อบรมครูยางถ่ายทอดความรู้ให้ชาวสวน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 กรกฎาคม 2555 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เป็นประธานเปิดการประชุมครูยาง สกย. ประจำปี 2555 รุ่นที่ 3  ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ( สกย.) ที่โรงแรมท็อปแลนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยมีครูยางจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 19 จังหวัด เข้าร่วมการประชุมจำนวนกว่า 600 คน  เพื่อเพิ่มความรู้ประสบการณ์ให้แก่ครูยางเพื่อเป็นผู้ดูแลช่วยเหลือ สกย. นำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 1,200,000 คน

ทั้งนี้ทาง สกย.ได้มีเป้าหมายคัดเลือกผู้มีจิตอาสา เพื่อเป็นครูยาง 1 คน เพื่อดูแลเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 100 คน   ตั้งเป้าจะมีครูยาวจำนวน 12,000 คน ในระยะเวลา 5 ปี   โดยเริ่มจากปี 53 จำนวน 1,200 คน ปี 54จำนวน 2,880 คน ปี 55 จำนวน 2,880 คน และในปีหน้า ปี56 อีกจำนวน 5,040 คน  ซึ่งครูยางดังกล่าวจะสามารถดูแลเกษตรกรได้ครอบคลุมทั่วถึง เป็นผลดีต่อการพัฒนาประสิทธิภาพยางพาราและเกษตรกรในอนาคต

 

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากตลาดส่งออกยางพารา ได้รับผลกระทบส่งผลให้ราคาตกต่ำ  โดยเฉพาะจากการชะลอตัววิกฤตเศรษฐกิจในประเทศจีน  ทางรัฐบาลจึงได้อนุมัติวงเงิน 10,000 ล้านบาท แทรกแซงราคายางพารา ที่กำลังตกต่ำ  โดยรับซื้อยางพาราดิบจะอยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 104 บาทต่อกิโลกรัม  ซึ่งมีเป้าหมายรับซื้อยางได้ในปริมาณรวม 200,000 ตันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ได้ใช้เงินตามโครงการแล้ว30 % ของงบประมาณ  

 

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการให้มีราคาตามนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะรับซื้อยางในราคากิโลกรัมละ 120 บาทในทันที ทั้งนี้ คิดว่าพื้นฐานราคาอยู่ที่ 95-100 บาท แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีเป้าหมายและพยายามจะทำให้ราคายางกิโลกรัมละ 120 บาท  แต่การขึ้นราคาจะค่อยเป็นค่อนไป โดยล่าสุดวันนี้ราคายางพาราขยับเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานแล้ว กิโลกรัมละ 1 บาท เป็นความหวังให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา

 

ส่วน ร่าง พ.ร.บ.การยาง ได้มีการเสนอเข้า ครม.รัฐบาลผ่านความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ ในปี 2556 นี้อย่างแน่นอน   ส่วนเรื่องการเปิดประตูสู่เศรษฐกิจอาเซียน AEC  ทางกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ได้มีการปรับยุทธศาสตร์การผลิตให้เป็นไปตามกฎหมาย การเตรียมความพร้อมเกษตรกร และมองด้านการตลาด เป็นการฉวยโอกาสเพื่อทำรายได้จากการก้าวสู่AEC  การค้าเสรีในอนาคตแล้ว

แสดงความคิดเห็น