ข้าวเม่าพอกวัดหาดมูลกระบือ

งานประเพณีแข่งเรือชิงถ้วยพระราชทานประจำปี 2555 จังหวัดพิษณุโลก ณ ลำน้ำน่าน หน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก ปีนี้จัดอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 35 แล้ว นับแต่ปี พ.ศ.2521 เป็นต้นมา มีเว้นอยู่ปีเดียวเมื่อปี 2554 สถานการณ์น้ำท่วมสูง

 

ในปีนี้บรรยากาศการจัดงานประเพณีก็คล้าย ๆ กับทุกปี และที่อยู่คู่กันเลยกับงานแข่งเรือคือ การจำหน่ายข้าวเม่าพอก ของเจ้าประจำ วัดหาดมูลกระบือ อ.เมือง จ.พิจิตร งานแข่งเรือพิษณุโลกทุกปี ศรัทธาญาติโยม กรรมการวัด ชาวบ้านหาดมูลกระบือจะลงแรงแข็งขัน มาช่วยกันขายข้าวเม่าพอก

 

ปีที่แล้ว พิษณุโลกยกเลิกงานแข่งเรือ แต่ร้านข้าวเม่ามาทอดตั้งแล้วก็ทอดขายกันไปต่อ ส่วนปีนี้ คนก็เยอะพอควร ลูกค้าเก่าแก่ที่เฝ้ารอมาแวะอุดหนุนข้าวเม่าพอกเจ้าประจำกันตั้งแต่เช้า ยังขายในราคาไม่แพงเหมือนเดิม รายได้ไม่มากน้อยก็แค่หลักแสนเองครับ

ที่มาที่ไปของข้าวเม่าพอกวัดหาดมูลกระบือ ข้อมูลจากนสพ.คมชัดลึก ได้นำเสนอว่า ในระหว่างการจัดงานประเพณีแข่งขันเรือยาว ชิงถ้วยพระราชทานฯ ของ จ.พิจิตร สิ่งที่เคียงคู่กันมาของงานประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ คือ การจำหน่ายข้าวเม่าทอด ของชาวบ้านจากชุมชน วัดหาดมูลกระบือ ต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร นำโดยพระครูพิเชษฐ์ธรรมคุณ หรือ หลวงพ่อวิเชียร เจ้าอาวาสวัดหาดมูลกระบือ
ทั้งนี้ ชาวบ้านทั้งชุมชนจะจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำข้าวเม่า ซึ่งได้รับบริจาคจากชาวบ้าน อาทิ มะพร้าวนับหมื่นลูก กล้วยไข่ น้ำมันพืช น้ำตาล และอื่นๆ จัดเตรียมไว้ เมื่อถึงวันงาน จึงร่วมมือร่วมแรงกันจัดทำ ข้าวเม่าทอด เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว และผู้สนใจทั่วไป

จากนั้น ก็ไปทอดข้าวเม่าในงานประเพณีแข่งขันเรือยาว ชิงถ้วยพระราชทานฯ ที่วัดท่าหลวง ก่อนจะไปทอดที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่) จ.พิษณุโลกได้ลิ้มรสชาติข้าวเม่าทอดเป็นงานสุดท้ายของปี

บุญข้าวเม่าทอด ของวัดหาดมูลกระบือ จะจัดขึ้นประมาณ ๑ เดือน ทุกปีจะเริ่มในเดือนประมาณกลางเดือนสิงหาคมไปสิ้นสุดประมาณกลางเดือนกันยายน ในแต่ละวัน จะมีการตั้งกระทะทอดข้าวเม่าประมาณ ๕-๑๐ ใบ ขณะเดียวกันก็จะแบ่งชาวบ้านส่วนหนึ่งไปตั้งกระทะ ๕-๑๐ ไปทอดขายตามสนามแข่งเรือต่างๆ ของจังหวัด

แต่ถ้าเป็นในวันงานแข่งขันเรือยาวประเพณีของวัด คณะกรรมการวัดจะตั้งเตาทอดข้าวเม่าไว้กว่า ๕๐ ใบ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ และขอแรงคนเฒ่าคนแก่ และหนุ่มสาวทั้งหมู่บ้าน นับร้อยๆ คนมาทอดข้าวเม่าขาย จำนวนเตาทอดข้าวเม่ากว่า ๕๐ ใบ และทอดข้าวเม่าขายตั้งแต่ไก่โห่ ก่อนตะวันขึ้น จนไปถึงตะวันตกดิน หลายคนอาจจะคิดไปก่อนว่า จะทอดขายให้ใครกิน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ข้าวเม่าทอดออกมาสุกเกือบไม่ทันความต้องการของคนกิน ใครจะกินต้องซื้อกันทุกคน แม้กระทั่งคณะกรรมการของวัด ก็ต้องซื้อ

ในอดีตนั้น ต้องมีการเตรียมงานล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า ๔ เดือน คือ ต้องเริ่มจากปลูกข้าวเหนียว เพื่อให้ข้าวเหนียวสุกพอดีสำหรับต่ำข้าวเม่า โดยใช้ข้าวเปลือกประมาณ ๑ ตัน ชาวบ้านจะนัดกันมาตำข้าวเม่า ๓ วันพระ ต้องเตรียมงานล่วงหน้าเป็นเดือนเลยทีเดียว เมื่อถึงวันงาน ต้องใช้คนเป็นร้อย ส่วนใหญ่จะเป็นคนมีอายุ ที่เป็นคนหนุ่มสาวมีบ้างไม่กี่คน โดยแบ่งออกเป็นแผนกต่างๆ ตั้งแต่ปอกกล้วย ปอกมะพร้าว ขูดมะพร้าว คั้นน้ำกะทิ พอกข้าวเม่า ทอดเข้าเม่า ขายข้าวเม่า ทุกคนช่วยกันทำอย่างพร้อมใจตลอดเวลา

แต่ปัจจุบัน การปลูกข้าวเหนียวเอานำมาตำข้าวเม่านั้น ไม่ต้องแล้ว เพราะสามารถหาซื้อจากท้องถิ่นอื่นๆ ส่วนปัจจัยที่ได้จากการขายข้าวเม่าทอด ไม่ได้ไปไหน ล้วนมาใช้ในการจัดงานแข่งขันเรือยาว รวมทั้งพัฒนาและสร้างศาสนสถานภายในวัดทั้งหมด โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยจากการจัดสร้างวัตถุมงคล เหมือนวัดทั่วๆ ไปส่วนการจัดสร้างวัตถุมงคลนั้น เป็นเพียงส่วนประกอบ ทางวัดไม่ได้เน้นเหมือนวัดทั่วๆ ไป ทั้งนี้จะสร้างไว้แจกเป็นที่ระลึก สำหรับผู้ร่วมทำบุญเท่านั้น

“แรกเริ่มชาวบ้านก็มาช่วยก่อน ใครมีกล้วย ใครมีน้ำตาล ใครมีน้ำมัน ใครมีข้าวเม่า ก็เอามาช่วยคนละเล็กคนละน้อย ส่วนใครไม่มีอะไร ก็เอาแรงกายมาช่วย ตั้งแต่ตัดฟืน เตรียมเตา ตำข้าวเม่า เมื่อถึงวันงานก็มาช่วยกันทอด หลังจากนั้นไม่กี่ปี ข้าวเม่าทอดของวัดหาดมูลกระบือได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น วัตถุดิบทุกอย่างทางวัดจึงต้องซื้อเพิ่มขึ้น เริ่มซื้อจากชาวบ้านและตลาดใน จ.พิจิตรก่อน จากนั้นก็ต้องซื้อจาก จ.พิษณุโลก ปัจจุบันต้องสั่งซื้อกล้วยจากสวนใน จ.กำแพงเพชรโดยตรง แต่ละปีต้องซื้อกล้วยหลายคันรถบรรทุกสิบล้อ น่าจะใกล้เคียง ๑ แสน ใช้น้ำมันพืชประมาณ ๑๐๐ ปี๊บ ข้าวเหนียวประมาณ ๒๐ กระสอบ รวมทั้งน้ำตาลทรายอีกหลายสิบกระสอบ ส่วนเชื้อเพลิง จะเป็นไม้ฟืนทั้งที่วัดและชาวบ้านตัดมาให้” นี่เป็นจุดกำเนิดของบุญข้าวเม่าทอด วัดหาดมูลกระบือ จากคำบอกเล่าของหลวงพ่อวิเชียร

แสดงความคิดเห็น