขาดสาย เทียบกันแล้ว น้ำท่วมบางระกำ 2555 เงียบเหงาจริง ๆ

ป้ายศูนย์ช่วยเหลือบางระกำโมเดลปี 2554

 

แสดงความคิดเห็น