เวลา 09.00 น.วันที่ 7 กันยายน 2555 ที่หอประชุมบึงราชนก องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานก่อสร้าง หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พิษณุโลก ระหว่าง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก
โดยผู้ร่วมลงนามประกอบด้วยรศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กับ นายสุรินทร์ ฐิติปุญญา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก และสักขีพยานอีก 4 ท่านได้แก่ นายนริศ ปิยพฤทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายสัญชัย ฐิติปุญญา รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นายประพนธ์ อิสสริยะกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ น.ส.จุลลดา ขาวสะอาด หัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และได้รับเกียรติจากนายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นประธานในพิธีลงนาม
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกยรีติฯภูมิภาค เป็นโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการเมื่อ 24 มีนาคม 2552 ให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ดำเนินการภายใต้งบประมาณทั้งสิ้น 460 ล้านบาท กำหนดสร้างทั้งหมดรวม 5 แห่ง และสถาบันฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อว่า หอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ต่อท้ายด้วยชื่อจังหวัดนั้น ๆ ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ฉะเชิงเทรา จ.สงขลา และพิษณุโลกจะดำเนินการก่อสร้างเป็นแห่งที่ 4
สำหรับหอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาพิษณุโลก ในงบประมาณปี 2556 จะเริ่มดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง และคาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2557 ด้วยวงเงินงบประมาณ 80 ล้านบาทตั้งอยู่ในสวนสาธารณะบึงราชนก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ภายในหอดูดาวประกอบด้วย อาคารหอดูดาว ที่มีกล้องโทรทัศน์หลัก เป็นกล้องโทรทัศน์สะท้อนแสงแบบ ริชชี-เครเทียน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เมตร บนฐานกล้องควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถค้นหาและติดตามวัตถุบนท้องฟ้าได้อย่างแม่นยำ มีขีดความสามารถสูง สามารถให้บริการดูดาและจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ให้แก่ประชาชน รวมทั้งรองรับการศึกษาวิจัยในระดับเบื้องต้น
ส่วนตัวอาคาร ครอบด้วยโดม ทำจากไฟเบอร์กลาสขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดได้ ซึ่งจะติดตั้งกล้องโทรทัศน์ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ใช้ในการบริการดูดาวและถ่ายภาพวัตถุบนท้องฟ้า กล้องถ่ายภาพซีซีดี เครื่องบันทึกสเปกตรัม นอกจากนี้ ยังมีอาคารนิทรรศการทางดาราศาสตร์ ที่มีโดมดาราศาสตร์ขนาดเล็ก หรือ ท้องฟ้าจำลอง สำหรับฉายดาว มีลานกิจกรรมเอนกประสงค์กลางแจ้ง ใช้ในการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง อาคารและอุปกรณ์เพื่อรองรับการจัดฝึกอบรม จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ รวมถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ที่เชื่อมโยงกับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ที่มีกล้องโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่สุด เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เมตร ผู้ที่มาชมหอดูดาวฯที่พิษณุโลก สามารถชมภาพดาวจากกล้องโทรทัศน์ที่ถ่ายภาพดาวบนดอยอินทนนท์ได้ด้วย