วันที่ 5 กันยายน 2555 ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ ริเวอร์ไซด์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก สถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดงานสัมมนาวิชาการ เข้าใจ เข้าถึงพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ( องค์การมหาชน ) นำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการบริหารจัดการการพัฒนาในหลายพื้นที่ ในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และมีการเสวนาข้อมูลกลไกที่จำเป็นต่อสถานการณ์อุทกภัย โดยดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ นายสำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน และนายบุญยิ่ง คุ้มสุพรรณ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ Gistda กล่าวว่า เหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 น้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นตัวอย่างของพื้นที่น้ำท่วมที่มีการใช้ข้อมูลสถานการณ์ภาพถ่ายดาวเทียมบริหารจัดการน้ำ เป็นปีแรกที่ประชาชนโดยทั่วไปเห็นมุมมองของน้ำจากภาพถ่ายดาวเทียม ทำให้ความรู้สึกของคนเปลี่ยนไปมาก เข้าถึงข้อมูลการบริหารจัดการน้ำได้อย่างใกล้ชิดมากกว่าอดีต ทำให้เห็นปริมาณน้ำที่ท่วมขังในทุ่ง ต่างจากอดีตที่เราจะเห็นเฉพาะภาพน้ำท่วมในล้นตลิ่งริมแม่น้ำ
ดร.อานนท์ เผยต่อว่า ภาพถ่ายดาวเทียมปี 2554 ทำให้ประเมินได้ว่ามีปริมาณน้ำทำไหร่ ควรระบายไปทางไหน เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2554 น้ำยังไม่เข้ากรุงเทพฯและปริมณฑลมากนัก เริ่มเข้าเต็มที่กลางเดือนตุลาคมและสูงสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน รวม 45 วัน ปริมาณน้ำเกือบ 4,000 ล้านลบ.ม. และหลังจากนั้นในระยะเวลา 15-20 วัน น้ำได้ระบายออกอย่างรวดเร็ว เป็นภาพให้เห็นว่าน้ำท่วมกรุงเทพฯเมื่อปี 2554 เป็นลักษณะที่น้ำท่วมช้าและลดลงเร็ว แสดงให้เห็นประสิทธิภาพการนะบายน้ำได้
ในปีนี้ เราจะจัดชุดโมบายยูนิต ทดลองออกให้บริการข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อให้ท้องถิ่น สามารถเข้าถึงข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือ การจัดการพื้นที่การเกษตร การใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงตรวจสอบจำนวนหลังคาเรือนที่ถูกน้ำท่วม เพื่อขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ที่ภาพถ่ายดาวเทียม มองเห็นภาพของทุกหลังคาเรือน การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในวงกว้าง ทำให้ประชาชนได้รับรู้ตำแหน่งของตนเอง ระยะทางที่เชื่อมโยงกับคนในจังหวัดใกล้เคียง เช่น ภาคเหนือตอนล่าง ที่ใช้การบริหารจัดการน้ำระหว่างลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม หรือในระดับเล็ก ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำภาพถ่ายดาวเทียมไปใช้ในการบริหารลุ่มน้ำสาขา ในระดับตำบล ศึกษาการไหลของน้ำ การจัดสร้างฝายชะลอน้ำ ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์จะช่วยบริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งได้
นายบุญยิ่ง คุ้มสุพรรณ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งของจังหวัดพิษณุโลกที่ใช่ชื่อบางระกำโมเดล เป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ทั้งขั้นตอนการป้องกันอย่างยั่งยืน ขั้นตอนการเตรียมพร้อม ขั้นตอนการรับมือขณะเกดภัยพิบัติและการฟื้นฟูเยียวยา อุทกภัยเมื่อปี 2554 พิษณุโลกมีน้ำท่วมทั้ง 9 อำเภอ 92 ตำบล 862 หมู่บ้าน เหลือตำบลในเมืองชั้นในแห่งเดียวที่ต่อสู้กั้นน้ำไม่ให้ท่วมได้ การนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำท่วม ตนมองว่า ต้องใช้ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานของคน ในบางข้อมูล มันสูงเกินไปที่บางหน่วยงานจะจับต้องได้ แต่ก้เชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยได้มากขึ้นในอนาคต เช่นปี 2554 เราใช้ภาพถ่ายทางอากาศของกองบิน 46 ในการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในเขตอ.บางระกำ
นายสำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน เปิดเผยว่า น่านประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ และเกิดถี่ขึ้น เนื่องจาการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ทางการเกษตรในเขตป่าต้นน้ำ มีการใช้เครื่องมือจักรกลในการปรับพื้นที่เปลี่ยนพื้นที่การเกษตร ปลูกไร่ข้าวโพด ยางพารา เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถช่วยเราในการติดตามสถานการณ์น้ำได้อย่างมาก เช่น การบอกระดับน้ำในแม่น้ำน่านตามสถานีวัดน้ำต่าง ๆ ของกรมชลประทาน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ควรจะมีสถานีวัดน้ำในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำน่านด้วย ส่วนการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมนั้น จะต้องมีการฝึกฝนผู้ปฏิบัติ หรือ เจ้าหน้าที่ประจำตำบล ที่ต้องถูกฝึกให้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารข้อมูล น้ำท่วม ภัยแล้ง ถ้านำภาพถ่ายดาวเทียมมาประยุกต์ใช้ด้วยก็จะเกิดประโยชน์อย่างมาก