ครบรอบ 10 ปี สภาอุตสาหกรรมพิษณุโลก

 

ในวันที่ 23 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสถาปนาการก่อตั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก สำหรับปี 2555 นี้ ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลกจัดงานขึ้น  ในค่ำวันที่  20 กรกฎาคม  55 ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมท๊อปแลนด์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก และปีนี้ยังเป็นพิเศษ เพราะเป็นวันสถาปนาครบรอบ 10 ปี หรือ 1 ทศวรรษ ของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลกด้วย   เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนบนและสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่างได้มาร่วมงานอย่างคึกคัก

 

สิงห์ พงษ์สุทธิ์ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลกคนแรก

สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก เป็นองค์กรภาคเอกชนองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทต่อการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติ  โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม SMEs มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการพัฒนา  และให้ความรู้สถานประกกอบการบุคลากรการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  ของภาคอุตสาหกรรม การให้ข้อมูลข่าวสาร การช่วยเหลือด้านสาธารณะประโยชน์รวมทั้งการมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัด

 

สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2545  โดยการผลักดันของกลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรมและนักธุรกิจของจังหวัดพิษณุโลก  รวมตัวกัน 48 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากท่าน ดร.สุชน  ชามพูนท สส.จ.พิษณุโลก นายวิจารณ์ ไชยนันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก สมัยนั้นมอบให้ นายสิงห์   พงษ์สุทธิ์   เป็นผู้ดำเนินการก่อตั้ง พร้อมคณะประกอบด้วย ดร.สมชัย หยกอุบล นายสุทธี แท่นนพรัตน์  นายฐิติ วิศวชัยวัฒน์ และนายวิเศษ วชิราศรีศิริกุล  โดยทางคณะให้นายสิงห์ พงษ์สุทธิ์ เป็นประธานผู้ก่อตั้ง สำเร็จในวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 และจัดงานสถาปนาในวันดังกล่าว

นายวันชัย จิตตมานนท์กุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลกคนที่ 2

 

กิจกรรมสมัยเริ่มแรกของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก เน้นบทบาทและหน้าที่ของสภาอุตสาหกรรมเป็นหลัก เข้าร่วมกำหนดนโยบาย วางแผนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจังหวัด  เป็นตัวแทนภาคเอกชนในการนำเสนอข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ ด้านอุตสาหกรรมต่อภาครัฐ ผ่านขบวนการ กรอ.จังหวัด สร้างสริมพัฒนาเศรษฐกิจอุสาหกรรม เสนอแนะแก่ภาครัฐในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ  และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิก นอกจากนี้บาทบาทสำคัญของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดในสมัยการบริหาร นายสิงห์ พงษ์สุทธิ์ คือ ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 3 ของภาคเอกชนทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและผลักดันให้เกิดการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน และเป็นคณะกรรมการสำคัญ ๆ ระดับจังหวัดและส่วนกลางกว่า20 คณะกรรมการ ถือว่าเป็นรากฐานอันสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของจังหวัดพิษณุโลก

 

ต่อมาในปี 2549  นายวันชัย  จิตตมานนท์กุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก สมัยที่ 2 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูเชิดชูอุตสาหกรรมของจังหวัดพิษณุโลกอย่างแท้จริง เพราะสาธารณชนทั่วไปรู้จักและเข้าใจบทบาทของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอย่างกว้างขวาง ทั้งภายในจังหวัดพิษณุโลก ส่วนกลางและจังหวัดต่างๆ ด้วยกิจกรรมโดดเด่น อาทิ ทำเรื่องขอใช้สำนักงานถาวรของสภาอุตสาหกรรม ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 การศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศทุกปีเพื่อนำความรู้มาต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรม  ของมวลสมาชิก  การจัดอบรมสัมมนา จักโครงการเชื่อมโยงธุรกิจ  โดยเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมของสมาชิก  พัฒนากลุ่มโรงหล่อโลหะ ผลักดันและส่งเสริมให้จังหวัดพิษณุโลกเป้นศูนย์กลางยางพารา ผลักดันการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยาง และให้เป็นตลาดกลางค้ายางในภูมิภาค  มีการเชื่อมโยงทำการค้ากับต่างประเทศ เช่น จีน พม่า และลาว ฯลฯ

 

สุรจิต วงศ์กังแห ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลกคนปัจจุบัน 2555

สู่ยุคที่ 3 ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน เป็นการนำของ นาย สุรจิต วงศ์กังแห  ประธานสภาอุตสาหกรรม ที่มีเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็ง เป็นแรงขับเคลื่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ถือเป็นนโยบายหลัก ในการสร้างการพัฒนาบุคลากร ในองค์กร และสถานประกอบการให้สามารถ แข่งขันกับนานาประเทศได้  พยายามพัฒนาธุรกิจเข้าสู่ความเป็นสากล   ยุคนี้จึงต้องสร้างองค์ความรู้แก้มวลสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นสำคัญ เสริมสร้างโอกาส โดยมีสภาอุตสาหกรรมเป็นแกนนำหลักในการพัฒนา ประสานกับหน่วยงานราชการหลัก เช่นศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน  สถานศึกษา ทั้งวิทยาลัยอาชีวะ และมหาวิทยาลัยในจังหวัด มาทำข้อตกลงร่วมมือหาวิธีการพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม   

 

นายสุรจิต  กล่าวว่า ปัจจุบันตนมองแนวโน้มการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในด้านการค้าการลงทุนเพื่อให้สอดรับกับการเป็นสี่แยกอินโดจีนของกลุ่มจังหวัด โดยเสนอแนวความคิดเบื้องต้นให้มีการกำหนดเขตพื้นที่อุตสาหกรรมของจังหวัดให้เป็นรูปธรรม (จัดโซนอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ) เน้นส่งเสริมการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเป็นหลัก และข้อสำคัญได้ผลักดันการกำหนดประเภทอุตสาหกรรม เพื่อให้ง่ายต่อการของอนุญาตการตั้งโรงงานในพื้นที่ของจังหวัด  และโครงการรีบด่วนคือการสร้างความตระหนักให้กับผู้ประกอบการเพื่อรองรับการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 การเตรียมพร้อมรับและรุกของกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs  โดยมีแนวคิดส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของจังหวัดเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน  อาทิ  สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา ตลอดจนพม่า เป็นต้น เพราะจะทำให้เรามีรากฐานหรือศักยภาพของตัวสินค้าติดตลาด และเป็นที่น้าเชื่อถือของประเทศนั้น ๆ  ลำพงใช้วิธีการส่งเสริมสินค้าอย่างเดียวคงจะลำบากในอนาคต เพราะจะมีการแข่งขันสูงขึ้นทั้ง ราคา คุณภาพ เทคโนโลยี จะเป็นเครื่องชี้นำในการตัดสินใจเลือกของผู้บริโภค ถ้าเชื่อมโยงวางเครือข่ายจะเป็นช่องทางหนึ่งทำให้สินค้าเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างดี

 

หนึ่งทศวรรษ หรือ 10 ปี ของการมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ฝากการบ้านให้ผู้ประกอบการยุคนี้ว่า จะต้องมีหัวใจเป็นผู้ใฝ่ความรู้   รู้และเข้าใจธุรกิจที่เราทำอย่างแท้จริง รู้ให้ทันโลก รู้การเปลี่ยนแปลง รู้เทคโนโลยี รู้นวตกรรม และรู้การนำไปประยุกต์ใช้  เพื่อความอยู่รอดเมื่อต้องก้าวสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC  ในปี 2558 นี้

 

กรรณิการ์  แกล้วกสิกิจ/รายงาน

แสดงความคิดเห็น