น้ำยมหลากท่วมสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร คราใด ภาพหนึ่งก็มักจะมองเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นจำเลยทุกปีไป นัยว่า เพราะลุ่มน้ำยมไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำในการบริหารจัดการน้ำ ต่างจากลุ่มน้ำหลักของภาคเหนือ ปิง วัง น่าน ที่มีเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ในการบริหารจัดการน้ำท่วม เรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นมองได้หลายด้าน ทั้งมุมบวกและลบ แต่ขณะนี้ในสถานการณ์ปัจจุบัน และคงต่อเนื่องไปอีกหลายปีดีดัก ลุ่มน้ำยมในเขตภาคเหนือตอนล่าง ต้องอาศัยการบริหารจัดการน้ำเชื่อมระหว่างแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านเป็นหลัก นั่นคือ การผันน้ำจากแม่น้ำยมในเขตจ.สุโขทัย มาลงแม่น้ำน่านในเขตจ.อุตรดิตถ์และพิษณุโลก
อธิบายง่าย ๆ คือ ลุ่มน้ำยม จะไหลคู่ขนานจากเหนือลงใต้มาคู่กับลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำน่าน มีเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแอน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เขื่อนนเรศวร อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ เขื่อนสิริกิติ์เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สามารถควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านได้ เช่น ณ เวลานี้ 16 กันยายน 2555 เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำในอ่าง 60 % ยังสามารถรองรับน้ำเหนือเขื่อนได้อีกเพียบ การระบายน้ำออกท้ายเขื่อนในสถานการณ์ที่ลุ่มน้ำยมมีน้ำมาก ณ วันนี้ ก็ลดการระบายออกมาน้อยลง วันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อให้แม่น้ำน่านในเขตอ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ในเขตอ.พรหมพิราม อ.เมือง และอ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก อยู่ในระดับต่ำ เมื่อแม่น้ำน่านอยู่ในระดับต่ำ ก็จะสามารถระบายน้ำจากแม่น้ำยมในสุโขทัยลงมาสู่แม่น้ำน่านได้
ส่วนลุ่มน้ำยมนั้น มีเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการน้ำ คือ ประตูน้ำหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ประตูกั้นแม่น้ำยม ทำหน้าที่ทดแม่น้ำยมทดน้ำออกฝั่งซ้ายเข้าสู่คลองหกบาท ระบายน้ำยมจากสุโขทัยลงแม่น้ำน่านที่อ.พิชัยจ.อุตรดิตถ์ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่ง ลงมาสู่แม่น้ำยมสายเก่า หรือ คลองเมม ในเขตอ.พรหมพิราม ผ่านต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก มากลายเป็นชื่อคลองบางแก้วในเขต ต.ท่าทางงาม และต.บางระกำ มาลงสู่แม่น้ำยมตรงอำเภอบางระกำจ.พิษณุโลกพอดี นายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ในปี 2554 จังหวัดพิษณุโลกประสบภัยน้ำท่วมมากกว่าทุก ๆ ปี ฝนตกหนัก ทั้งลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยมถูกน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรและพื้นที่บ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก ในปี 2555 ได้เตรียมการรับมือปัญหาน้ำท่วมปีนี้พร้อมแล้ว ในส่วนพิษณุโลกมีลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม ในส่วนของลุ่มน้ำน่านมีเครื่องมือใหญ่ในการบริหารจัดการ ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ จ.อุตรดิตถ์ ขณะนี้กรมชลประทานพร่องน้ำเรียบร้อยแล้ว ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ก็ยังสามารถรองรับน้ำได้มาก และมีเขื่อนนเรศวร ที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมปริมาณน้ำ
ส่วนพื้นที่ตอนล่าง พื้นที่รับน้ำนั้น ที่ลุ่มน้ำต่ำของแม่น้ำยม ณ วันนี้ เรามีการขุดลอกคลองต่าง ๆ เพื่อใช้ระบาย คลองเกตุ คลองกล่ำ คลองกรุงกรัก คลองเมม และการขยายประตูระบายน้ำบางแก้ว ส่วนคลองที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือคลอง DR 2.8 ที่ระบายน้ำจากแม่น้ำยมออกสู่แม่น้ำน่าน ก็มีการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้มากขึ้น ทั้งหมดเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ถ้าเกิดฤดูน้ำหลากก็จะใช้เครื่องมือเหล่านี้บริหารจัดการ เพราะลุ่มน้ำยมเราไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในแต่ละปี มีน้ำ 4,100 ล้านลบ.ม. แต่เก็บได้แค่ 406 ล้านลบ.ม. จึงต้องใช้วิธีบริหารจัดการโดยระบบเครือข่ายคลองเหล่านี้
แผนระยะยาวของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า ทางชลประทาน แก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยมองจากโครงข่ายน้ำแม่น้ำยม-แม่น้ำน่าน เป็นโครงข่ายน้ำที่มีความสำคัญเชื่อมโยงน้ำระหว่างแม่น้ำยมกับ แม่น้ำน่าน อยู่ในเขตพื้นที่ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดพิษณุโลก ในระบบโครงข่ายน้ำมีลำน้ำสายหลักที่อยู่ทางด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม (หันหน้าตามทิศทางน้ำไหล) คือ – คลองผันน้ำสวรรคโลก-พิชัย มีความยาว 38 กม. : ผันน้ำจากแม่น้ำยม ไปลงแม่น้ำน่าน – แม่น้ำยมสายเก่า มีความยาว 82 กม. : ผันน้ำจากแม่น้ำยม เพื่อเลี่ยงเมืองสุโขทัยลงสู่แม่น้ำยมสายเก่า หรือที่เรียกกันว่า คลองเมม-คลองบางแก้ว: – คลองระบายน้ำ DR.15.8 มีความยาว 15.8 กม. : ผันน้ำจากคลองเมม-คลองบางแก้ว ไปลงแม่น้ำน่าน- คลองระบายน้ำ DR.2.8 มีความยาว 2.8 กม. : ผันน้ำจากแม่น้ำยม ไปลง แม่น้ำน่าน จากระบบโครงข่ายน้ำที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ระหว่าง 2 แม่น้ำ นี้ มีประโยชน์อย่างมากสำหรับใช้ใน การบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วง ฤดูฝน และ ฤดูแล้ง กล่าวคือ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน แม่น้ำยมเกิดปัญหาอุทกภัย น้ำจาก แม่น้ำยม สามารถผันไปยัง แม่น้ำน่าน ส่วนฤดูแล้ง แม่น้ำยมเกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำจาก แม่น้ำน่าน สามารถผันไปยัง แม่น้ำยม
การบริหารจัดการน้ำบริเวณคลองเมม (คลองเมม-คลองบางแก้ว) เป็นการบริหารจัดการน้ำในระบบโครง ข่ายน้ำแม่น้ำยม-แม่น้ำน่านในบริเวณพื้นที่ตอนล่างใต้จังหวัดสุโขทัยลงมา อยู่ในเขตจังหวัดพิษณุโลก ซึ่ง คลองเมม หรือ แม่น้ำยมสายเก่า เป็นคลองที่มีความสำคัญมากทั้งใน ฤดูฝน และ ฤดูแล้ง เป็นคลองที่อยู่ในระบบ โครงข่ายน้ำ แม่น้ำยม-แม่น้ำน่าน เชื่อมต่อกับแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน
โดยผ่านระบบโครงข่ายน้ำ ดังนี้ เชื่อมต่อกับ แม่น้ำยม โดยเชื่อมมาจากแม่น้ำยมสายเก่า ซึ่งแม่น้ำยมสายเก่ารับน้ำมาจากคลองหกบาท ที่บริเวณประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย แม่น้ำยมสายเก่านี้ ทำหน้าที่ผันน้ำจากแม่น้ำยมเลี่ยงเมืองสุโขทัย ลงมาสู่คลองเมม-คลองบางแก้ว ความสำคัญของ คลองเมม-คลองบางแก้ว นอกจากจะช่วยรับน้ำที่ผันเลี่ยงเมืองสุโขทัยมาดังกล่าวแล้ว ยังทำหน้าที่ ระบายน้ำที่ท่วมในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่บริเวณ อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ลงมาถึงอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และระบายออกสู่แม่น้ำยม โดยระบายผ่าน ประตูระบายน้ำบางแก้ว อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นช่องทางแรก
และอีกช่องทางหนึ่ง คือน้ำจากคลองเมม-คลองบางแก้ว ระบายเข้าสู่คลองระบายน้ำ DR.15.8 ไปลงสู่แม่น้ำน่านเชื่อมต่อกับ แม่น้ำน่าน โดยเชื่อมมาจากคลองชักน้ำแม่น้ำน่าน-คลองเมม ซึ่งเป็นคลองชักน้ำ ที่ชักน้ำ มาจากแม่น้ำน่านมาลงคลองเมม-คลองบางแก้ว ในฤดูแล้ง ปริมาณน้ำที่รับเข้าคลองเมม-คลองบางแก้ว จะแพร่กระจายไปตามคลองสาขาต่างๆ สำหรับใช้ทำนาเป็นพื้นที่ประมาณ 312,600 ไร่ บริเวณทุ่ง อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และ ขึ้นไปถึงบริเวณ อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เป็นการช่วยฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม นอกจากนี้ในช่วงฤดูแล้งแม่น้ำยมแห้งขอดน้ำจากคลองเมม-คลองบางแก้ว จะถูกระบายผ่านประตูระบายน้ำบางแก้วลงสู่แม่น้ำยม ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ ตั้งแต่อำเภอ บางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ลงไปถึง อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร คลองระบายน้ำ DR.2.8 ซึ่งเป็นคลองที่ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำจากแม่น้ำยมไปลงสู่แม่น้ำน่านโดยตรง คลองยาว 2.8 กม. (จุดนี้แม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน ห่างกัน 2.8 กม.) สามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 250 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในแม่น้ำยมได้มาก รับประโยชน์ ทั้งในเขตพื้นที่ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก และ จังหวัดพิจิตร
จะเห็นได้ว่า จากระบบโครงข่ายน้ำแม่น้ำยม-แม่น้ำน่าน ที่มีอยู่ และ การบริหารจัดการน้ำ ที่ กรมชลประทานดำเนินการ เป็นการเชื่อมโยงน้ำระหว่าง 2 ลุ่มน้ำน้ำ ที่เกิดประโยชน์อย่างมาก ทั้งในเรื่องของ การผันน้ำขณะเกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และการผันน้ำจากแม่น้ำน่านมาลงแม่น้ำยม ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง สถานการณ์ ณ เดือนกันยายน 2555 ดูแล้วน้ำอาจจะไม่มากเหมือนกันยายน 2554 แต่ก็ทำให้สุโขทัยระทมหนัก 9 กันยายน 2555 น้ำท่วมเมืองละลอกแรก ครั้งนั้นก็ใช้เครือข่ายคูคลองการระบายน้ำยมลงน่าน จนทำให้น้ำเต็มทุ่งเขตจ.พิษณุโลก
16 กันยายน 2555 น้ำยมสูงมากอีกละลอก ปฏิบัติการช่วยคลี่คลายวิกฤติสุโขทัยเริ่มระบายน้ำยมลงน่านและคลองเมมอีกครั้ง วันนี้น้ำยมกำลังนองสุโขทัย ก็จำเป็นต้องผันน้ำลงน่านอีกครั้ง และส่วนหนึ่งจะเข้าท่วมในเขตอ.พรหมพิรามก่อนใครเพื่อน และจากแผนบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำยมเขตภาคเหนือตอนล่าง ชาวพิษณุโลกก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ในอดีตพื้นที่ลุ่มเหล่านี้ ก็ถูกน้ำยมหลากท่วมทุ่งเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่อดีต เป็นน้ำท่วมทุ่งแบบธรรมชาติ ที่ค่อย ๆ เพิ่มวันละเล็กน้อย น้ำค่อย ๆ ท่วม ค่อย ๆ ไหลผ่านทุ่งนาออกมาเป็นน้ำใส ๆ แต่น้ำท่วมทุ่งพิษณุโลก ณ วันนี้ มาเร็ว ท่วมเร็ว เป็นน้ำแดงขุ่น ๆ ที่ระบายมาจากแม่น้ำยม และคงต้องใช้แผนการบริหารน้ำอย่างนี้ต่อไปอีกนาน ไม่ว่าจะมีเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือไม่ก็ตาม