วิถีพุทธไทย-ศรีลังกา บนงานศิลปะ

ว่ากันว่า ศิลปะคือการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ไม่มีขีดจำกัด แม้จะต่างชาติ ต่างภาษา ก็สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้โดยอาศัยเส้นสายลวดลายเป็นสื่อกลาง ส้างสานสัมพันธ์ได้อย่างไม่มีเงื่อนไข และยังเกิดเป็นองค์ความรู้อันทรงคุณค่าอีกด้วย ดังเช่นงานนิทรรศการศิลปกรรม “ครรฉ่องส่องพุทธธรรม สยาม-ศรีลังกา ครั้งที่ ๒” ซึ่งทางสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับวิทยาลัยเพาะช่างจัดขึ้นในวันที่ ๗ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๕ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยเป็นการจัดแสดงผลงานสะท้อนวิถีแห่งพุทธศาสนาของประเทศศรีลังกา อันมีความแตกต่าง หลากหลาย และผูกพันกับการดำเนินชีวิตในมุมมองต่าง ๆ

อาจารย์พัลลภ วังบอน จากวิทยาลัยเพาะช่าง หนึ่งในศิลปิน เล่าถึงที่มาของการจัดแสดงงานในครั้งนี้ว่า “ย้อนไปในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ทางมูลนิธิ SEWALANKA ประเทศศรีลังกา และมูลนิธิเสฐียร โกเศศ-นาคะประทีป ประเทศไทย ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนทางพุทธศิลป์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศศรีลังกา โดยส่งศิลปินชาวศรีลังกาประมาณ ๘ – ๙ คน มาที่วิทยาลัยเพาะช่าง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิค วิธีการและแนวคิดในการสร้างผลงานศิลปะตามความชำนาญและความถนัดของศิลปินแต่ละคน เราใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง แต่จริง ๆ แล้ว เราพูดกันน้อยมาก แต่สื่อสารกันด้วยภาษากาย จะปั้นอย่างไร วาดอย่างไร เขียนอย่างไร จะจับมือเพ้นท์อย่างไร”

ศิลปินไทยและศิลปินศรีลังกาใฃ้เวลาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่หลายเดือน ต่างคนต่างทำงานตามที่ตัวเองชอบ เกิดเป็นผลงานอันหลากหลาย ในที่สุดจึงร่วมใจกันจัดนิทรรศการศิลปกรรม “ครรฉ่องส่องพุทธธรรม สยาม-ศรีลังกา ครั้งที่ ๑” ขึ้น ณ หอศิลป์วิทยาลัยเพาะช่าง ซึ่งประสบความสำเร็จได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี และแม้ศิลปินศรีลังกาจะเดินทางกลับประเทศของตน ก็ยังติดต่อประสานงานกันตลอดเวลา มีการส่งศิลปินมาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ทางศิลปินกลุ่มพุทธศิลป์และอาจารย์จากวิทยาลัยเพาะช่างได้เดินทางไปเรียนรู้วิถีชีวิต เก็บประสบการณ์เกี่ยวกับพุทธศาสนาของประเทศศรีลังกา ซึ่งมีความเคร่งครัดและแตกต่างจากบ้านเรา เมื่อกลับมาเมืองไทยเกิดความรู้สึกประทับใจในสิ่งที่พบเห็น จึงร่วมกันจัดนิทรรศการศิลปะขึ้น โดยเป็นนิทรรศการภาพถ่าย แต่ดูเหมือนยังไม่สามารถบรรยายถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกได้อย่างถึงแก่น จึงได้นำแรงบันดาลใจมาปรับเป็นเทคนิคเฉพาะตัวของแต่ละคน สร้างสรรค์ผลงานทั้งสีน้ำ สีอะคริลิก สื่อผสม งานเย็บ งานปั้น งานแก้ว และงานเซรามิค นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนศิลปินชาวศรีลังกาส่งผลงานมา รวมแล้วกว่า ๗๐ ชิ้น ร่วมจัดแสดงในงานนิทรรศการศิลปกรรม “ครรฉ่องส่องพุทธธรรม สยาม-ศรีลังกา ครั้งที่ ๒” ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผลงานภาพพิมพ์เทคนิคผสม “บูชา” ของอาจารย์พัลลภ วังบอน
ผลงานภาพพิมพ์เทคนิคผสม “บูชา” ของอาจารย์พัลลภ วังบอน
ผลงานภาพพิมพ์เทคนิคผสม “บูชา” ของอาจารย์พัลลภ วังบอน

ยกตัวอย่างผลงานภาพพิมพ์เทคนิคผสม “บูชา” ของอาจารย์พัลลภ วังบอน “ปกติแล้วคนไทยเวลาไปวัด จะต้องจัดเตรียมข้าวปลาอาหารอย่างครบครัน และจะมีแต่กับข้าวก็ไม่ได้ ต้องมีน้ำด้วย เพื่อเป็นอานิสงส์เมื่อถึงคราวเสียชีวิต แต่สำหรับคนศรีลังกาเมื่อถึงวัด ต้องถอดรองเท้าไว้ที่รถแล้วเดินเท้าเปล่า จะไกลแค่ไหน พื้นมีก้อนกรวด ก้อนหิน เป็นหญ้า หรือปูนร้อน ๆ ก็ต้องปฏิบัติอย่างนี้ เพราะเขาค่อนข้างเคร่ง เมื่อเข้าไปในวัดต้องสวมเสื้อสีขาว ต้องสงบ การเข้าไปบูชาพระพุทธเจ้า เขาจะมีกระทงดอกไม้ ที่เต็มไปด้วยดอกไม้หลายชนิดปะปนกัน ซึ่งตั้งใจเก็บมา ทำเป็นกระเช้า นำไปบูชาหน้าแท่นพระ”

นี่คือวิถีที่เปลี่ยนแปลง เราจึงไม่ได้ไปเรียนรู้แค่ศาสนาอย่างเดียว แต่เป็นวิถีที่ใช้กับพุทธศาสนาอันแตกต่าง เป็นความเชื่อที่แตกต่างจากเรา ผมเกิดความประทับใจในบรรยากาศ ภาพดอกไม้ที่ตกกระทบแสงเงา เป็นการแสดงตัวว่า ไม่ได้เป็นแค่ดอกไม้ที่สวยและหอม แต่ยังมีคุณค่าด้วยการนำไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่เหนือตัวเอง ซึ่งชาวศรีลังกาให้ความเคารพและศรัทธา”

อาจารย์อภิศักดิ์ วัฒิวรรณผล
ผลงานดินเผา “ปางสมาธิ” ของอาจารย์อภิศักดิ์ วัฒิวรรณผล

ผลงานดินเผา “ปางสมาธิ” ของอาจารย์อภิศักดิ์ วัฒิวรรณผล “เป็นรูปพระพิฆเนศปางฤาษี พูดถึงเรื่องการมีอิทธิฤทธิ์ จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า ผู้ที่จะมีอิทธิฤทธิ์ได้นั้นต้องมีการบำเพ็ญเพียรมาก่อน ทำไมเราจึงไปแสดงที่ปลายเหตุ คือเรื่องของความสำเร็จ ความยิ่งใหญ่ ทำไมไม่มาดูว่าก่อนที่ท่านจะสำเร็จ ต้องผ่านการบำเพ็ญเพียร การบูชาปางสมาธินี้จึงเป็นการเตือนสติว่า การที่จะประสบความสำเร็จ และมีบารมีได้นั้น จะต้องบำเพ็ญเพียรมาก่อน”

ผลงานจิตรกรรม “โลกุตรธรรม” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ “การไปศึกษาดูงานที่ประเทศศรีลังกา ไม่ใช่เราไปเป็นเขา แต่เราไปดูความเป็นมาเป็นไป ดูถึงฐานราก เราต้องยอมรับว่า พุทธศาสนาเรารับมาจากอินเดีย อินเดียเคยถ่ายทอดให้ลังกา เราเคยไปนำของลังกามา และลังกาก็เคยนำของสยามวงศ์ไป เพราะฉะนั้นการถ่ายทอดรูปแบบทางศิลปกรรมจึงมีพัฒนาการ มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน แต่ความงามเฉพาะถิ่นหรือรสชาติเฉพาะทางของประเทศเขานั้น ผมประทับใจในโลกุตระบนเศียรของพระพุทธเจ้าที่มีการขมวดหัว จึงหยิบยืมมาปรากฏในภาพนี้ ลวดลายต่าง ๆ ที่เขาเน้น ไม่ว่าต้นไม้ใบหญ้า หรืออะไรก็ตาม เมื่อพูดถึงปัญญา เขาจะนำโลกุตระมาเสียบบนยอดต้นไม้นั้นเลย ในขณะที่พุทธศาสนาของไทยไม่กล้าทำ นอกจากนี้ในภาพยังมีกิ่งโพธิ์ เป็นการสื่อถึงประเทศศรีลังกาที่มีหน่อโพธิ์ที่สำคัญ มีใบหน้าของพระพุทธรูปหรือพระสาวกมองลงต่ำ แสดงถึงความสงบ”

ผลงานจิตรกรรม “โลกุตรธรรม” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์

กล่าวได้ว่า ภาพทุกภาพ ผลงานทุกชิ้น ในนิทรรศการศิลปกรรม “ครรฉ่องส่องพุทธธรรม สยาม-ศรีลังกา ครั้งที่ ๒”  ล้วนสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำ ความประทับใจในวิถีแห่งพุทธศาสนาของชาวศรีลังกา ให้ผู้ชื่นชมได้รับทั้งความรื่นรมย์ และแนวคิดอันแตกต่าง เพื่อการเรียนรู้และปรับประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีสติและรู้ตัวตน

ผลงานจิตรกรรม “โลกุตรธรรม” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์

 

พรปวีณ์  ทองด้วง

นักประชาสัมพันธ์

สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

แสดงความคิดเห็น