นางสาวพัชรา ศรีดุรงคธรรม หัวหน้ากลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนของทุกปีมักมีการระบาดของโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู ซึ่งในบางพื้นที่มีน้ำท่วมหนักจะมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคฉี่หนู และอาจมีผู้เสียชีวิตได้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาในพื้นที่ 5จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ( พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก และสุโขทัย ) พบว่าการระบาดของโรค มากขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม จนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี สำหรับในปี 2555 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนมิถุนายน พบผู้ป่วยแล้ว 31 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต เปรียบเทียบกับปี 2554 ในช่วงเวลาเดียวกันพบผู้ป่วยสูงมากกว่า และคาดว่าในเดือนสิงหาคม จนถึง พฤศจิกายน2555 จะมีแนวโน้มการระบาดจะสูงขึ้น โดยกลุ่มเกษตรกรจะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคฉี่หนูมากที่สุด เนื่องจากมีโอกาสการสัมผัสกับเชื้อโรคมากและบ่อยครั้งกว่า
เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฉี่หนูคือเชื้อแบคทีเรีย “เลปโตสไปร่า” อาศัยอยู่ในสัตว์พาหะเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัว ควาย สุนัข แมว แต่ที่สำคัญที่สุดคือ หนู เชื้อจะออกมากับปัสสาวะของสัตว์พาหะได้ตลอดเวลา มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมในดิน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก แม่น้ำลำคลองและอยู่ได้นานเป็นเดือนถ้ามีปัจจัยที่เหมาะสม เชื้อนี้จะเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยโดยเข้าไปทางรอยแตกหรือแผลเล็กๆ บนผิวหนังหรือผิวหนังที่เปื่อยเมื่อแช่น้ำนานๆ และเยื่อบุที่อ่อนนุ่ม เช่น ตา จมูก ปาก เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะฟักตัว 5 – 14 วัน จะเริ่มมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดน่อง ตาแดง ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากเชื้อโรคสามารถกระจายไปทั่วตัว จึงมีภาวะแทรกซ้อนได้หลากหลายระบบ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากภาวะไตวาย ตับล้มเหลว ระบบหายใจล้มเหลว แต่หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยจากสาธารณสุขได้เร็วและได้รับยาปฏิชีวนะตามข้อกำหนดผู้ป่วยก็จะหายได้
นางสาวพัชรา ยังกล่าวเตือนว่า ผู้ป่วยที่มีอาการชี้ชัดและมีประวัติเคยสัมผัสแช่น้ำในช่วง 1 เดือนก่อนจะมีอาการป่วย ควรรีบไปเข้ารับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านโดยทันที ไม่ควรวินิจฉัยและรักษาเอง หากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ โทรศัพท์1422