นักการเมืองพิด’โลกฮิตหาเสียงบนโลกออนไลน์

สื่อบนโลกออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในสนามการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดพิษณุโลกมากขึ้น โดยเฉพาะเฟซบุ๊ค โซเชียลมีเดีย ที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันหนึ่งของไทย ในสนามเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก วันที่ 6 กรกฏาคมที่ผ่านมา สื่อโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊คได้ทะลุทะลวงกำแพงกั้นการเสียงแบบเดิม ๆ เป็นสื่อที่ใช้บอกต่อบนโลกออนไลน์ เข้าถึงกลุ่มเครือข่ายเพื่อนฝูง และสามารถกระจายข่าวสารได้ในเวลาอันรวดเร็ว

 

การหาเสียงของนักการเมืองในอดีต ย้อนหลังไปประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองได้ใช้รูปแบบและวิธีการหาเสียงในรูปแบบเดิม ๆ เหมือนที่เคยทำกันมาในระยะเวลาหลายสิบปีที่แล้ว ได้แก่ การติดตั้งป้ายหาเสียง ใช้รถแห่ออกประกาศหาเสียงในชุมชน การเดินลงพื้นที่หาเสียงแบบเคาะประตูบ้าน แจกใบปลิว แผ่นพับบอกเบอร์ นโยบายผู้สมัคร  เปิดเวทีปราศรัยหาเสียง แต่เมื่อเทคโนโลยีทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงและสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ง่ายและกว้างขวางขึ้น การหาเสียงผ่านสื่อออนไลน์ นักการเมืองจึงเริ่มนิยมมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว

 

อดีตไม่กี่ปีคงพอจำกันได้ สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีช่วงเดินทางออกไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ หลังเกิดการรัฐประหาร พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักการเมืองระดับชาติที่เริ่มบอกเสียง กล่าวแจ้งวัตถุประสงค์ของตนผ่านโซเชียลมีเดีย  ทวีตเตอร์ ขณะที่การหาเสียงระดับชาติ ส.ส.หลายคนก็นิยมหาเสียง บอกนโยบายของตนผ่านเฟซบุ๊ค โซเซียลมีเดียที่ดีรับความนิยมมากที่สุด กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังใช้เฟซบุ๊คโต้ตอบทางการเมืองระหว่างนายพานทองแท้  ชินวัตร กับส.ส.ประชาธิปัตย์

 

สำหรับสนามการเมืองท้องถิ่นในระดับจังหวัดพิษณุโลกนั้น นักการเมืองหลายคนได้ใช้เฟซบุ๊ค เป็นช่องทางหาเสียง บอกเล่านโยบาย ลงภาพกิจกรรมของตนเอง อาทิ นพ.วรงค์  เดชกิจวิกรม ส.ส.ประชาธิปัตย์พิษณุโลก แต่ที่ปรากฏบ่อยที่สุดคือ นางเปรมฤดี   ชามพูนท อดีตนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ที่ใช้เฟซบุ๊คหาเสียง และบอกเล่ากิจกรรมของตนเองมาทุกช่วง เป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุดในพิษณุโลก ตั้งแต่การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกเมื่อมิถุนายน 2554 และเลือกนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก 6 กรกฏาคม 2555 และถือว่า โซเซียลมีเดียที่เปรมฤดี   ชามพูนท ใช้ผ่านเครือข่ายเฟซบุ๊กนั้น ก็มีผลไม่น้อยต่อการใช้เครือข่ายเพื่อน บอกต่อ ๆ แชร์ภาพ ข้อความ ในช่วงวินาทีสุดท้าย หลังถูกกกต.กลางถอนสิทธิ์ผู้สมัคร 1 วันก่อนวันลงคะแนนเสียง เปรมฤดี   ชามพูนท ได้อาศัยเฟซบุ๊คของตน และเฟซบุ๊คของเครือข่ายคณะลูกนเรศวร กระขายข่าวสารให้ผู้สนับสนุน หันมาเทคะแนนให้บุญทรง  แทนธานี ผู้สมัครหมายเลข 7 แทน

 

ขณะที่ธวัชชัย  กันนะพันธุ์ ผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เองก็ใช้โซเซียลมีเดียในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้มากขึ้นเช่นกัน ได้อัพเดทภาพกิจกรรม นโยบายในการหาเสียงครั้งนี้ ผ่านเฟซบุ๊ค และเป็นฝ่ายที่แม่นในข้อกฎหมาย ได้ปิดการใช้เฟซบุ๊คของตนเอง ในช่วงเวลา 17.00 น.ของวันที่ 5 กรกฏาคม ก่อนการลงคะแนนเสียง 1 วัน และล่าสุด ได้กลับมาใช้เครือข่ายเฟซบุ๊คในการสานต่อกิจกรรมกับเครือข่ายแฟน ๆ ผู้สนับสนุน

 

ช่วงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกเมื่อ 6 กรกฏาคม 2555 เห็นชัดว่า โซเซียลมีเดีย เครือข่ายเฟซบุ๊ค มีผลต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชนอย่างมาก ได้กระจายผลการคะแนนเลือกตั้ง ออกมาเป็นช่วง ๆ ที่เห็นผลชัดว่ารวดเร็ว ทันเหตุการณ์ สามารถอัพเดทได้ตลอด และกระจายได้กว้าง ด้วยความสะดวกของการใช้งาน ที่อยู่โทรศัพท์มือถือทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่บนหน้าจอโน้ตบุ๊ค หรือ จอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ทำให้มีการส่งต่อ หรือ แชร์ผลคะแนน แชร์ภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

สำหรับสนามเลือกตั้งนายกอบจ.พิษณุโลก ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2555 นี้ นักการเมืองหน้าเก่าหน้าใหม่เริ่มเปิดตัวหาเสียงกันแล้ว กำนันนก มนต์ชัย  วิวัฒน์ธนาฒย์ อดีตส.ส.พิษณุโลก 2 สมัย ที่ประกาศตัวลงสมัครนายกอบจ.พิษณุโลกรอบนี้ ก็ได้ใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ค ในการเปิดแนะนำตัวเอง แสดงรูปภาพ ประวัติผลงาน และกิจกรรมที่เดินหาเสียงตามอำเภอต่าง ๆ ของตนเองผ่านเฟซบุ๊คมนต์ชัย  วิวัฒธนาตย์

 

หรือสนามที่คาดว่าจะมีเลือกตั้งเร็ว ๆ นี้ ก่อนเลือกตั้งนายกอบจ.พิษณุโลก นั่นคือ การเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลเมืองอรัญญิก อ.เมือง จ.พิษณุโลก นรินทร์  วัฒนกุลชัย อดีตนายกอบต.อรัญญิก ก็เริ่มเปิดตัวหาเสียงตนเองที่จะลงสมัครในตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอรัญญิก ก็เริ่มปูพรหมหาเสียงติดป้ายประชาสัมพันธ์ เดินเคาะประตูบ้าน และหาเสียงบนโลกออนไลน์ผ่านเครือข่ายเฟซบุ๊คเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม การหาเสียงบนโลกออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย คณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีความเป็นห่วงมิใช่น้อย เนื่องจากอาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง นั่นคือ กระทำการหาเสียงหลังเวลา 18.00 น.ก่อนวันลงคะแนนเสียง 1 วัน ในเรื่องนี้  นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยกับ สำนักข่าวไทย ถึงการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผ่านอินเทอร์เน็ต และเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ว่า ตามกฎหมายการเลือกตั้งมาตรา 58 ระบุว่า

ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง 1วัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง” จึงเตือนการแสดงความเห็นต่างๆ ผ่านสื่อดังกล่าว ให้ระมัดระวังไม่ให้ทำผิดกฎหมาย

เพราะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ โดย กกต. ยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้นการแสดงความเห็น แต่กฎหมายกำหนดการกระทำต้องห้ามไว้ ตามที่ระบุรายละเอียดข้างต้น ซึ่งหมายถึง ช่วงเวลา 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้งเป็นต้นไป ถึงเวลา 24.00 น. ของวันเลือกตั้ง เป็นเวลาต้องห้าม ดังกล่าว

 

สำหรับการใช้สื่อออนไลน์จากต่างประเทศ ซึ่งมีเวลาต่างจากไทยให้นับองค์ประกอบเวลาในประเทศไทยเป็นหลัก โดย กกต. ได้ร่วมประชุมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ออกหนังสือขอความร่วมมือเว็บโฮสติ้งต่างๆ ให้ลงข้อความเตือนประชาชนที่จะเข้าไปแสดงความเห็นในอินเทอร์เน็ตโดยขณะนี้มี 925 เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการเมือง ไม่เกี่ยวกับ เว็บไซต์ สังคมออนไลน์ของต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ซึ่งได้ใช้สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้ใช้เข้าใจกฎหมายเลือกตั้ง

นายสุทธิพล กล่าวว่า การเผยแพร่ข้อความประชาสัมพันธ์ พรรคการเมือง นักการเมือง ซ้ำจากข้อความเดิมที่เคยประกาศไว้แล้วบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ใช้หลักเกณฑ์ เช่นเดียวกับป้ายหาเสียง ที่ตั้งไว้ก่อน และไม่ได้มาเก็บให้หมด ก่อน 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน กกต.ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้งเพราะเคยตั้งป้ายไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่หากมาทำป้ายซ้ำวางหลัง 18.00 น. ถือว่าผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับการนำข้อความประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ที่ทำก่อนหน้านี้มาทำซ้ำช่วงเวลาต้องห้าม ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง

 

หมายเหตุ….ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ค

 

 

แสดงความคิดเห็น